ภาคประชาสังคมเตือนเหลือเวลาเพียง 100 วันก่อนถึงวันประชุมโลกร้อนที่โคเปนเฮเกน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 28, 2009 15:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคประชาสังคมเรียกร้องรัฐบาลทั่วโลกเร่งหาข้อสรุปข้อตกลงการลดการปล่อยก๊๋าซเรือนกระจก พร้อมเตือนโลกเหลือเวลาอีกเพียง 100 วันเท่านั้นที่จะบรรลุเป้าหมายเพื่อปกป้องประชากรนับพันล้านทั่วโลกและระบบนิเวศให้พ้นจากผลกระทบร้ายแรงของภาวะโลกร้อน วันนี้ ที่หน้าตึกสำนักงานสหประชาชาติ เด็กนักเีรียนชั้นมัธยมต้นจำนวน 100 คนถือร่มหลากสีสันแปรอักษรเป็นคำ่ว่า “Tck Tck Tck” เลียนเสียงร้องเดินเข็มนาฬิกา และคำว่า “ACT NOW!” หรือ “ลงมือทำเดี๋ยวนี้” นอกจากนี้ยังแปรขบวนเป็นรูปนาฬิกา ทั้งนี้เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำประเทศต่างๆ หันมาใส่ใจอนาคตของโลกอย่างจริงจังมากขึ้น นักเรียนกลุ่มนี้มาจากโรงเรียนเทศบาล 1 จังหวัดนครราชสีมา ใกล้กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทยและยังเป็นมรดกโลกอีกด้วย กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อส่งสาส์นไปยังการประชุมเจรจาเรื่องการร่างอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ยูเอ็นเอฟซีซีซี) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์ ในปลายเดือนหน้า “ได้เวลาแล้วที่ผู้นำประเทศทั้งหลายต้องตีตั๋วเพื่อไปสรุปข้อเจรจาที่โคเปนเฮเกนด้วยตัวเอง เพราะเห็นแล้วว่าที่ผ่านมาแทบไม่มีความคืบหน้าอะไรเลยและผลการเจรจาที่ออกมาก็น่าผิดหวังมาตลอดทั้งปี,” ดีน่าห์ ฟูเอ็นเตสฟิน่า เจ้าหน้าที่โฆษกโครงการรณรงค์ Tcktcktck กล่าว “เราอยากเห็นผู้นำประเทศทุกคนอยู่ที่โคเปนเฮเกนและแสดงความเป็นผู้นำในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้โดยการร่วมเซ็นข้อตกลงลดการปล่อยก๊าซที่ให้ผลชัดเจน เป็นธรรมและมีเป้าหมายที่มีข้อผูกมัดทางกฎหมายสำหรับประเทศที่มีส่วนในปัญหานี้มากที่สุด” โครงการยังได้เปิดเผยข้อมูล “100 เหตุผลที่เอเชียจำเป็นต้องมีข้อตกลงโลกร้อนที่เป็นธรรม” โดยได้แบ่งผลกระทบโลกร้อนด้านต่างๆ ในภูมิภาคนี้ทั้งในปัจจุบันและที่จะเกิดต่อไปถ้าไม่มีการจัดการปัญหาอย่างจริงจังและเป็นระบบ มีประเด็นเด่นๆ ที่อ้างอิงจากผลการวิจัยในช่วงที่ผ่านมามากมาย อาทิเช่นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งผลิตพืชผลการเกษตรหลักของโลก และกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายต่อภัยพิบัติที่มาจากโลกร้อนมากที่สุดเช่นกัน โดย 8 ใน 10 ของเมืองหลวงหลักที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมมากที่สุดในโลกนั้นอยู่ในทวีปเอเชียทั้งหมด รวมถึงกรุงเทพฯด้วย ผลการศึกษาหลายฉบับยังแสดงให้เห็นว่าจำนวนพันธุ์สัตว์และพืชที่แปลกและหายากในเอเชียกำลังถูกคุมคามจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์และการใช้ที่ดิน และครึ่งหนึ่งของความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคนี้ตกอยู่ในอันตราย “เหตุผลที่ต้องบรรลุการเจรจาที่โคเปนเฮเกนนั้นมีเป็นร้อย แต่สิ่งที่ขาดไปคือความมุ่งมั่นของฝ่ายการเมืองที่จะสร้างอนาคตคาร์บอนต่ำและความตั้งใจที่จะลดการปล่อยก๊าซ,” ฟูเอ็นเตสฟิน่ากล่าว สมาชิกของทีมรณรงค์ Tcktcktck ซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์กรภาคเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาต่างเรียกร้องผู้นำชาติต่างๆ บรรลุข้อตกลงที่เป็นธรรมและเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งต้องมีประสิทธิภาพในการลดและชะลอผลกระทบโลกร้อนที่มีต่อผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะคนจน ที่ผ่านมาประเทศพัฒนาแล้วประสบความล้มเหลวในการหามาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เด็ดขาด แม้ว่าจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่าผลกระทบโลกร้อนต่อคนและธรรมชาตินั้นรุนแรง “ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์จากระดับการปล่อยปี 1990 ให้ได้ภายในปี 2020 เพื่อหลีกเลี่ยงความหายนะทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นี่ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่เราต้องทำถ้าไม่อยากเห็นคนเป็นล้านต้องลำบากหรือล้มตาย และการที่จะทำให้สำเร็จนั้น ชาติที่ร่ำรวยต้องให้การช่วยเหลือด้านการเงินและเทคโนโลยีแก่ประเทศยากจนปรับตัวและปรับเปลี่ยนไปสู่สังคมที่พึ่งพาคาร์บอนน้อยลง” ฟูเอ็นเตสฟิน่าสรุปพร้อมทิ้งท้ายว่า “เรามัวเสียเวลาไม่ได้แล้ว เรายังพอมีเวลาที่จะช่วยชีวิตคนให้รอดตายหรือแม้แต่พลิกสถานการณ์ หากเราตั้งใจจริง ณ เวลานี้เรายังเลือกได้ว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่” ข้อมูลเบื้องต้น - ปัจจุบันนี้ สหภาพยุโรปได้ตกลงใจที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 จากระดับที่ปล่อยในปี 1990 ภายในปี 2020 และกล่าวว่าจะเพิ่มตัวเลขขึ้นเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ถ้าประเทศอื่นๆยืนยันที่จะทำอย่างเดียวกันหรือออกมาตรการคล้ายกัน - แม้ว่าประชาชนชาวนิวซีแลนด์จะเรียกร้องให้รัฐบาลของตัวเองเลือกตัวเลขที่ 40 เปอร์เซ้นต์ รัฐบาลก็ยังคงยืนยันอยู่ที่ตัวเลข 20 โดยมีข้อแม้ว่าต้องมีการบรรลุข้อตกลงในการเจรจาในเดือนธันวาคมนี้ มิเช่นนั้นจะลดตัวเลขลงเหลือ 10 เปอร์เซ็นต์ถ้าไม่ได้ตามข้อเรียกร้อง ออสเตรเลียตกลงจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไปร้อยละ 25 จากระดับปี 1990 ภายในปี 2020 ด้วยเงื่อนไขมากมายไม่ต่างกับนิวซีแลนด์ - รัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวว่าอเมริกาตั้งเป้าลดปริมาณปล่อยก๊าซในปี 2020 ให้เท่ากับที่ปล่อยปี 1990 โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ตกลงเห็นชอบผ่านตัวบทกฎหมายที่ตั้งเป้าสูงกว่าเดิมเล็กน้อย และกำลังอยู่ในขบวนการพิจารณาของวุฒิสภา - ญี่ปุ่นได้ประกาศตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไปร้อยละ 8 ของระดับที่ปล่อยปี 1990 ภายในปี 2020 แต่มีความเป็นไปได้ว่าถ้าพรรคฝ่ายค้านดีพีเจ (Democratic Party of Japan) ชนะผลการเลือกตั้งทั่วไปวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ อาจมีการให้เพิ่มตัวเลขเป็น 25 เปอร์เซ็นต์แทน - ประเทศที่เศรษฐกิจกำลังมาแรงอย่าง จีน อินเดีย บราซิล เม็กซิโก หรือแอฟริกาใต้ยังไม่ได้ประกาศตัวเลขเป้าหมายที่จะลด แต่ได้เผยถึงมาตรการต่างๆ ที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาแล้ว อินเดียและจีนต้องการให้ประเทศอุตสาหกรรมตกลงที่ตัวเลข 40 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2020 ไม่ใช่ตัวเลขเล็กน้อยที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ - นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าอุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะต้องไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ถ้าต้องการหลีกเลี่ยงผลกระทบโลกร้อนและคงไว้ซึ่งระบบดำรงชีพของดาวเคราะห์โลก รัฐบาลกว่า 100 ประเทศได้ให้การรับรองอย่างเป็นทางการว่าจะไม่ให้การปล่อยก๊าซทำให้อุณหภูมิสูงกว่านี้เป็นอันขาด อย่างไรก็ตาม แค่ 2 องศาก็เพียงพอแล้วที่จะส่งผลทำลายล้างสมดุลของระบบนิเวศ และทำให้อนาคตของผู้คนกว่า 660 ล้านคนตกอยู่ในอันตราย - รายงานของ Global Humanitarian Forum เผยว่าภาวะโลกร้อนได้ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 1.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศกำลังพัฒนาเป็นผู้รับภาระนี้กว่าร้อยละ 90 - ในช่วงเวลา 20 — 30 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตธัญพืชได้ลดลงในหลายพื้นที่ในทวีปเอเชียเนื่องจากความรุนแรงของปัญหาขาดน้ำที่มากขึ้นโดยบางส่วนมีสาเหตุจากภาวะโลกร้อน (ภัยแล้งรุนแรงจากปรากฎการณ์เอล นิโน อากาศที่อุ่นขึ้น และฝนทิ้งช่วง) เกี่ยวกับ Tcktcktck: โครงการรณรงค์ Tcktcktck เป็นการรวมตัวขององค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสดงหาผลกำไรด้านต่างๆ เช่น ศาสนา สหภาพการค้า และบุคคลต่างๆ ที่เห็นตรงกันว่าช่วงเวลานี้จำต้องมีการเรียกร้องให้รัฐบาลบรรลุข้อตกลงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อปกป้องโลกจากผลกระทบที่ทำลายความเป็นอยู่และชีวิตมนุษย์ ในขณะที่ผู้นำชาติต่างๆ เตรียมตัวเจรจาเรื่องนี้ที่โคเปนเฮเกนในเดือนธันวาคม ทีมงาน Tcktcktck จะเป็นกระบอกเสียงให้ผู้คนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อว่าข้อตกลงนานาชาติชิ้นใหม่นี้จะเห็นผลชัดเจน เป็นธรรมและมีเป้าหมายที่สะท้อนความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์ เวลานั้นใกล้หมดแล้ว คุณสามารถสนับสนุนเราได้โดยการเยี่ยมชม ของเราและเข้าร่วมเป็นสมาชิกที่ www.tcktcktck.org

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ