มจธ. ขับเคลื่อนผลงานการวิจัยเชิงพาณิชย์ BFex สู่ตลาด พร้อมจัดสัมมนาครั้งยิ่งใหญ่

ข่าวทั่วไป Thursday August 27, 2009 10:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต สำนักงานเทคโนโลยี SMEs มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดงานมอบสิทธิการผลิตผลิตภัณฑ์ฟรุคโตสสกัดชนิดเข้มข้นจากกล้วย (Concentrate Banana Fructose Extract) โดยใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ BFex ในเชิงพาณิชย์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมทั้งจัดการสัมมนาครั้งใหญ่ เรื่อง “ปัจจัยความสำเร็จของการทำตลาดผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์” ในช่วงเช้าและ การบรรยาย “การรังสรรค์ผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยพัฒนา (Creativity for Product’s Development)” เพื่อเผยแพร่ประสบการณ์ในการสร้างงานวิจัยพัฒนาออกสู่เชิงพาณิชย์ และประชาสัมพันธ์ผลงานของหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (UBI) เครือข่ายภาคกลางตอนล่างทั้ง 10 แห่ง ณ ชั้นล่าง อาคารสัมมนา มจธ. รศ.ดร. นพดล เจียมสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเทคโนโลยี SMEs มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท บีเนเชอรัล จำกัด เปิดเผยถึงสาเหตุที่ บริษัท บีเนเชอรัล จำกัด ได้รับมอบสิทธิเทคโนโลยีในการผลิต BFex ในครั้งนี้ว่า “การวิจัยผลิตภัณฑ์ฟรุคโตสสกัดชนิดเข้มข้นจากกล้วย (Concentrate Banana Fructose Extract : BFex) เป็นการสร้างนวัตกรรมเพื่อที่จะสามารถแข่งขันได้ในโลกของเทคโนโลยี และพัฒนาไปสู่ความโดดเด่นทางด้านอาหารเฉพาะทางโดยเฉพาะที่มาจากวัตถุดิบทางการเกษตรของไทย เช่น กล้วย ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาที่เริ่มดำเนินการในปี 2545 และ จดสิทธิบัตรในนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีในปี 2546 นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต่อเนื่องจากกล้วย เข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์สารเสริมอาหารเฉพาะทาง ที่เน้นระบบทางเดินอาหาร ในกลุ่มที่เรียกว่า Resistant Starch type 3 ซึ่งคาดว่าจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อโภชนาการของคนทำงานยุคใหม่” ปัจจัยความสำเร็จของผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ประกอบด้วย เทคโนโลยีและความเป็นนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์เป็นอันดับแรก แต่ต้องมีความสามารถของผู้ทำการตลาดมาเป็นปัจจัยเสริม และมีการสนับสนุนทางด้านการเงิน การลงทุน และการวิจัยอย่างไม่หยุดยั้ง นอกจากนี้ รศ.ดร นพดล เจียมสวัสดิ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงการนำเครือข่ายหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (UBI) อีกไม่น้อยกว่า 6 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น มาร่วมสนับสนุนการดำเนินงานในโครงการอื่น ๆ อาทิ โครงการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยการจัดตั้งโครงการศูนย์บ่มเพาะเพื่อการลงทุน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการต่อยอดงานวิจัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม เหล่านี้นับเป็นกิจกรรมที่จะสามารถกระตุ้นให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงการดำเนินงานในลักษณะเครือข่าย และเสริมสร้างความร่วมมือเชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานหรือองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ทางด้านงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นกลไกที่สร้างความเชื่อมโยงระหว่าง ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับและเสริมสร้างความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ให้เกิดความเข้มแข็ง อันเป็นผลดีต่อทุกอุตสาหกรรมในภาพรวมในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป รศ.ดร นพดล กล่าวในที่สุด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2631 2290-5 บริษัท นิโอ ทาร์เก็ต จำกัด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ