การใช้สิทธิพิเศษทางการค้าของประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Monday August 31, 2009 15:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--คต. นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า สหภาพยุโรปได้จัดทำรายงานเรื่อง “ เรื่องจริงหรือหลอกลวง: นโยบายการค้าที่เปิดกว้างของสหภาพยุโรปและการให้สิทธิพิเศษทางการค้า ” โดยรวบรวมสิทธิพิเศษที่สหภาพยุโรปให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาภายใต้ระบบ GSP หรือ Generalised System of Preferences และความตกลงต่างๆ เช่น การให้สิทธิพิเศษภายใต้ Cotonou Agreement (Economic Partnership Agreements: EPAs) และความตกลงการค้าเสรี (FTAs) ระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศหรือกลุ่มประเทศต่างๆ เช่น ชิลี เม็กซิโก แอฟริการใต้ และกลุ่มประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียน การใช้สิทธิพิเศษทางการค้าที่ประเทศต่างๆ ได้รับจากสหภาพยุโรป ศึกษาจากสัดส่วนและมูลค่านำเข้าของสหภาพฯ การวิเคราะห์ตามกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา การวิเคราะห์โดยใช้ Tariff Douanier Commune (TDC) Section และการวิเคราะห์จากอัตราภาษี (tariff) และสิทธิพิเศษทางด้านภาษี (preference margins) ทั้งนี้ กรณีประเทศไทย (เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน) ใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษี (preference utilization rate) ต่ำ (ตามนิยามของ Candau and Jean (2006) หมายถึงต่ำกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีทั้งหมด) กว่าภูมิภาคอื่นๆ คือใช้เพียงร้อยละ 62 เมื่อเทียบกับร้อยละ 90 ในโมร็อกโกและตูนีเซีย (ในกลุ่มเมดิเตอร์เรเนียน) ร้อยละ 85 ในอาร์เจนตินา (ละตินอเมริกา) และร้อยละ 85 ในชิลี สินค้าออกของไทยไปอียูที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ในอัตราต่ำ ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องจักร คิดเป็นร้อยละ 55 อุปกรณ์ในการขนส่ง ร้อยละ 48 สำหรับสาเหตุที่ไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์ในอัตราต่ำ แยกแยะเป็นรายสินค้าที่สำคัญได้ดังนี้ 1. สินค้าเครื่องยกทรง : เนื่องจากอัตราภาษีปกติ (ร้อยละ 6.5) และ GSP (ร้อยละ 5.2) มีอัตราใกล้เคียงกัน ต่างกันเพียงร้อยละ 1.3 จึงไม่ดึงดูดความสนใจจากผู้ส่งออก ประกอบกับอียูใช้เกณฑ์พิจารณาถิ่นกำเนิดสินค้าที่เข้มงวดสูง คือ “ Manufacture from yarn ” ซึ่งหมายความว่าเครื่องยกทรงจะมีถิ่นกำเนิดในไทยได้ ก็ต่อเมื่อกระบวนการตัดเย็บที่เกิดขึ้นในไทยต้องใช้วัตถุดิบผ้าผืนที่มีถิ่นกำเนิดจากไทยเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงการผลิตสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทย ลูกค้าในต่างประเทศจะกำหนดรูปแบบ ชนิด คุณภาพและแหล่งนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตด้วย ทำให้เครื่องยกทรงที่ผลิตได้ไม่เข้ากฎถิ่นกำเนิดสินค้าของอียู 2. เตาไมโครเวฟ : อียูใช้เกณฑ์ “ Manufacture in which the value of all the materials uses does not exceed 30% of the ex-works price of the product ” หมายความว่า สินค้าที่ผลิตได้จะต้องมีสัดส่วนต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าไม่เกินร้อยละ 30 ของมูลค่าสินค้าหน้าโรงงาน หรือ สินค้ามีสัดส่วนมูลค่าต้นทุนการผลิตในประเทศผู้รับสิทธิรวมทั้งไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของราคาสินค้าหน้าโรงงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วส่วนใหญ่ผู้ประกอบการไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ จึงทำให้เตาไมโครเวฟที่ผลิตได้ไม่มีถิ่นกำเนิดในไทย 3. ปลาทูนากระป๋อง : ส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีปกติ (ร้อยละ 24) และ GSP (ร้อยละ 20.5) ต่างกันเพียงร้อยละ 3.5 และอียูกำหนดเกณฑ์พิจารณาถิ่นกำเนิดสินค้าตามหลัก “ Manufacture from animal of Chapter 1, and/or in which all the materials of Chapter 3 used are wholly obtained ” ซึ่งมีความเข้มงวดสูง โดยปลาทูนาจะต้องจับได้ในประเทศไทยหรือจับได้โดยเรือสัญชาติไทยเท่านั้น ทั้งที่ความจริงปลาทูนาที่เป็นวัตถุดิบของไทยส่วนใหญ่จะนำเข้าจากไต้หวัน ญี่ปุ่น วานูอาตู โดยสรุปสาเหตุของการใช้สิทธิประโยชน์ของไทยอยู่ในอัตราต่ำ เนื่องจากสหภาพยุโรปกำหนดเกณฑ์พิจารณาถิ่นกำเนิดสินค้า (RoO) มีความเข้มงวดสูง ที่มา 1. สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ 2. สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ