กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับงานสัมมนาวิชาการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) ภายใต้โครงการขยายบทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาค ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2552 โดยได้กล่าวในการสัมมนาหัวข้อ “เศรษฐกิจไทย ใกล้จะฟื้นแล้วจริงหรือ” ดังนี้
วิกฤตเศรษฐกิจไทยครั้งนี้เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว โดยดูจากตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ในไตรมาส 1 ที่หดตัวมากที่ร้อยละ -7.1 ต่อปี มาเป็นหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -4.9 ต่อปี ในไตรมาส 2 และคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 คือติดลบน้อยลง และขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 4 ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตั้งแต่ตอนนี้ โดยในช่วงที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนไทยยังอ่อนแอ ภาครัฐจำเป็นต้องมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นผ่านทาง 3 นโยบายหลัก ได้แก่ 1) การดำเนินนโยบายการคลังผ่านการใช้จ่ายของรัฐบาล เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 2) การดำเนินนโยบายการเงิน ผ่านการสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) หรือที่เรียกว่านโยบายกึ่งการคลัง (Quasi Fiscal Policy) ซึ่งกระทรวงการคลังได้แถลงข่าวโครงการสินเชื่อ Fast Track เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2552 เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจที่มีปัญหาเรื่องทุนหมุนเวียน และ 3) การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเทียบเท่ากับค่าเงินของประเทศในภูมิภาค เพื่อสร้างเม็ดเงินสกุลบาทให้เข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้น นอกจากนี้ สศค. ยังได้เตรียมความพร้อมที่จะเสนอนโยบายด้านการคลังเชิงรุก ซึ่งมุ่งเน้นการแก้ไขจุดอ่อนของปัญหาเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะปานกลางและระยะยาว ได้แก่ พ.ร.บ.การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อดูแลด้านหลักประกันรายได้เพื่อการยังชีพเมื่อชราภาพสำหรับแรงงานนอกระบบที่มีประมาณ 24 ล้านคนในประเทศ มาตรการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจเพื่อขยายขอบเขตสินทรัพย์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ที่เป็นธรรม มาตรการภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม แผนปฏิรูปสถาบันการเงินของรัฐและการพัฒนาตลาดทุน และแผนการปฏิรูประบบการประกันภัยบุคคลที่ 3 นอกจากนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการศึกษา และมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative economy) เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจไทย
- ดร. กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ได้แสดงความคิดเห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2552 จะหดตัวที่ร้อยละ -2.9 ต่อปี และจะขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี ในปี 2553 สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น คาดว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 2.0 ต่อปีในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2552 จะหดตัวที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี โดยภายหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนแปลงไป การบริโภคของสหรัฐฯ จะลดลง การแข่งขันทางการค้าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยลดลง นอกจากนี้ สภาพคล่องของโลกจะเพิ่มขึ้นตามการออมที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนมาสู่ภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นและนำมาสู่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และรัสเซีย มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกไปประเทศดังกล่าวได้ในอนาคตดังนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในด้านการผลิตและด้านการบริการ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มคุณภาพของสินค้าไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ซึ่งการจะเพิ่มประสิทธิภาพได้นั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาคุณภาพของคน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ ตลอดจนลดกฎระเบียบและขั้นตอนที่ยุ่งยากของภาครัฐ นอกจากนี้ ภาครัฐยังจำเป็นต้องกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ และต้องให้ความสำคัญกับภาคบริการให้มากขึ้น เนื่องจากภาคบริการมีสัดส่วนถึงร้อยละ 45 ของ GDP และมีการจ้างงานในระดับสูง ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้
- นายสมกิจ อนันตเมฆ รองเลขาธิการหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย เห็นด้วยกับ ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ในเรื่องเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไปในลักษณะ U shape พร้อมกล่าวถึงลักษณะเศรษฐกิจทางภาคใต้ ซึ่งมีการแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ 1. กลุ่ม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2. กลุ่มจังหวัดอ่าวไทย และ 3. กลุ่มจังหวัดอันดามัน โดยภาคใต้มีจุดแข็งในเรื่องทรัพยากรทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยว แต่มีจุดอ่อนในเรื่องต้นทุนค่าขนส่ง การคมนาคมและโลจิสติกส์ ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพภาคใต้และประเทศไทยนั้นจำแป็นต้องมีการพัฒนาใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1. พัฒนาทรัพยากรบุคคล 2. พัฒนาสินค้าและบริการโดยใช้ภูมิปัญญาของท้องถิ่น 3. พัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและโลจิสติกส์ และ 4. การพัฒนาการท่องเที่ยวและด้านการเกษตร ซึ่ง การพัฒนาดังกล่าวจำเป็นต้องทำอย่างเป็นระบบและแบบบูรณาการมากขึ้น โดยมุ่งเน้นสร้างความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้นทั้งทางภาครัฐและเอกชน โดยต้องยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย