กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--องค์การแพลน สำนักงานประเทศไทย
การประชุมเอดส์นานาชาติระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค หรือไอแคป ครั้งที่ 9 (9th International Congress on AIDS in Asia Pacific- ICAAP) ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย มีหัวข้อการประชุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ “การส่งเสริมป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มเยาวชนด้วยการศึกษาเรื่องสุขภาพและเพศศึกษา” โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนเยาวชน ครู และองค์กรภาคประชาสังคมจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ผู้เข้าประชุมหัวข้อนี้ได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกันที่จะรณรงค์สนับสนุนอย่างต่อเนื่องให้เกิดการพัฒนาด้านการศึกษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีสำหรับเยาวชนในสถานศึกษา และจะร่วมกันติดตามผลการดำเนินงานดังกล่าว จนถึงการประชุมไอแคปครั้งที่ 10 ในอีกสองปีข้างหน้า
การประชุมเรื่องนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างหลายองค์กร ได้แก่ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล องค์การแพธ/ประเทศไทย องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 140 คนซึ่งได้แลกเปลี่ยนกันถึงบทเรียนที่ดี ความท้าทายในงานเพศศึกษา และอภิปรายถึงแนวทางที่จะสามารถกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและสนับสนุนเชิงนโยบายที่เข้มแข็งขึ้น อันจะต้องนำไปสู่การดำเนินงานอย่างจริงจังคือ จัดการสอนเพศศึกษารอบด้านและการศึกษาเพื่อป้องกันเอชไอวีในกลุ่มเยาวชนในสถานศึกษาให้สอดคล้องตามบริบทและสถานการณ์ในแต่ละประเทศ
การทำงานด้านการป้องกันเอชไอวีจะไม่เป็นผลสำเร็จ ถ้าปราศจากกระบวนการสร้างความเข้มแข็งแก่เยาวชนผ่านการเรียนรู้เรื่องเพศและเอดส์ในห้องเรียน ในการประชุมดังกล่าว ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เยาวชน และนักรณรงค์ด้านเอดส์ ต่างลงความเห็นถึงความเร่งด่วน ให้มีการจัดการศึกษาเพื่อป้องกันเอชไอวีที่มีประสิทธิภาพแก่เยาวชนในโรงเรียน ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชน โดยเน้นว่าการศึกษาด้านสุขภาพ และเพศศึกษารวมถึงการศึกษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีเป็นทั้งความจำเป็นและเป็นสิทธิอย่างหนึ่งของเยาวชน ทั้งนี้ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การศึกษาเพื่อป้องกันเอชไอวีกำลังก้าวสู่ยุคใหม่ ที่ครอบคลุมเรื่องเพศและความสัมพันธ์ในมิติที่กว้างขึ้นกว่าการเน้นเพียงเรื่องลดความเสี่ยงต่อเอชไอวีเท่านั้น
ผู้เข้าร่วมประชุมจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ซึ่งรวมทั้งครูชาวไทยมากกว่า 30 คนให้ความเห็นว่า ควรมีความพยายามที่เข้มข้นยิ่งขึ้นเพื่อให้การดำเนินงานเพศศึกษาและการศึกษาเพื่อป้องกันเอชไอวีในสถานศึกษามีคุณภาพและส่งผลที่ชัดเจนในภูมิภาคนี้ นายเดวิด คลาร์ค ผู้เชี่ยวชาญขององค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าการมีนโยบายที่มีประสิทธิภาพจะช่วยนำทางให้กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเรื่องการศึกษาเอชไอวีทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน “นโยบายเหล่านี้ช่วยให้กระทรวงศึกษาและกระทรวงสาธารณสุขทำงานร่วมกันที่จะให้วัยรุ่นและเยาวชนได้รับข้อมูล บริการปรึกษาและบริการที่เขาเหล่านั้นต้องการ”
ขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกลุ่มเยาวชนมากขึ้น ทั้งๆที่มีความสำเร็จในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่จากปีละ 100,000 รายในห้วงทศวรรษที่ผ่านมาจนลดน้อยลงกว่า 10,000 รายต่อปี ภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเยาวชน จึงควรแสดงบทบาทสำคัญในการเตรียมประชากรรุ่นใหม่ให้มีศักยภาพและสามารถรับผิดชอบดูแลสุขภาวะทางเพศที่ดี อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่สำคัญของแต่ละประเทศ คือ การหาช่องทางที่เหมาะสมและเพียงพอให้เกิดการพัฒนาแก่เด็กและเยาวชนแบบองค์รวมในระบบการศึกษาปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้เน้นเพียงความสำเร็จทางวิชาการเท่านั้น ทั้งนี้ ประเทศในแถบเอเชียส่วนใหญ่มีนโยบายด้านสุขภาพ เพศ หรือเอชไอวี อยู่แล้ว ในปี พ.ศ. 2551 มีรายงานจาก 15 ประเทศที่ระบุว่า มีนโยบายหรือยุทธศาสตร์ที่ส่งเสริมการศึกษาด้านอนามัยเจริญพันธุ์ และสุขอนามัยทางเพศรวมถึง เอชไอวี/เอดส์สำหรับเยาวชนอยู่แล้ว
ดร. เบญลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้ชี้ว่าถึงแม้ว่าจะมีนโยบายเกี่ยวกับเพศศึกษามายาวนานแล้วก็ตาม แต่อุปสรรคสำคัญที่ยังเกิดขึ้นคือ ทัศนคติและค่านิยมของครูต่อเรื่องเพศศึกษา ขณะที่พฤติกรรมและค่านิยมทางเพศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และช่องว่างระหว่างวัยมีมากขึ้น การขาดครูที่มีความสามารถในการจัดการเรียนรู้แบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จึงส่งผลให้ประสิทธิภาพการเรียนการสอนเพศศึกษาด้อยลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นเหล่านี้ได้มีการตอบสนองผ่านการดำเนินงานเพศศึกษารอบด้าน หรือที่เรียกสั้นๆว่า “โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ” ในสถานศึกษามากกว่า 800 แห่งทั่วประเทศไทยซึ่งสนับสนุนโดยกองทุนโลก (Global Fund) ดำเนินงานโดยกระทรวงศึกษาธิการ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข องค์การแพธ และองค์กรภาคีต่างๆ รวมทั้งองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล
นางภาวนา เหวียนระวี ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ องค์การแพธ เปิดเผยรายงานวิจัยจากประเทศไทยเกี่ยวกับผลของเพศศึกษาที่มีต่อเยาวชนซึ่งสนับสนุนว่า เพศศึกษาไม่ได้ทำให้นักเรียนมีเพศสัมพันธ์กันเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน การได้เรียนเพศศึกษาทำให้เยาวชนมีความรู้ ทักษะเพิ่มขึ้น และยังพัฒนาทัศนคติที่ดีต่อการมีความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมทางเพศ รวมทั้ง มีการใช้ถุงยางอนามัยเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มนักเรียนที่มีเพศสัมพันธ์อยู่แล้ว ความท้าทายที่พบในการสอนเพศศึกษาในสถานศึกษา คือ การที่ครูรู้สึกไม่สะดวกใจในการพูดคุยเรื่องเพศในห้องเรียน ทั้งนี้ การอบรมครูอย่างมีคุณภาพจึงเป็นการเน้นที่จำเป็นในหลายๆประเทศ สำหรับประเทศไทยนั้น ได้จัดการอบรมครูทั้งระดับมัธยมและอาชีวศึกษาไปแล้วมากกว่า 5,000 คนเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนเพศศึกษาในสถานศึกษา แม้กระนั้น จำนวนครูดังกล่าวก็ยังห่างไกลจากเป้าหมายที่จะให้มีการสอนเพศศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพในสถานศึกษาทั้งหมดกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ
รัฐบาลในหลายประเทศต่างประสบกับความละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรมและการต่อต้านจากชุมชน ดังนั้นเพศศึกษาจึงยังคงถูกต่อต้านอย่างรุนแรงในบางประเทศ เช่น ในบางรัฐของประเทศอินเดีย และฟิลิปปินส์ ฯลฯ Hubert Gijzen ผู้แทนองค์การ UNESCO ในประเทศไทย กล่าวว่า “พ่อแม่และครูมักไม่พูดคุยเรื่องเอชไอวี เพราะส่วนมากก็ไม่ได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านเพียงพอ และไม่มีการเตรียมความพร้อม ขณะที่ ยังไม่มีการรักษาเอดส์ให้หายขาดได้ การศึกษาจึงเปรียบเสมือนวัคซีนป้องกันเพียงอย่างเดียวที่มีอยู่และใช้ได้ในตอนนี้” ตัวอย่างจากประเทศไทย พ่อแม่โดยทั่วไปมักรู้สึกไม่สบายใจที่จะพูดคุยเรื่องเพศกับลูกๆ อยู่แล้ว ซึ่งทำให้ครูกลัวว่า พ่อแม่ผู้ปกครองจะไม่พอใจหากมีการสอนเเพศศึกษาในห้องเรียน ปัจจัยดังกล่าวเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักๆ ของการที่มีครูส่วนหนึ่งเลือกสอนเรื่องเพศศึกษาบางเรื่องในชั้นเรียน ขณะที่ครูบางคนก็จะไม่สอนเพศศึกษาเลย.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่:
มัทธนา บุนนาค
องค์การแพลน สำนักงานประเทศไทย
โทร. 02 259 8284-6 โทรสาร 02 259-8287
อีเมล์ Matana.Bunnag @plan-international.org
อุษาสินี ริ้วทอง
องค์การแพธ ประเทศไทย
โทร: 02 653-7563 ถึง 5 โทรสาร 02-653-7568