กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--คต.
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า สหภาพยุโรปได้จัดทำรายงานเรื่อง “เรื่องจริงหรือหลอกลวง: นโยบายการค้าที่เปิดกว้างของสหภาพยุโรปและการให้สิทธิพิเศษทางการค้า” โดยรวบรวมสิทธิพิเศาที่สหภาพยุโรปให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาภายใต้ระบบ GSP หรือ Generalised System of Preferences และความตกลงต่างๆ เช่น การให้สิทธิพิเศษภายใต้ Cotonou Agreement (Economic Partnership Agreements: EPAs) และความตกลงการค้าเสรี (FTAs) ระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศหรือกลุ่มประเทศต่างๆ เช่น ชิลี เม็กซิโก แอฟริการใต้ และกลุ่มประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียน
การวิเคราะห์การใช้สิทธิพิเศษทางการค้าที่ประเทศต่างๆ ได้รับจากสหภาพยุโรป สรุปผลได้ดังนี้
1. สัดส่วนและมูลค่านำเข้าของสหภาพฯ ที่ใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางการค้าจะพิจารณาจากอัตราภาษี MFN-0 สัดส่วนของการนำเข้าสินค้าที่ยังมีการเก็บภาษี (Dutiable Imports) สัดส่วนสินค้านำเข้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (Imports eligible for preferences) และอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ (Preference Utilization) โดยครอบคลุมประเทศกำลังพัฒนาที่แตกต่างกันและแบ่งตามภูมิภาค ได้แก่ อาเซียน (บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม ยกเว้น สิงคโปร์ พม่า ลาว และกัมพูชา) กลุ่มละตินอเมริกา (อาร์เจนตินา โบลิเวีย บราซิล โคลัมเบีย คอสตาริกา เอลซัลวาดอร์ เอกวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส นิการากัว ปานามา ปารากวัย เปรู อุรุกวัย เวเนซุเอลา ยกเว้น ชิลีและเม็กซิโก) กลุ่มประเทศเมดิเตอร์เรเนียน (แอลจีเรีย ปาเลสไตน์ อียิปต์ จอร์แดน เลบานอน โมร็อคโก ซีเรีย ตูนีเซีย ยกเว้น อิสราเอลและตุรกี) กลุ่มประเทศ ACP non-LDC (ยกเว้น South Africa) กลุ่มประเทศ ACP-LDC กลุ่มประเทศ LDC non-ACP (ยกเว้น พม่า) และความตกลงการค้าเสรีกับประเทศกำลังพัมนา (ชิลี เม็กซิโก และแอฟริกาใต้)
2. การวิเคราะห์ตามกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
สัดส่วนการนำเข้าภายใต้อัตราภาษี MFN-0 เพิ่มขึ้นจนถึงปี 2549 และมีแนวโน้มเปลี่ยนไป เนื่องจากการนำเข้าน้ำมันและสินค้าอื่นๆ มีราคาเพิ่มสูงขึ้น โดยภาพรวมในปี 2550 การนำเข้าภายใต้อัตราภาษี MFN-0 มีอัตราร้อยละ 60 และการนำเข้าสินค้าที่ยังมีการเก็บภาษี (Dutiable Imports) เป็นร้อยละ 40 สัดส่วนสินค้านำเข้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (Imports eligible for preferences) น้อยกว่าร้อยละ 40 และอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ (Preference Utilization) มีประมาณร้อยละ 80 และการนำเข้าโดยได้รับยกเว้นภาษีจากสหภาพฯ (EU Duty free) เป็นร้อยละ 70
สำหรับอาเซียน Dutiable EU Imports ของกลุ่มสมาชิกอาเซียนมีประมาณ 10 หน่วยเปอร์เซ็นต์ สูงกว่าสัดส่วนจากทั่วโลก เมื่อเปรียบเทียบอาเซียนกับกลุ่มประเทศอื่นๆ เช่น กลุ่มประเทศ ACP non-LDC, ACP LDC และ LDC non-ACP เกือบทั้งหมด (ร้อยละ 100) ของสินค้าที่ยังมีการเก็บภาษี (Dutiable Imports) ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (Import eligible for preferences) ซึ่งอาเซียนจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีประมาณร้อยละ 80 และการใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษของอาเซียนมีสัดส่วนร้อยละ 65 ซึ่งน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอื่นๆ ที่มีสัดส่วนในการใช้สิทธิพิเศษสูงถึงร้อยละ 77 - 95 ทั้งนี้ สัดส่วนของการนำเข้าสินค้าของสหภาพฯ จากอาเซียนโดยใช้อัตราภาษี EU Duty free มีประมาณร้อยละ 63 ซึ่งน้อยที่สุดเช่นเดียวกัน
3. การวิเคราะห์โดยใช้ Tariff Douanier Commune (TDC) Section
ในปี 2550 สินค้าสำคัญที่มีการนำเข้ามายังสหภาพฯ โดยใช้สิทธิพิเศษในการนำเข้า 5 สินค้าสำคัญ ได้แก่ (1) แร่ธาตุซึ่งเป็นสาขาหลักที่มีการส่งออกจากทุกกลุ่ม ยกเว้น อาเซียน (2) ผัก (3) Prepared Foodstuffs (4) สิ่งทอและ Textile Articles (5) base metals ซึ่งร้อยละ 70 เป็นการนำเข้าจากอาเซียน และร้อยละ 95 นำเข้าจากประเทศ LDC non-ACP
กลุ่มประเทศ ACP non-LDCs มีการนำเข้าร้อยละ 95 ซึ่งสาขาที่นำเข้ามากที่สุดได้รับการยกเว้นภาษี (ยกเว้นในสินค้าผัก) สำหรับอัตราการใช้สิทธิพิเศษที่ต่ำลงมานั้นจะเป็นสินค้าแร่ธาตุ (56%) ไข่มุก อัญมณี และอื่นๆ (76%) เช่นเดียวกับ ACP-LDCs ที่มีการนำเข้ามายังสหภาพฯ โดยใช้ EU duty-free และสิทธิพิเศษสาขาแร่ธาตุและไข่มุก อัญมณี ในขณะที่กลุ่มประเทศ LDC non-ACPs สาขาส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าสิ่งทอและ textile articles ร้อยละ 76 โดยใช้ EU duty-free
สำหรับกลุ่มประเทศที่มี FTAs กับสหภาพฯ การนำเข้าเกือบทั้งหมดจะใช้ EU duty-free โดยสาขาที่มีการนำเข้าถึงร้อยละ 85 ได้แก่ mechanical appliances และ transport equipment นอกจากนี้ อัตราการใช้ประโยชน์ในสาขา base metals, transport equipment และ prepaered foodstuffs สูงถึงร้อยละ 85
ในกรณีของอาเซียน การนำเข้าโดย dutiable imports มี 6 สาขา ซึ่งเป็นสาขาที่ใช้สิทธิพิเศษ ในขณะที่สัดส่วนของการนำเข้าโดยใช้การยกเว้นภาษีค่อนข้างต่ำ ได้แก่ ร้อยละ 0.5 ในสินค้าสิ่งทอและ textile articles ร้อยละ 6 ในสาขารองเท้า และร้อยละ 16 ใน prepared foodstuffs การใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษในสาขาสิ่งทอและ textile articles และในสาขา Mechanical appliances น้อยกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากสิทธิพิเศษที่ให้แก่อาเซียน คือ การลดอัตราภาษี MFN มากกว่าได้รับ EU duty-free ทั้งนี้อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่ถือว่าเป็น under-utilised เนื่องจากมีอัตราการใช้สิทธิพิเศษที่ต่ำกว่าร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอื่น
4. การวิเคราะห์จากอัตราภาษี (tariff) และสิทธิพิเศษทางด้านภาษี (preference margins)
จากผลการคำนวณโดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มประเทศ ACP และประเทศด้อยพัฒนาอื่นๆ นอกกลุ่ม ACP เมดิเตอร์เรเนียน ละตินอเมริกา ชิลี เม็กซิโก แอฟริกาใต้ และอาเซียน พบว่าประเทศที่ได้สิทธิพิเศษทางด้านภาษี (preference margins) จากสหภาพยุโรปสูงที่สุดคือ กลุ่มประเทศ ACP Non-LDC (ได้ส่วนลดร้อยละ 13 จากอัตราภาษีขาเข้าปกติ) และ LDC non-ACP (ร้อยละ 9) ตามด้วย ACP-LDC (ร้อยละ 7) และเมดิเตอร์เรเนียน (ร้อยละ 6) ในขณะที่อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่ได้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีต่ำสุด เพียงร้อยละ 2 เท่านั้น
เมื่อวิเคราะห์จากอัตราการใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางด้านภาษี (utilization rate) แยกตามรายประเทศ พบว่าไทย (เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน) ใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางด้านภาษี (preference utilization rate) ต่ำกว่าภูมิภาคอื่นๆ คือ ใช้เพียงร้อยละ 62 เมื่อเทียบกับร้อยละ 90 ในโมร็อคโกและตูนิเซีย (ในกลุ่มเมดิเตอร์เรเนียน) ร้อยละ 85 ในอาร์เจนตินา (ละตินอเมริกา) และร้อยละ 85 ในชิลี สินค้าส่งออกสำคัญของไทยในสหภาพฯ ที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ในอัตราที่ต่ำ ได้แก่ สิ่งทอและ textiles articles และเครื่องจักร ใช้สิทธิประโยชน์ร้อยละ 55 และอุปกรณ์ในการขนส่ง (transport equipment) ร้อยละ 48 ทั้งนี้ สำหรับสินค้าสิ่งทอ คาดว่าสาเหตุของการใช้สิทธิประโยชน์ต่ำ เนื่องมาจากปัญหาเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (RoO)
5. ผลของการให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษี (EU trade preference) ต่อมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (preferential imports)
ผลการคำนวณด้วยวิธี Gravity Model ในภาพรวมพบว่า การที่สหภาพยุโรปให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษี (trade preference) ทำให้ประเทศคู่ค้านั้น ๆ ส่งสินค้าเข้ามายังสหภาพฯ เพิ่มขึ้น และยิ่งอัตราการให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีสูงเท่าใด ปริมาณการนำเข้าสินค้าก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย กล่าวคือ หากสหภาพฯ ให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีร้อยละ 1-4 (ลดภาษีให้ร้อยละ 1-4 เมื่อเทียบกับอัตราภาษีตาม MFN) จะส่งผลให้การนำเข้าสูงกว่าการที่สหภาพฯ ให้สิทธิพิเศษต่ำกว่าร้อยละ 1
เมื่อคำนวณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นพบว่า การที่สหภาพยุโรปให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีทำให้การนำเข้าจากประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 11 เมื่อวิเคราะห์แยกตามกลุ่มประเทศพบว่า ประเทศที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากสิทธิพิเศษทางด้านภาษี (ร้อยละของปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นสูงสุด) คือ ประเทศกลุ่ม LDC non-ACP ซึ่งคาดว่าหากไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีการส่งออกสู่สหภาพฯ จะต่ำกว่าที่เป็นอยู่ถึง ร้อยละ 75 ตามมาด้วยกลุ่ม ACP LDC การได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 กลุ่มประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียนร้อยละ 12 กลุ่ม ACP non-LDC ร้อยละ 10 ในขณะที่อาเซียนเพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ 9
โดยสรุปภาพรวมในปี 2550 สินค้าที่นำเข้าภายใต้ MFN- 0 คิดเป็นร้อยละ 60 ของการนำเข้าทั้งหมด สินค้านำเข้าที่ยังมีการเก็บภาษี (Dutiable Imports) คิดเป็นร้อยละ 40 ของการนำเข้าทั้งหมด สัดส่วนสินค้านำเข้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (imports eligible for preferences) คิดเป็นร้อยละ 37 ของสินค้านำเข้าที่ยังมีการเก็บภาษี อัตราการใช้สิทธิประโยชน์ (preference utilization) ประมาณร้อยละ 80 ของสินค้านำเข้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี และการนำเข้าโดยได้รับยกเว้นภาษีจากสหภาพฯ (EU Duty free) คิดเป็นร้อยละ 70
ที่มา สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์