กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานเปิดที่ทำการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม 2552 ณ ชั้น 19 อาคารจัตุรัสจามจุรี ถนนพญาไท เขตประทุมวัน กรุงเทพฯ กกพ. เป็นองค์กรที่แต่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มีหน้าที่กำกับกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติภายใต้กรอบนโยบายของรัฐ โดยได้รับแต่งตั้งและเริ่มปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นมา
ซึ่ง กกพ. ได้ดำเนินงานโดยยึดหลักและเป้าหมายสูงสุดในการกำกับดูแลกิจการพลังงาน เพื่อให้เกิดความมั่นคงของกิจการพลังงานไทย ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนในการได้รับริการด้านพลังงานที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และปลอดภัย ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของ กกพ. ในปี 2552 กกพ. ได้ออกหลักเกณฑ์ ระเบียบ ข้อกำหนด และแนวทางการกำกับดูแลกิจการพลังงานในด้านต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการประกอบกิจการ ตลอดจนสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถสรุปผล
การดำเนินงานได้ ดังนี้
1. ออกหลักเกณฑ์ ระเบียบ ข้อกำหนด และแนวทางการกำกับดูแลกิจการพลังงาน
1.1 ออกหลักเกณฑ์และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาต เพื่อให้ผู้ที่มีความประสงค์จะประกอบกิจการทราบถึงเงื่อนไขและวิธีการประกอบกิจการพลังงาน รวมทั้งได้จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดประเภท ขนาด และลักษณะของกิจการพลังงานที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2552 เป็นต้นมา
1.2 ประกาศเกี่ยวกับการพิจารณากำหนดและจ่ายค่าทดแทนที่ดินและทรัพย์สิน กกพ.ได้ออกประกาศเกี่ยวกับวิธีการ เงื่อนไขการพิจารณาและการจ่ายค่าทดแทนที่ดินและทรัพย์สินที่มีความเหมาะสมและเป็นธรรม
1.3 นอกจากนี้ กกพ. ยังอยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์ด้านการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน การคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน การใช้อสังหาริมทรัพย์ การพิจารณาข้อพิพาทและอุทธรณ์ อีกหลายฉบับ
ผลการดำเนินการในการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน
2.1 การออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานและส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการประกอบกิจการพลังงาน
กกพ. ได้ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการพลังงานทั้งภาครัฐและเอกชนรวม 687 ฉบับ แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าจำนวน 144 ฉบับ ใบอนุญาตประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ จำนวน 4 ฉบับ และใบอนุญาตผลิตพลังงานควบคุมจำนวน 539 ฉบับ นอกจากนี้ กกพ. ยังได้กำกับการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ทั้งนี้ กกพ. อยู่ระหว่างการจัดทำคู่มือการออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน รวมทั้งอยู่ระหว่างการปรับปรุงมาตรฐานบริการพลังงานและดำเนินการประเมินคุณภาพบริการของผู้ประกอบกิจการไฟฟ้า
2.2 การกำกับดูแลอัตราค่าบริการพลังงาน
กกพ. ได้กำกับให้มีการปรับอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานในระดับที่เหมาะสมและคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และความสามารถในการประกอบกิจการของผู้รับใบอนุญาต โดยได้อนุมัติให้มีการปรับค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือ ค่า Ft ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการน้อยที่สุด แต่ยังคงเป็นระดับที่ กฟผ. มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินงานและการลงทุน รวมทั้งอนุมัติให้มีการปรับอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติที่สะท้อนภาระการลงทุนของ บมจ.ปตท. เท่าที่จำเป็นและเพียงพอต่อการลงทุนขยายระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติ
2.3 การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
กกพ. ได้จัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และยกร่างประกาศการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ประกาศ Adder) และมอบหมายให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง รับไปจัดทำรายละเอียดและประกาศใช้ ซึ่งการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ได้ออกประกาศ Adder และอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
2.4 การจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
กกพ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ซึ่งจัดตั้งตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการให้บริการไฟฟ้าไปยังท้องที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่นและพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า อีกทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่ง กกพ. มีหน้าที่บริหารจัดการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนภายใต้กรอบนโยบายของรัฐ และ กกพ. อยู่ระหว่างการยกร่างหลักเกณฑ์และระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทุนดังกล่าวซึ่งยึดหลักการ
การมีส่วนร่วม โดยเปิดกว้างในการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ เพื่อนำมาจัดทำระเบียบที่มีความเหมาะสม และเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด ทั้งนี้ กกพ. คาดว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2553
2.5 การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบพลังงาน
กกพ. ได้กำหนดหลักการและแนวทางการจัดตั้งสำนักงานเขตและคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต นอกจากนี้ กกพ. ยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โดยร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน จัดสัมมนาชี้แจงทำความเข้าใจและรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ
2.6 การพัฒนาองค์กร
กกพ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินงานและปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับจากสังคม โดยได้มุ่งเน้นให้มีการพัฒนา สกพ. ทั้งในด้านบุคลากร สำนักงาน และเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินงาน เช่น การจัดทำศูนย์กำกับกิจการพลังงานอัจฉริยะ (Intelligent Energy Regulatory Centre: iERc) ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ โดยการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU)
ด้านส่งเสริมการกำกับกิจการพลังงานกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ กกพ. ขอเน้นย้ำว่าในช่วงปี 2552 — 2553 นี้ เป็นปีแห่งการสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลโดยจะทำให้เกิดผลงานเป็นที่เด่นชัด โดยการมีกระบวนการ เครื่องมือ องค์ความรู้ และหลักเกณฑ์การกำกับต่างๆ ที่สามารถส่งเสริม สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ปรับปรุงคุณภาพการบริการ ทำให้มีอัตราค่าบริการที่สะท้อนต้นทุน กิจการพลังงานมีมาตรฐานการแข่งขันที่ผู้บริโภคได้รับประโยชน์อย่างเป็นที่ประจักษ์ นอกจากนี้ กกพ. ยังได้ให้ความสำคัญถึงตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายที่จะตรวจสอบการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่วางไว้อีกด้วย