สถาบันเซดี้จัดสัมมนา รวมผู้เชี่ยวชาญในแวดวงธุรกิจทั้งไทยและเทศผนึกความรู้กู้วิกฤตเศรษฐกิจ

ข่าวทั่วไป Monday August 31, 2009 10:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--สถาบันเซดี้ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ (CEDI) ม.กรุงเทพ จัดสัมมนาโครงการ “การเติบโตหลังวิกฤตของผู้ประกอบการ” รวมผู้เชี่ยวชาญในแวดวงธุรกิจทั้งไทยและเทศผนึกความรู้กู้วิกฤตเศรษฐกิจเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันสร้างองค์ความรู้ และแสวงหาการสนับสนุนซึ่งกันและกัน จากภายในประเทศและนานาประเทศ เพื่อการพลิกฟื้นหลังวิกฤตของผู้ประกอบการ เกิดเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ (Creative Entrepreneurship Development Institute: CEDI) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดการสัมมนาโครงการ Rebuilding the Entrepreneurial Economy: Opportunities and Challenges after the Crisis หรือ การเติบโตหลังวิกฤตเศรษฐกิจของผู้ประกอบการ ณ ห้องบอลรูม โรงแรมโฟร์ ซีซั่น ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นการนำเสนอแนวทางแก้ไขและข้อคิดด้านกลยุทธ์ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นศักยภาพและผลักดันผู้ประกอบการของไทยร่วมกันพัฒนาธุรกิจสู่ความสำเร็จ โดยภายในงานประกอบด้วยการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “The State of The Art Entrepreneurship Development" จาก กูรูด้านธุรกิจ 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี Mr. Lee, Kouh Jung Managing Director Korea Animation Producers Association, ประเทศสาธารณรัฐไต้หวัน Mr. Chu, Li-Chuan , Director Center for Industry Academia Co-operation National Taipei University of Technology Taiwan. และประเทศสหรัฐอเมริกา Mr. Walter Esquivel, Babson Collage มาบรรยายให้เห็นหัวใจสำคัญของการเป็นผู้ประกอบการตามวิถีของประเทศนั้นๆ ที่จะนำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ไฮไลท์ของการจัดงาน อยู่ที่การสัมมนาในหัวข้อ “Post — Crisis Strategies for New Growth” เป็นการนำเสนอข้อคิดด้านกลยุทธ์และแนวทางการฝ่าวิกฤต โดยผู้เชี่ยวชาญในแวดวงธุรกิจของไทย ได้แก่ คุณทศพล แบแลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย ในประเด็นการสร้างกำไรในธุรกิจ Low Cost Airline, คุณจาฤก กัลย์จาฤก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ นายกสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ในประเด็นกลยุทธ์การสืบทอดธุรกิจ และจุดเปลี่ยนของการเติบโตแบบก้าวกระโดด พร้อมด้วย คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในประเด็นรูปแบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ Creative Economy และการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ดำเนินการสัมมนาโดย ดร.กนก อภิรดี ประธานกรรมการบริหารสถาบันฯ ซึ่งทั้งสี่ท่านได้ฝากประเด็นที่ช่วยกระตุ้นภาครัฐเชิงนโยบายและพัฒนาความคิดในเชิงต่อยอดของผู้ประกอบการไทยได้อย่างน่าสนใจ ดร.กนก อภิรดี ประธานกรรมการบริหารสถาบันฯ กล่าวว่า เป็นโอกาสที่หาได้ยากที่จะดึงเอาผู้เชี่ยวชาญทางธุรกิจชาวต่างประเทศมาบรรยายความรู้ให้คนไทยได้ฟัง โดยเฉพาะประเทศที่มีความน่าสนใจอย่างสาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา สามประเทศนี้ฝ่าผ่านทั้งวิกฤตสงคราม วิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศ และ วิฤตการเมืองมาแล้วทั้งสิ้น ความน่าสนใจคือ วิธีการและแนวคิดที่ทำให้ทั้งสามประเทศนี้กลายเป็นประเทศที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ และมีกิจการใหญ่ๆมากมาย นอกจากนั้นยังได้รับเกียรติจากนักธุรกิจผู้เชี่ยวชาญอย่างคุณทศพล แบแลเว็ลด์ คุณจาฤก กัลย์จาฤก และคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน มาร่วมสร้างองค์ความรู้เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยเปิดรับความคิดเชิงสร้างสรรค์ เกิดเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ “คนเก่ง คือ คนที่เรียนรู้จากความผิดพลาด แต่คนที่เก่งกว่า คือ คนที่เรียนรู้จากความสำเร็จของผู้อื่น วันนี้เป็นโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้จากผู้ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกและระดับประเทศ หวังว่าการสัมมนาครั้งนี้จะสร้างคนในสังคมไทยให้เข้าถึงความเป็นผู้ประกอบการ คิดใหญ่ ทำใหญ่ ไม่ต้องรอนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ผู้ประกอบการควรเป็นแนวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้มีการก่อตั้งสถาบันเซดี้ (CEDI) ขึ้นมา เพื่อเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการของไทย ให้มีคุณภาพ และร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.กนก กล่าวในตอนท้าย ทั้งนี้ สถาบันเซดี้ (CDEI) มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ มุ่งเน้นการสร้างสรรค์และพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพ โดยล่าสุดเปิดหลักสูตร Creative Entrepreneurship Development Program (CEDP) รุ่น XS โดยเป็นหลักสูตรการศึกษาแนวทางใหม่หลักสูตรพิเศษเพื่อพัฒนา และผลิตผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หัวคิดทันสมัย ที่จะมีความพร้อมในการพัฒนาธุรกิจของตนเอง และเพื่อพัฒนาธุรกิจของเมืองไทยต่อไปในอนาคต เป็นครั้งแรก ผู้สนใจข้อมูลเกี่ยวกับสถาบัน เซดี้ สามารถสอบถามได้ที่ 02-350-3500 ต่อ 1403 — 1406 หรือ www.cedi.bu.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ