กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--นีลเส็น
ผลการสำรวจออนไลน์ชิ้นล่าสุดจากนีลเส็นพบว่า ผู้บริโภคทั่วโลกรวมถึงผู้บริโภคชาวไทยยังคงมีระดับความเชื่อที่สูงที่สุดต่อคำแนะนำจากเพื่อนฝูง หรือคนรู้จัก ในการตัดสินใจซื้อสินค้า หรือบริการ ลำดับรองลงมาคือ บทความทางหนังสือพิมพ์ และ เว็บไซต์ของสินค้า
การสำรวจครั้งล่าสุดถูกจัดทำขึ้นประมาณปลายเดือนเมษายนปี 2552 จากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตประมาณ 25,000 คน ใน 50 ประเทศ จากทวีปยุโรป เอเชียแปซิฟิค อเมริกาเหนือ และ ประเทศในแถบตะวันออกกลาง โดยทำการสำรวจเกี่ยวกับทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อรูปแบบโฆษณาต่างๆทั้งหมด 16 รูปแบบ ในประเทศไทยผู้ตอบแบบสอบถาม เป็นผู้ใช้อินเตอร์เน็ต จำนวน 500 คน อายุ 15 ปีขึ้นไป
จากผลการสำรวจของนีลเส็นพบว่า คำแนะนำจากคนรู้จัก และบทความทางหนังสือพิมพ์มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการตัดสินใจของผู้บริโภคชาวไทย กล่าวคือ ผู้บริโภคชาวไทยมากถึง แปดสิบห้าเปอร์เซ็นต์ เชื่อคำแนะนำจากบุคคลอื่นมากที่สุดในรูปแบบของโฆษณาต่างๆทั้งหมด โดยนีลเส็นพบความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นจากระดับที่ แปดสิบเอ็ด เปอร์เซ็นต์ จากการสำรวจในช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อสองปีที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้บริโภคเจ็ดสิบสองเปอร์เซ็นต์ กล่าวว่าตนเชื่อบทความที่อ่านในหนังสือพิมพ์ ส่วนอีกเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ เชื่อถือเว็บไซด์ของสินค้า
นีลเส็นเคยทำการสำรวจความน่าเชื่อถือในรูปแบบโฆษณาต่างๆ เมื่อเดือนเมษายน ในสองปีที่ผ่านมา ซึ่งมาถึงวันนี้เราพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ผู้บริโภคให้ความเชื่อถือเว็บไซด์ของสินค้าเพิ่มมากขึ้นจากระดับที่ห้าสิบห้า เปอร์เซ็นต์จากการสำรวจครั้งเมื่อสองปีที่แล้วมาเป็นเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นรูปแบบโฆษณาที่ได้รับความเชื่อถือเพิ่มมากขึ้นที่สุดถึงสิบห้าจุด
ในขณะที่ความคิดเห็นของผู้บริโภคที่พบบนออนไลน์ เช่นบล็อก กำลังเพิ่มระดับความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภค ทั่วโลก นีลเส็นพบจำนวนผู้บริโภคชาวไทยมีทัศนคติในเรื่องดังกล่าวไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือหกในสิบของผู้บริโภคชาวไทย (60%) คิดว่าความคิดเห็นของผู้บริโภคที่พบบนออนไลน์จัดเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ โดยเพิ่มขึ้นจาก ห้าสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์จากการสำวจเมื่อสองปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในประเทศไทย การโฆษณาแบบดั้งเดิมเช่น โฆษณาทางโทรทัศน์ และ เช่น โฆษณาทางหนังสือพิมพ์ ยังคงเป็นช่องทางที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้คนมาก ( 65% และ 61% ตามลำดับ)
นายแอรอน ครอส กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ นีลเส็น ( ประเทศไทย ) จำกัด กล่าวว่า “ เราเห็นระดับความน่าเชื่อถือของความคำแนะนำจากผู้บริโภคคนอื่น และความคิดเห็นของผู้บริโภคออนไลน์ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการที่เพิ่มขึ้นนั้น แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคชาวไทยมีแนวโน้มที่จะเชื่อคำแนะนำจากคนที่ตนรู้จัก และคนที่ตนไม่รู้จักทางออนไลน์ด้วย”
นาย แอรอน กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่าคนส่วนใหญ่ที่ลงความคิดเห็นของตนออนไลน์ จะเข้าไปที่เว็บไซต์ของสินค้าหรือส่งอีเมล์ไปที่บริษัทเจ้าของสินค้าก่อนที่โพสต์ความคิดเห็นของตนเกี่ยวกับสินค้า หรือบริการในบล็อคต่างๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีต่อเจ้าของสินค้า ที่สามารถควบคุม และดูแลความคิดเห็น รวมถึงคำถามต่างๆจากลูกค้า ก่อนที่ลูกค้าจะโพสต์ความคิดเห็นต่างๆในบล็อคทั่วไป”
ส่วนโฆษณาทางโทรศัพท์มือถือ (24%) ป้ายโฆษณาออนไลน์ (33%) และโฆษณาทางวีดีโอออนไลน์ (40%) ดูเสมือนจะเป็นรูปแบบโฆษณาได้รับความเชื่อถือน้อยที่สุดในประเทศไทย
รูปแบบของโฆษณาที่ผู้โฆษณาหรือเจ้าของสินค้า สามารถควบคุมโฆษณาเองได้ ที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดทั่วโลก คือ เว็บไซต์ของสินค้า ซึ่งมีอิทธิพลมากที่สุดต่อผู้บริโภคในประเทศจีน (82%) ปากีสถาน (81%) เวียดนาม (80%) อย่างไรก็ตาม แบรนด์เว็บไซต์ ดูจะได้รับความเชื่อถือน้อยที่สุดในหมู่คนสวีเดน (40%) และอิสราเอล (45%)
นายดันแคน ฟอลซอน ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ส่วนงานมีเดีย กล่าวว่า “ เว็บไซต์ของแบรนด์ต่างๆ และ ความคิดเห็นของผู้บริโภคที่โพสต์ไว้ในอินเตอร์เน็ต ได้รับความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากประชากรผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย นอกจากนี้ผลการสำรวจของ มีเดีย อินเด็กซ์ ในเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ยังพบว่า ในกลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เน็ต กว่าหกสิบเก้าเปอร์เซ็นต์ กล่าวว่า อินเตอร์เน็ต เป็นแหล่งข้อมูลแรกที่พวกเขาใช้ในการค้นหาข้อมูล โดยเพิ่มขึ้นจาก หกสิบเอ็ด เปอร์เซ็นต์ในเดือนมิถุนายน ของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจำนวนประชากรที่ใช้อินเตอร์เน็ตของโลก รวมถึงเวลาที่ใช้ในการออนไลน์ จะสูงขึ้นอย่างมหาศาล แต่ธุรกิจนี้ก็ยังต้องหาโอกาสที่จะดึงดูดรายได้จากโฆษณาให้เข้าสู่ธุรกิจมากขึ้น เมื่อเทียบกับระดับของการใช้สื่อออนไลน์ที่สูงขึ้น ในปัจจุบัน ”