ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดสัมมนาใหญ่ SCB ACE : กลยุทธ์หลังวิกฤติ ทิศทางปี2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 1, 2009 09:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดสัมมนาใหญ่ประจำปี SCB Annual Conference on the Economy : SCB ACE หัวข้อเรื่อง “กลยุทธ์หลังวิกฤติ ทิศทางปี 2553” โดยมี ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาพร้อมด้วยผู้นำจากภาคธุรกิจแนวหน้าของประเทศ อาทิ จากกลุ่มพลังงาน กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธุรกิจการโรงแรงแรมและท่องเที่ยว และตัวแทนจากภาคส่วนที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ ที่มาร่วมเปิดมุมมองและสะท้อนแนวคิดและกลยุทธ์หลังวิกฤติถือเป็นการสร้างองค์ความรู้และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างองค์กรธุรกิจเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ในการ วางแผนธุรกิจในอนาคต เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อธุรกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยงานสัมมนานี้ จัดขึ้นที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอแยล เมอริเดียน กรุงเทพฯ และมีลูกค้าของธนาคารและแขกผู้มีเกียติเข้าร่วมงานกว่า 700 คน ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ด้วยโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและรวดเร็วมากขึ้น ธนาคารเล็งเห็นความสำคัญในการเป็นแหล่งความรู้ที่ภาคธุรกิจสามารถใช้เป็นประโยชน์ในการวางแผนธุรกิจและการตอบสนองต่อปัจจัยต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป ซึ่งธนาคารจะอาศัยทุกช่องทางของธนาคารในการให้ความรู้ออกไปในวงกว้าง ให้มากขึ้น งาน “SCB Annual Conference on the Economy หรือ SCB ACE” ที่จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีจากนี้ ถือเป็นหนึ่งช่องทางสำคัญในการถ่ายทอดความรู้และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการวางแผนการดำเนินธุรกิจของลูกค้า” ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย เสริมว่า “ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรือ SCB Economic Intelligence Center (SCB EIC)” นับเป็นองค์ประกอบสำคัญ ใน Premier Universal Banking Model ของธนาคาร โดยธนาคารมุ่งหวังที่จะเสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาผู้เชี่ยวชาญของธนาคารในธุรกิจหลักต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อให้ธนาคารไทยพาณิชย์สามารถให้คำตอบแก่ลูกค้าได้อย่างครบวงจร สิ่งที่ SCB EIC มีความพิเศษแตกต่างจากที่อื่น คือการให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีมุมมองเชิงลึก (Insight) และมีนัยเชิงนโยบาย (Implication) ที่ชัดเจนให้ลูกค้าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง” ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะกลับสู่สภาวะเดิม โลกหลังวิกฤติจะไม่เหมือนเดิม การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเองจึงไม่สามารถพึ่งพิงการส่งออกในโครงสร้างเดิมได้ แต่จะขึ้นอยู่กับปัจจัยผลักดันใหม่ๆ อาทิ การใช้จ่ายของประเทศจีน การใช้จ่ายภายในประเทศตามโครงสร้างประชากรของไทยที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจด้านใหม่ๆ ที่สามารถเติบโตตามการใช้จ่ายของปัจจัยทั้งสอง และส่งผลดีกับประเทศไทยในระยะยาว สำหรับเศรษฐกิจปี 2553 มองว่า GDP ของไทยน่าจะขยายตัวได้ราว 3.5-4.0% ตามการค่อยฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออก และแรงเสริมจากภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับภาคบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวยังคงมีความเสี่ยงอยู่ ทั้งนี้ คาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจะกลับมาขยายตัวได้ราว 6% ในปีหน้าหลังจากหดตัวราว 15% ในปีนี้ ซึ่งยังไม่พอที่จะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวกลับไปดีเหมือนช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องเงินฝืดนั้นไม่น่าเป็นห่วง โดยตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะเป็นบวกภายในสิ้นปีนี้ และเฉลี่ยอยู่ที่ 2.4% ในปีหน้า สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะยังไม่ปรับขึ้นก่อนครึ่งหลังของปี 2553 เนื่องจากเศรษฐกิจเพิ่งจะเริ่มฟื้นและแรงกดดันจากเงินเฟ้อน่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ” ทั้งนี้ นายชาตรี โสตางกูร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายบริหารการเงิน และ Head of Treasury ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมในส่วนของตลาดเงินว่า “ภายหลังจากปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ปัจจัยพื้นฐานจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น โดยคาดว่าสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ ของโลก เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติในคราวนี้น้อยที่สุด นอกจากนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มเกินดุลอย่างต่อเนื่องของประเทศไทยจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในอนาคตด้วย อย่างไรก็ตาม การที่อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนปรับลดลงอย่างมาก ไม่ได้สะท้อนว่าในอนาคตอัตราแลกเปลี่ยนจะไม่มีความผันผวนแต่อย่างใด ดังนั้น การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนยังคงเป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้น ๆ สำหรับภาคธุรกิจ ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยในตลาด ธนาคารมีมุมมองว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ รวมถึงสภาพคล่องในตลาดเงินระยะสั้นที่ยังมีอยู่ในปริมาณที่สูงมาก ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีโอกาสปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้อีกจากปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้นตามงบประมาณการขาดดุลในปีงบประมาณ 2553 และการลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็ง” ธนาคารมีความมุ่งมั่นที่จะให้งานสัมมนาในครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนธุรกิจในปี 2553 และตอบสนองต่อปัจจัยต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปได้ ทั้งนี้ ธนาคารมีนโยบายที่จะจัดสัมมนา “SCB ACE” เป็นประจำทุกปี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อลูกค้าและการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ หมายเหตุ : ผู้บริหารชั้นนำที่ให้เกียรติเป็นวิทยากรในงานสัมมนาครั้งนี้ ได้แก่ หัวข้อ วิทยากร “มองภาพเศรษฐกิจปี 2553 : Thailand in the post crisis landscape” ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ แนวโน้มตลาดเงิน คุณชาตรี โสตางกูร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายบริหารการเงิน และ Head of Treasury ธนาคารไทยพาณิชย์ กลยุทธ์หลังวิกฤต ทิศทางปี 2553 คุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. คุณกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย คุณอนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บมจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อนาคตท่องเที่ยวไทย คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานกรรมการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คุณชนินทธ์ โทณวณิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ. ดุสิตธานี คุณปรารถนา มงคลกุล ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล มุมมองต่อโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ คุณพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) คุณวัลลภ รุ่งกิจวรเสถียร ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น คุณสันติ ชาญกลราวี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ทาทา สตีล (ประเทศไทย) ก้าวต่อไปของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คุณทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ. พฤกษาเรียล เอสเตท ,คุณคุณวุฒิ ธรรมพรหมกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ. โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ , คุณอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส ( ประเทศไทย) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ประชาสัมพันธ์ สื่อสารองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) วัฒนี สมจิตต์ , เขมลักษณ์ อินลออ , กุณฑลี โพธิ์แก้ว โทร : 02-544-4501-2, 02-544-4517

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ