WHO ชี้ปอดบวมในเด็กอันตราย ทุกๆ 15 วินาทีคร่าชีวิตเด็กเล็กทั่วโลก 1 คน กุมารแพทย์ไทยร่วมประชุมระดมสมอง “วัคซีนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”

ข่าวทั่วไป Thursday August 27, 2009 11:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์ WHO ชี้ปอดบวมในเด็กอันตราย ทุกๆ 15 วินาทีคร่าชีวิตเด็กเล็กทั่วโลก 1 คน กุมารแพทย์ไทยร่วมประชุมระดมสมอง “วัคซีนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” เร่งหามาตรการให้เด็กทุกคนเข้าถึงวัคซีนไอพีดีอย่างเท่าเทียม องค์การอนามัยโลกสั่งจับตาเฝ้าระวังโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส เชื้อแบคทีเรียร้ายที่เป็นต้นแหตุสำคัญของโรคปอดบวมในเด็กเล็ก ที่คร่าชีวิตเด็กเล็กทั่วโลกกว่าปีละ 2 ล้านคน หรือ ทุกๆ 15 วินาทีจะมีเด็กเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวม 1 คน อีกทั้งยังเป็นเชื้อโรคร้ายที่ก่อให้เกิดกลุ่มโรคติดเชื้อไอพีดีซึ่งแม้ว่าจะพบไม่บ่อยแต่ก็เป็นกลุ่มโรคที่มีความรุนแรงและเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ได้แก่ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคไซนัสอักเสบ และหูน้ำหนวก พร้อมระบุเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสยังเป็นเชื้อโรคแทรกซ้อนที่สำคัญที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตของเด็กเล็กสูงขึ้นในเหตุการณ์ไข้หวัดสเปนระบาดเมื่อปี 1918 วอนให้หน่วยงานสุขภาพทั่วโลกเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตยังไม่มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะเด็กในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขณะที่องค์กรแพทย์ในเอเชียขานรับจัดการประชุม “วัคซีนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” เร่งหามาตรการผลักดันให้เด็กทุกคนเข้าถึงวัคซีนไอพีดี เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อดังกล่าวอย่างเท่าเทียม สืบเนื่องจากปัญหาดังกล่าวข้างต้น สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย หรือ ASPID ร่วมกับ International Society of Tropical Pediatrics (ISTP) และองค์กรสุขภาพชั้นนำแห่งเอเชีย จึงจัดงานประชุมวัคซีนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asian Vaccine Conference) ขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 สิงหาคม 2552 ณ โรงแรมรอยัล อังกอร์ รีสอร์ท โดยมีกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ตัวแทนสถาบันสุขภาพชั้นนำ และตัวแทนระดับนโยบายด้านสุขภาพของประเทศต่างๆ ร่วมประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความก้าวหน้าเกี่ยวกับมาตรการป้องกัน และแนวทางการควบคุมอุบัติการณ์โรคปอดบวม และโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อนำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้กับประเทศของตน โดยมี ศ.พญ.อุษา ทิสยากร กรรมการสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งโลก และเลขาธิการสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย และ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ตัวแทนจากประเทศไทย เข้าร่วมประชุมดังกล่าว ศ.พญ.ลูลู บราโว่ ประธานองค์กรพันธมิตรร่วมป้องกันโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส หรือ ASAP เปิดเผยว่าในปัจจุบันโรคต่างๆ ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติ ไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย แต่ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย และภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบดังกล่าว โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ เช่นโรคไข้หวัดสเปนปี 1918 และโรคปอดบวม ซึ่งคร่าชีวิตประชากรโลก โดยเฉพาะเด็กเล็กซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญยิ่ง จึงทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศจุดยืนตลอดหลายปีที่ผ่านมาในการให้ความสำคัญต่อการป้องกัน และลดอุบัติการณ์การติดเชื้อและการตายจากโรคปอดบวมในเด็ก ด้วยการแนะนำให้เด็กเล็กทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนไอพีดี “จากสถิติทุกๆ 15 วินาทีจะมีเด็กเล็กเสียชีวิตด้วยโลกปอดบวม 1 คน หรือคิดเป็นอัตราการเสียชีวิตกว่าปีละ 2 ล้านคนทั่วโลก โดยจากผลการศึกษาพบว่าร้อยละ 50 เป็นการเกิดโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อรุนแรงที่มีวัคซีนป้องกันได้แล้วในปัจจุบัน ดังนั้นการได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสจึงเป็นสิทธิทางสังคมอันชอบธรรมของเด็กๆ ทุกคนทั่วโลก ที่จะได้เข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม” ศ.พญ.อุษา ทิสยากร กรรมการสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งโลก และเลขาธิการสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย เปิดเผยว่า สำหรับโรคปอดบวมทุกๆ คนคงจะเคยได้ยินกันบ่อยๆ แต่จริงๆ แล้วโรคปอดบวมเป็นฆาตกรเงียบตัวจริงของเด็กเล็ก เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของเด็กเล็กยังไม่แข็งแรง โดยเฉพาะหากติดเชื้อที่ปอด ซึ่งเป็นอวัยวะที่นำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย อาจจะทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้ นอกจากนี้จากการศึกษายังพบว่าโรคปอดบวมเป็นโรคแทรกซ้อนที่สำคัญที่ทำให้อัตราการตายของเด็กเล็กทั่วโลกสูงขึ้น โดยเฉพาะการติดเชื้อซ้ำโรคระบบทางเดินหายใจ เช่นโรคไข้หวัด โรคหอบหืด เป็นต้น ทำให้อาการรุนแรงขึ้น และทำการรักษาได้ยากขึ้น สูญเสียเวลา และงบประมาณในการรักษาเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องใช้การรักษาแบบองค์รวม รวมทั้งสภาพจิตใจของประชาชนก็จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถ้าหากทุกประเทศบรรจุวัคซีนไอพีดีเข้าสู่แผนสาธารณสุขแห่งชาติ ก็จะทำให้อัตราการเสียชีวิตและความสูญเสียปัจจัยต่างๆ ข้างต้นลดลง ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานด้านสุขภาพของประชาชนในประเทศนั้นๆ อีกด้วย” “การฉีดวัคซีนไอพีดีให้กับเด็ก นอกจากจะป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็กเล็กแล้ว ยังลดการแพร่กระจายเชื้อจากเด็กไปสู่ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงอีกกลุ่มหนึ่งด้วย หรือเรียกว่า HERD COMMUNITY โดยเฉพาะในบ้านที่มีผู้สูงอายุ กับเด็กอยู่ร่วมกัน และ ในภาพรวมระยะยาว การฉีดวัคซีนไอพีดี ยังช่วยลดปัญหาการดื้อยาของเชื้อนิวโมคอคคัสซึ่งมีแนวโน้มเกิดอัตราสูงขึ้น ซึ่งปัญหาการดื้อยาของเชื้อต่างๆ เป็นปัญหาที่แพทย์ทั่วโลกให้ความสำคัญ และหาแนวทางในการลดปัญหาการดื้อยาอย่างเร่งด่วน” ศ.พญ.อุษา กล่าว ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า “ไม่เฉพาะแต่โรคปอดบวมเท่านั้น แต่เชื้อนิวโมคอคคัสยังทำให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรงในกลุ่มโรคไอพีดี เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคไซนัสอักเสบ และโรคหูหนวก ซึ่งเด็กที่มีสุขภาพดีทุกคนเป็นกลุ่มเสี่ยง และความเสี่ยงจะสูงขึ้นหากเด็กมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นโรคเรื้อรัง เช่นโรคหัวใจ โรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น ถึงแม้โรคดังกล่าวจะมีอุบัติการณ์ไม่มากในประเทศไทย แต่หากเป็นแล้วก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะพิการ หรือเสียชีวิตสูง ซึ่งการที่จะป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัสนั้นทำได้ยาก เนื่องจากเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในเยื่อบุคอหอยของคนเรา โดยมีอัตราความชุกของเชื้อมากในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ โดยคิดเป็นอัตราการเป็นพาหะสูงถึงร้อยละ 25 (หรือในเด็ก 4 คนจะมีเด็กที่มีเชื้อ 1 คน) ซึ่งเชื้อดังกล่าวสามารถแพร่กระจายในอากาศด้วยละอองฝอยของน้ำมูก จากการไอหรือจาม ดังนั้นจึงต้องระวังที่จะพาเด็กเล็กไปในสถานที่แออัด และมีเด็กอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น เนอร์สเซอรี่ โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ซึ่งหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรดูแลร่างกายเด็กเล็กให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการทานอาหารหลัก 5 หมู่ ล้างมือเป็นประจำ” สำหรับในไทยยังไม่ทราบถึงอุบัติการณ์โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็กไทย แต่จากการศึกษาพบว่าอุบัติการณ์โรคติดเชื้อไอพีดีในเด็กไทย น่าจะมากกว่า 28 ต่อแสน คนต่อปี ปัจจุบันมีหลายประเทศ ได้เริ่มบรรจุวัคซีนไอพีดีให้อยู่ในแผนสาธารณสุขแห่งชาติแล้ว โดยฉีดให้กับเด็กเกิดใหม่ทุกคน อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา แคนนาดา และในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมี 3 ประเทศ ที่บรรจุวัคซีนไอพีดีให้เป็นวัคซีนพื้นฐานแล้ว เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และล่าสุดฮ่องกงจะเริ่มฉีดให้กับเด็กเกิดใหม่ทุกคนในวันที่ 1 กันยายน 2552 นี้ สำหรับประเทศไทยวัคซีนไอพีดี ยังเป็นวัคซีนทางเลือก โดยพ่อแม่เด็กต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าเอง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ