กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
นับเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันแล้วกับ โครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” จัดโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนในสถาบันอุดมศึกษาไม่จำกัดคณะ ชั้นปี และจำนวนสมาชิก ได้ร่วมกันสำรวจปัญหาและความต้องการของชุมชนรอบรั้วสถาบัน ก่อนใช้ความรู้ ความสามารถ และทักษะที่ร่ำเรียนมาเข้าแก้ไขปัญหา —พัฒนาชุมชนจนสำเร็จลุล่วงตามแนวทาง “มหาวิทยาลัยรับใช้ชุมชน” ดังที่สังคมใฝ่ฝัน โดยได้คัดเลือก 20 ทีมสุดท้ายจาก 281 ทีมทั่วประเทศผ่านเข้ารอบ
ตัวอย่างโครงการที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 20 ทีม เช่น โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรปูม้า มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี โครงการบ้านปลา มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ โครงการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนแบบมีส่วนร่วม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง และ โครงการไก่ดำ สู้ภัยเศรษฐกิจ วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน เป็นต้น โดยก่อนที่เยาวชนจะได้ลงพื้นที่ทำโครงการกับชุมชน เยาวชนยังได้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายเตรียมความพร้อม จัดโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 21-23 สิงหาคมที่ผ่านมา
นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดค่ายเตรียมความพร้อมครั้งนี้ว่า เพื่อให้เยาวชนได้รับการเสริมทักษะการวางแผน การออกแบบและวิเคราะห์โครงการ ตลอดจนการจัดทำดัชนีชี้วัดความสำเร็จ เพื่อนำไปปรับปรุงโครงการให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นเยาวชนยังได้รู้จักวิธีการวางตัว วิธีเข้าชุมชน รวมถึงทำความรู้จักสร้างความคุ้นเคยกับเครือข่ายเพื่อนใหม่ผ่านกิจกรรมสันทนาการเพื่อลดความตึงเครียดจากการแข่งขัน โดยมี สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และ ลุงรินทร์ “สุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์” ปราชญ์ชาวบ้านผู้มากประสบการณ์ด้านการพัฒนาชุมชน สนับสนุนการจัดกระบวนการเรียนรู้
ผลของกิจกรรมค่ายเสริมศักยภาพนี้ทำให้เยาวชนมีความมั่นใจในการทำงานร่วมกันกับชุมชนมากขึ้น ขณะเดียวกันยังได้มิตรภาพจากเพื่อนใหม่ ทั้งที่มาจากภูมิภาคเดียวกันและจากต่างภูมิภาค นางสาวปารมี หมั่นสู้ หรือ นีนี่ นักศึกษาเอกนิเทศศาสตร์ ชั้นปี 3 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บอกว่า การออกค่ายครั้งนี้ทำให้เธอได้รู้จักเพื่อนต่างสถาบัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แม้มองในแง่หนึ่งต่างกำลังอยู่ระหว่างการแข่งขัน แต่เธอและเพื่อนๆ กลับไม่คิดว่าเป็นการแข่งขัน ในทางตรงข้ามกลับเห็นนักศึกษาจากสถาบันอื่นเป็นเพื่อนร่วมฝัน โดยตลอด 3 เดือนต่อจากนี้ ต่างจะได้ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่ประเทศไทยที่เราอาศัยอยู่
“ทีมของเราอยากทำโครงการให้สำเร็จอย่างที่เราวางไว้ คือทำให้งานศิลปะจากของเหลือทิ้งอย่างเศษกะลาเป็นที่รู้จัก เสริมรายได้ให้ชุมชน ช่วยให้คนที่หลงผิดติดยาเสพติดในชุมชนได้มีพื้นที่ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ จะได้ห่างไกลจากยาเสพติด ส่วนที่โครงการของเราจะได้รางวัลหรือไม่ เราไม่ได้คาดหวังถึงตรงนั้น ขอแค่ได้ทำในสิ่งที่เราต้องการ ถ้าได้รางวัลด้วยก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้ เป็นกำลังใจให้กับพวกเราทำงานต่อไป” นีนี่กล่าวใบหน้ายิ้มแย้ม ซึ่งโครงการแก่นกะลา สู่ว่าวฟ้า พวกเธอหวังว่าจะเป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่งานหัตถกรรมจากกะลามะพร้าวให้คงอยู่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านป่าหลวง ตำบลยามู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ไม่ให้สูญหาย
ส่วน นายวิชัย ลาดบัวขาว หรือ อาอี๋ นิสิตชั้นปี 4 คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ผู้จัดทำ โครงการสัตวแพทย์อาสา พัฒนาอาชีพพอเพียง ซึ่งนิสิตจะเข้าให้ความรู้เกี่ยวกับอาชีพการเลี้ยงสัตว์ที่ถูกต้องแก่ชาวบ้าน เพื่อให้มีความรู้และทักษะการเลี้ยงสัตว์ขั้นพื้นฐาน ช่วยลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ได้พูดถึงกิจกรรมในค่ายที่เขาประทับใจว่า “ผมชอบกิจกรรมธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่พี่ๆ วิทยากรได้นำมาให้ทำ ทำให้ได้รู้จักบุคลิกลักษณะและนิสัยใจคอของตัวเองและเพื่อนๆ ที่เปรียบได้กับธาตุทั้ง 4ซึ่งต่างจะมีลักษณะที่เป็นข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน ทำให้เราต้องปรับตัว และนำข้อดีของตัวเราและของเพื่อนมาปรับใช้ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรบุคคลในทีมอย่างคุ้มค่ามากที่สุด”
อาอี๋บอกด้วยว่า เขายังจะได้เก็บกระบวนการทำสันทนาการละลายพฤติกรรมไปใช้กับชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยทำมาก่อน แม้จะเป็นนักกิจกรรมที่ทำกิจกรรมจิตอาสากับชุมชนตลอดหลายปีในรั้วมหาวิทยาลัย โดยมองภาพตัวเองหลังโครงการสิ้นสุดว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการดำเนินโครงการจะทำให้เขาเป็นบัณฑิตที่มีใจอาสา พร้อมนำความรู้ความสามารถออกไปรับใช้สังคม เพื่อนำประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่การออกมาทำงานจิตอาสาเพราะหวังได้รับสิ่งตอบแทน ซึ่งเป็นจิตอาสาที่ผิด
ด้าน นางสาวกนกพรรณ จิตทองหลาง หรือ แคท นักศึกษาชั้นปี 4 คณะสาธารณสุขศาสตร์ วิทยาลัยนครราชสีมา วิทยาคารกรุงเทพฯ จาก โครงการชุมชนซอยโซดาร่วมใจ สร้างถังดักไขมัน ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อรวบรวมพลังชุมชนแก้ปัญหาน้ำเสีย บอกว่า รู้สึกขอบคุณสำหรับโอกาสดีๆ ที่ได้รับจากโครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ตลอดทั้งทักษะและความรู้อีกมากมายที่ได้รับจากค่ายเตรียมความพร้อม ทำให้ทราบว่าตัวเองยังมีประสบการณ์ไม่เพียงพอกับการนำไปใช้จริงในชุมชน จึงไม่ประมาท และต้องใช้ความพยายามให้มากขึ้น “ความรู้ใหม่ที่ได้รับจากโครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” เปิดโอกาสให้ทุกคนที่มีความสามารถสามารถที่จะมีความฝัน มีอุดมการณ์ที่แนวแน่เพื่อร่วมมือร่วมใจกันสานฝันของตน และเพื่อพัฒนาชุมชน สังคม ตลอดจนประเทศชาติของเราให้เจริญก้าวหน้า ไม่แพ้ชาติไหนๆ”
ขณะที่เสียงตอบรับจากอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ อาจารย์น่านฟ้า จันทพรม จาก โครงการอาข่าร่วมใจพัฒนาต้นน้ำ ด้วยวิธีธรรมชาติบำบัด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ซึ่งเยาวชนจะได้ใช้ความรู้และทักษะดึงการมีส่วนร่วมของชุมชนช่วยกันฟื้นคืนความใสสะอาดให้กับต้นน้ำสายสำคัญของอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ตัวเขาเองในฐานะศิษย์เก่าและนักกิจกรรมตัวยงของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จะใช้โอกาสนี้สนับสนุนเยาวชนทำโครงการอย่างเต็มที่ ทั้งนี้โดยไม่เป็นการชี้นำ แต่ให้คำปรึกษาแนะนำเท่าที่จำเป็น เพื่อให้นักศึกษาได้คิดและทำเพื่อส่วนรวมด้วยตัวเอง นอกจากนั้น อาจารย์น่านฟ้ายังได้ย้ำกับนักศึกษาเสมอๆ ว่า “เกิดเป็นคนแล้วจะต้องช่วยคน” โดยตลอด 2 วัน 2 คืน ที่นักศึกษา และคณาจารย์ได้ทำความรู้จัก แบ่งปันประสบการณ์ และได้รับความรู้กลับไปจะเป็นประโยชน์ต่อโครงการของทุกๆ สถาบัน โดยเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น รู้จักการทำงานเพื่อผู้อื่น เกิดความเชื่อมั่นที่จะสร้างสรรค์โครงการเพื่อชุมชน ที่สำคัญคือทำไปโดยจิตอาสา ไม่หวังลาภ ยศ สรรเสริญ หรือแม้แต่รางวัลตอบแทน
เช่นกันกับ อาจารย์เมษา อุทัยรัตน์ ที่ปรึกษา โครงการค่ายการแสดงสำหรับนักเรียนพิการทางการได้ยิน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งโครงการต้องการนำการแสดงละครเวทีเป็นสื่อกลางเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้พิการทางการได้ยินและผู้ที่มีร่างกายปกติ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนโรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดขอนแก่น บอกว่า การให้นิสิตได้ทำโครงการพัฒนาชุมชนซึ่งต้องมีการพบปะและสื่อสารเรื่องราวกับผู้คนจำนวนมาก เช่น การนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทำให้นิสิตได้ฝึกฝนความกล้าแสดงออก มีความมั่นใจ เมื่อดำเนินโครงการแล้วก็เกิดความภาคภูมิใจอยากทำสิ่งดีๆ มากขึ้น “ส่วนการเข้าค่ายครั้งนี้ก็ทำให้นิสิตได้มีความชัดเจนในตัวโครงการมากขึ้นทั้งเป้าหมายที่วางไว้ กิจกรรมที่จะดำเนินการ รวมไปถึงตัวชี้วัดผลสำเร็จ โดยการจัดประกวดโครงการในลักษณะนี้ยังทำให้เยาวชนเกิดความกระตือรือร้น กระตุ้นให้พวกเขาเปิดตัว เปิดใจ อยากเรียนรู้มากกว่าปกติ”
โดยหลังจากนี้อีกราว 3 เดือน โครงการสร้างสรรค์ชุมชนของน้องๆ ทั้ง 20 ทีมก็จะมีความก้าวหน้ามากขึ้น เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการในวันที่ 22-23 ธันวาคม 2552 ก่อนจะคัดเลือก 3 ทีมสุดท้ายเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจะมีการตัดสินในวันที่ 23 มกราคมของปีถัดไป ผู้สนใจสามารถลุ้นและเป็นกำลังใจให้กับพลังสร้างสรรค์ของพวกเขา โดยติดตามได้ที่ www.scbchallenge.com และที่เว็บบล็อกสีขาวเชื่อมเครือข่ายพลังเยาวชน www.okkid.net
ติดต่อฝ่ายสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล สมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์ 086-547-2884 หรือติดตามข่าวสารอื่นๆ ที่ www.scbfoundation.com