กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ศูนย์รับฝากฯ รับมอบงานการเป็นศูนย์รับฝากและสำนักหักบัญชีสำหรับตราสารหนี้ภาครัฐจากธนาคารแห่งประเทศไทย ตามแผนพัฒนาตลาดตราสารหนี้ พร้อมเริ่ม 14 กุมภาพันธ์ 2549 โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมช่วง 6 เดือนแรก
นางนงราม วงษ์วานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ ได้มีมติให้ศูนย์รับฝากฯ รับมอบงานการรับฝากและการชำระราคาและส่งมอบตราสารหนี้ภาครัฐจากธนาคารแห่งประเทศไทยตามที่ศูนย์รับฝากฯ ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังให้เป็นศูนย์กลางการรับฝากหลักทรัพย์ และสำนักหักบัญชีสำหรับทั้ง ตราสารทุนและตราสารหนี้ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้มีสภาพคล่องมากยิ่งขึ้น ตามแผนพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2548 — 2557) โดยมีความพร้อมเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นต้นไป
“ในการให้บริการดังกล่าว ศูนย์รับฝากฯ ได้กำหนดค่าธรรมเนียมโดยพิจารณาเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดจาก ต้นทุนส่วนเพิ่ม (Marginal Cost) เท่านั้น พร้อมทั้งยังได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับต้นทุนบางส่วนด้วย
การดำเนินงานในครั้งนี้ จะทำให้ศูนย์รับฝากฯ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการรับฝากและชำระราคาและ ส่งมอบตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อการทำธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับตราสารหนี้ เช่น ธุรกรรมในตลาดซื้อคืน รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะเชื่อมโยงระบบงานไปยังต่างประเทศ ทำให้สมาชิกได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะยาว” นางนงรามกล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์รับฝากฯ ได้หารือและรับฟังข้อคิดเห็นจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาชิกที่เกี่ยวข้องในการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวแล้ว โดยจะมีการผ่อนผันยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนสัญญาระหว่างกัน
โดยตลอดปี 2549 คาดว่าจะมีมูลค่าตราสารหนี้ภาครัฐที่ใช้บริการเฉลี่ยทั้งปี ประมาณ 2.16 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะมีการโอนตราสารหนี้ ประมาณ 55,000 รายการ
สำหรับการเก็บอัตราค่าธรรมเนียมการรักษาหลักทรัพย์ (Custody Fee) เป็นอัตราแบบขั้นบันได(Tier Rate) สรุปได้ดังนี้
รายการ อัตราค่าธรรมเนียม
ค่าธรรมเนียมการรักษาหลักทรัพย์ (Custody Fee) มูลค่าหลักทรัพย์ อัตรา (บาทต่อล้านบาท)
1-3 หมื่นล้านบาท 0.75
3-5 หมื่นล้านบาท 0.50
5 หมื่นล้านบาทขึ้นไป 0.25
สำหรับมูลนิธิหรือองค์กรที่ได้รับการยกเว้นภาษีแบบ 100% และสถาบันการเงินเฉพาะในส่วนการดำรงตราสารหนี้ภาครัฐเป็นสินทรัพย์สภาพคล่อง (Liquidity Reserve) คิดอัตราคงที่ 0.25 บาท ต่อมูลค่า หลักทรัพย์ทุก 1 ล้านบาท
ส่วนอัตราค่าธรรมเนียมการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (Clearing Fee) รวมถึงรายการโอนตราสารหนี้ภาครัฐทั้งหมดที่มิใช่การโอนย้ายทรัพย์สินของตน การโอนมรดก หรือโอนตามคำสั่งศาลบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ จะเรียกเก็บจากผู้โอนและผู้รับโอนในอัตรา 35 บาทต่อรายการ
ส่วนอัตราค่าธรรมเนียมการโอนหลักทรัพย์เพื่อธุรกรรมตลาดซื้อคืนกับธนาคารแห่งประเทศไทย (Repurchase : RP ) และธุรกรรมวงเงินสภาพคล่องระหว่างวัน (Intraday Liquidity Facility : ILF) จะเรียกเก็บในอัตรา 10 บาทต่อรายการจากทั้งผู้โอนและผู้รับโอน
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036
กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049
วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--