กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--วอลดอร์ฟ
“ผมเห็นเป้าหมายที่คุณตั้งไว้ คือการคืนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์กลับมาให้เรา แต่สำหรับพวกเรามันสายเกินไปเสียแล้ว คุณจะกรุณาช่วยทำอะไรบางอย่างแก่ลูกๆ ของเราได้ไหม” คำพูดของคนงานคนหนึ่งในโรงงานยาสูบวอลดอร์ฟ-เอสโตเรีย ที่กล่าวกับดร.รูดอล์ฟ สไตเนอร์ ผู้ก่อตั้งแนวคิดมนุษยปรัชญาและโดยได้รับการสนับสนุนจาก เอมิล มอลท์ เจ้าของโรงงานนั้น โรงเรียนแนวการศึกษาของสไตเนอร์ หรือโรงเรียนวอลดอร์ฟแห่งแรกก็ถือกำเนิดขึ้นและขยายไปทั่วยุโรป อเมริกา แอฟริกา และในเอเชีย นับเนื่องมาจนทุกวันนี้เป็นเวลา 90 ปีแล้ว
โรงเรียนวอลดอร์ฟ หรือโรงเรียนแนวการศึกษาของสไตเนอร์ ตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการปฏิรูปสังคมผ่านการพัฒนาภายในของมนุษย์ การศึกษาที่มีแนวคิดว่าเด็กหรือมนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่เต็มเปี่ยมภายในตัวเอง รอวันที่จะงอกงามผลิบานสู่การเป็นมนุษย์ที่มีอิสระแห่งตนเองอย่างแท้จริง แต่เพียงเราในฐานะ พ่อแม่ ครูหรือผู้ใหญ่ในสังคมจะคอยบ่มเพาะ และเปิดโอกาสให้เขาได้ค่อยๆ เรียนรู้เรื่องราวที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยของเขา
การศึกษาวอลดอร์ฟจึงมิใช่การศึกษาที่เตรียมเด็กไว้สำหรับเดือนหน้า ปีหน้า เพื่อการแข่งขันที่สังคมกำหนดรูปแบบ แต่การศึกษาวอลดอร์ฟเป็นการเตรียมเด็กตลอดช่วงเวลา 21 ปีแรกของชีวิต เพื่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เปี่ยมด้วยศักยภาพที่พร้อมจะเรียนรู้ คิด และกระทำสิ่งต่างๆ ไปตลอดช่วงชีวิตของเขา
แนวทางของการศึกษานั้น เราแบ่งการเรียนรู้ของเด็กออกเป็นช่วงวัย ช่วงละ 7 ปี ใน7 ปีแรกของชีวิตเด็กจะเรียนรู้ผ่านการกระทำและการเลียนแบบ มิได้เรียนรู้ผ่านสมองหรือการคิดเช่นผู้ใหญ่ เด็กเรียนรู้ผ่านทางร่างกายของเขา ดังนั้นสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมเขา การกระทำของผู้ใหญ่ไม่ว่าดีหรือเลว สิ่งที่เขาเห็น สิ่งที่เขาได้ยิน ได้สัมผัส ล้วนไหลเข้าสู่ตัวเด็กโดยที่ไม่มีใครสามารถยับยั้งได้ ดังนั้นในแนวทางการศึกษานี้จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเด็กในวัย 7 ปีแรกของชีวิต เพราะทุกสิ่งที่เข้าไปไหลเวียนอยู่ในตัวเด็กจะคงอยู่กับ เด็กไปชั่วชีวิต เราจึงพยายามที่จะให้เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีงาม ทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นรากฐานของชีวิต และที่สำคัญผู้คนและการกระทำที่ดีงามถูกต้องศีลธรรม
ในช่วงอายุ 7-14 ปี เป็นช่วงที่เด็กเรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านความรู้สึก เด็กๆ จะถูกบ่มเพาะความรู้สึกที่งดงามผ่านศิลปะและดนตรี ซึ่งเป็นเสมือนสะพานที่จะนำความงดงามของชีวิตเข้าสู่ตัวเด็ก ในวัยประถมเด็กจะเริ่มเรียนเขียนอ่านแล้ว แต่เป็นการเรียนที่เด็กจะต้องมีความรู้สึกร่วมไปกับสิ่งที่ตนเรียน ผ่านการเคลื่อนไหว ร้องเพลง ดนตรี และวาดภาพ เด็กๆ ในโรงเรียนวอลดอร์ฟจะไม่มีหนังสือแบบเรียนตายตัวที่ซื้อขายกันทั่วไป แต่เด็กๆ จะสร้างหนังสือของตนเองผ่านความเข้าใจในบทเรียน และวาดภาพประกอบตามจินตนาการ งานหัตถกรรมจะเข้ามามีบทบาทอย่างยิ่ง มิใช่เพียงเพื่อให้เด็กสามารถทำผลงานออกมาเป็นชิ้นๆ เท่านั้น แต่เป็นการสร้างความมั่นใจให้เด็กๆ ว่า ด้วยมือของพวกเขาก็สามารถรังสรรค์และสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาได้ ทั้งยังฝึกความอดทนพยายามเพราะงานแต่ละชิ้นใช้เวลานับเดือนหรือหลายเดือนเป็นสิ่งที่เด็กเรียนรู้ว่า ความอดทนนำมาซึ่งความสำเร็จและของแต่ละชิ้นมีคุณค่าในตัวของมันเอง
ในช่วงอายุ 14-21 ปี เป็นช่วงเวลาที่เด็กจะเรียนรู้ผ่านขบวนการคิด บทเรียนจึงเป็นไปเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสที่จะมองเห็นและคิดถึงเหตุผลที่ควรจะเป็นผ่านวิชาการต่างๆ การเชื่อมโยงเรื่องราวและผู้คนในโลกนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะค่อยๆ ให้เด็กได้รับรู้ มิใช่ให้เด็กเรียนทฤษฎีเพื่อการทดสอบหรือแข่งขันเท่านั้น งานหัตถกรรม - ศิลปะ — ดนตรีก็ยังเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นตลอดการศึกษาของเขาจนจบชั้นมัธยม 6 ดังนั้นหัวใจการศึกษาคือความเชื่อที่ว่าคุณค่าที่ลึกซึ้งของมนุษย์เกิดขึ้นได้เมื่อการศึกษาสามารถนำมาซึ่งความสมดุลระหว่างความสามารถในการคิด — ความรู้สึก — การกระทำ ซึ่งดำรงอยู่แล้วในตัวเด็กแต่ละคน
แม้ว่าชื่อ “การศึกษาวอลดอร์ฟ” อาจจะไม่คุ้นหูสำหรับใครหลายๆ คนและอาจจะเข้าใจยากสำหรับผู้สนใจใหม่ สำหรับพ่อแม่ที่ตัดสินใจให้ลูกเข้ามาเรียน “โรงเรียน วอลดอร์ฟ” นั้นเบื้องต้นอาจเป็นเพียงความต้องการที่จะหาโรงเรียนทางเลือกให้ลูก เพราะคิดว่าโรงเรียนในระบบการศึกษาปัจจุบันมิได้ตอบคำถามในใจเกี่ยวกับชีวิตของลูกได้ แต่เมื่อพ่อแม่ได้สัมผัสกับการศึกษานี้ผ่านการเจริญเติบโตของลูกแล้ว หลายคนก็จะบอกว่านี่คือการศึกษาที่ได้เติมเต็มชีวิตวัยเด็กที่ขาดหายไป เป็นการศึกษาที่ทำให้เด็กไม่เคยเบื่อที่จะมาโรงเรียน และที่สุดแล้วการศึกษาของลูกกลายเป็นสิ่งที่หล่อหลอมพ่อแม่ให้ได้หวนกลับมาคิดถึงชีวิตและการพัฒนาของตนผ่านการอยู่รวมกันเป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีน้ำใจต่อกัน ซึ่งเรื่องราวเช่นนี้นับวันจะเลือนหายไปในสังคมคนเมืองเช่นพวกเรา
ขอเชิญทุกท่านพบและสัมผัสกับความมหัศจรรย์ทางการศึกษาได้ในงาน
“ 90 ปี วอลดอร์ฟ ”
วันศุกร์ที่ 4 และเสาร์ที่ 5 กันยายน 2552
เวลา 8.30 น. ถึง 16.00 น.
ณ หอประชุม 101 อาคาร 3 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พบการปาฐกถาพิเศษ “การศึกษาเพื่อการพัฒนาในทุกมิติของความเป็นมนุษย์” โดย ศาสตราจารย์ระพี สาคริก
การอภิปรายเรื่อง “การศึกษาวอลดอร์ฟกับสังคมไทย” การแสดงของนักเรียนวอลดอร์ฟ เสวนาพ่อแม่
และเข้าร่วมสัมผัสกับผลงานนักเรียน และกิจกรรมการเรียนรู้อย่างมีชีวิตได้ในงาน
รายละเอียดเพิ่มเติม www.waldorfactivities.ning.com