กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
ผ่านชีวิตวัยคอซองมาได้สักพัก (เพราะยังไม่แก่มาก) เลยไม่แน่ใจว่าเดี๋ยวนี้หลังเลิกเรียน น้องๆ วัยรุ่นไปทำอะไร ที่ไหนกันบ้าง เคยถามเด็กในเมือง หลายคนบอกว่า เลิกเรียนต้องไปเรียนพิเศษ หรือ ถ้าถามน้องๆ ต่างจังหวัด คนที่บอกว่าต้องไปเรียนพิเศษก็มี บอกว่าไปขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวเล่นแถวบ้านก็เยอะ น่าสนุก (แต่สงสัยว่าแถวบ้านมีอะไรให้เที่ยวได้ทุกวัน) ไม่ก็ทำการบ้านและช่วยพ่อแม่ขายของ คำตอบอย่างหลังนี่ พอชื่นใจขึ้นมาหน่อย ออกแนวลูกกตัญญูรู้หน้าที่
เท่าที่ว่ามา ถึงแม้วิถีชีวิตของเด็กๆ ในเมืองกับต่างจังหวัดจะแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ยังถือเป็นวิถีปกติตามสภาพสังคมที่แตกต่างกัน เพราะจะให้เด็กในเมืองมาขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวเล่นทุกวันคงไม่ไหว แค่ไปไหนมาไหนแล้วเอาชีวิตให้รอดจากรถราอันแสนคับคั่งได้ก็เป็นบุญแล้ว
แต่น้องๆ เยาวชน บ้านคลองเขม้า อ.เหนืองคลอง จ.กระบี่ พยายามสร้างวิถีเยาวชนที่แปลก แตกต่างออกมาจากคนอื่นๆ ในชุมชนของตัวเอง นางสาวกมลชนก นุ้ยขาว หรือ ด้า ลูกสาวคนสวยของผู้ใหญ่บ้านบ้านคลองเขม้า เล่าว่า หลังเลิกเรียนและทำการบ้านเสร็จ ประมาณ 6 โมงเย็น เพื่อนคนอื่นๆ ถ้าไม่มีอะไรทำ บางคนก็อยู่บ้านเฉยๆ นอนดูทีวี บางคนขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวเล่น ไม่ก็รอแดดร่มลมตก รวมก๊วนแก๊งมอเตอร์ไซค์พากันซิ่งออกไปนั่ง ร้านน้ำชา กินลมชมวิวนอกหมู่บ้าน วิถีเยาวชนบ้านนี้เป็นแบบนี้มานานแล้ว รุ่นต่อรุ่น...
แต่ ด้ากับเพื่อนๆ ในนาม องค์การบริหารหมู่บ้านเยาวชนบ้านคลองเขม้า (อบย.บ้านคลองเขม้า) ใช้เวลาหลังเลิกเรียนและทำภารกิจของตัวเองเรียบร้อยแล้ว จะมารวมตัวกันที่ ร้านน้ำชา อบย. ประจำหมู่บ้าน ตั้งแต่ช่วงเย็น 6 โมงกว่าๆ ไปจนถึงเกือบเที่ยงคืนของทุกวัน มาช่วยกันขายอาหารสารพัดอย่าง ทั้งน้ำชา กาแฟ โรตี และอาหารตาม(ใจ)สั่ง
“หนูเรียนโรงเรียนเหนือคลองประชาบำรุง นอกหมู่บ้าน เรียนเสร็จรีบทำการบ้านแล้วกลับมาเตรียมตัวช่วยกันขายของที่ร้านน้ำชาของพวกเรา”
ด้า บอกว่า อบย.บ้านคลองเขม้า ก่อร่างมาจากความช่วยเหลือของพี่ๆ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (พีดีเอ) ภายใต้การสนับสนุนของ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ โดยพี่ๆ คอยสนับสนุน ให้คำปรึกษา และแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมน้องๆ ในชุมชนอย่างสม่ำเสมอ “ช่วง 2-3 ทุ่มคนเยอะที่สุด ชาวบ้านที่นี่นับถือศาสนาอิสลาม พอละหมาดเสร็จจะแวะมาหาอะไรกิน เมื่อก่อนถ้าจะกินน้ำชา ต้องออกไปนอกหมู่บ้าน 7 กิโลเมตร ไปกลับปาเข้าไป 14 กิโลเมตรเลย”
“ช่วงคนเยอะผมยังต้องมาเป็นเด็กเสิร์ฟ ชงน้ำชา ล้างจานด้วย ลูกค้ามีทุกวัย โดยเฉพาะวัยรุ่นเยอะเลย” นายอมร นุ้ยขาว ผู้ใหญ่บ้านบ้านคลองเขม้า ผู้สละที่ดินข้างบ้านให้เยาวชนเปิดร้าน ยืนยันกระแสนิยมของร้านน้ำชา อบย.และเล่าต่อว่า “เดิมเป็นร้านเล็กๆ อยู่หัวถนน ขายลูกชิ้นปิ้ง ยำมาม่า กับน้ำชา ขายดีจนการจราจรติดขัด ชาวบ้านก็บ่นว่าอันตราย เพราะตอนนั้นตั้งร้านหน้าโรงเรียนด้วย เลยให้เยาวชนมาใช้ที่ดินข้างบ้าน ตั้งร้านถาวรเลย” ผู้ใหญ่บ้าน เล่าไปพลางยิ้มไปพลาง
“ทีแรกมีแค่ 2 ซุ้ม ตอนนี้ขยาย 6 ซุ้มอย่างที่เห็นค่ะ” ด้า อวด ความสำเร็จของกลุ่มเยาวชน
น้ำชา กาแฟ และโรตี เป็นเมนูเด็ดยอดฮิตของที่นี่
“โรตี หนูฝึกทำเอง คิดสูตรเอง ลองผิด ลองถูก จนมาเป็นแบบนี้ อร่อยมาก คนติดใจกัน” นางสาวภนิดา ไร่ใหญ่ หรือ ขวัญ สาวน้อย อบย. อีกคน กล่าว
“ที่นี่มีอาหารตามสั่งทุกอย่าง คนชอบสั่งผัดไท ข้าวผัด และยำมาม่า” ขวัญ แจกแจงเมนูเด็ดร้านน้ำชาอบย. ให้ฟัง
“ขวัญเหมาทำโรตี เพราะฝัด(ตีแป้งโรตีให้เป็นแผ่น)เก่ง ม๊ะก็เก่งแต่เพิ่งหัด สองคนนี้เหมาทำโรตี” ด้า ได้ทีแซวเพื่อนร่วมก๊วน ไม่วายชื่นชม “ม๊ะ” นางสาวนริศรา ไร่ใหญ่ น้องสาวของขวัญ ด้วยเพิ่งได้รับการฝึกฝนจากขวัญ เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งคู่เป็นเยาวชนที่ออกไปเรียนอกหมู่บ้านเช่นกัน แต่ด้วยความมุ่งมั่น หลังเลิกเรียนพวกเธอจะรีบกลับมาทำหน้าที่ฝัดแป้งโรตีทันที
แต่ละวันเด็กๆ จะผลัดเปลี่ยนกันมาทำหน้าที่ดูแลร้านน้ำชา อบย. ช่วยกันทำทุกหน้าที่ตั้งแต่ต้อนรับลูกค้า รับรายการอาหาร เสิร์ฟอาหาร เก็บจาน ล้างจานและทำความสะอาดร้าน
“ไม่ชอบทำบัญชี ยุ่ง งง...” ด้าบ่น แต่หลังจากพี่ๆ พีดีเอเข้ามาแนะนำสอนวิธีทำบัญชี ตอนนี้ทำบัญชีรายรับ รายจ่ายทุกวัน เพราะพี่ๆ จะมาตรวจ (หัวเราะ) แล้วต้องคอยเช็คยอดของที่ใช้ในแต่ละวันด้วย เช่น นมข้นวันหนึ่งใช้กี่กระป๋อง อาทิตย์หนึ่งใช้เท่าไร ทำเป็นสถิติ พี่ๆ แนะนำว่าจะได้ซื้อของมาสำรองไว้ได้ ไม่ต้องซื้อปลีกทีละขวดสองขวด ลดต้นทุนลงไปอีก
ด้าน คุณภาพและรสชาติอาหาร ด้า บอกว่า สบายใจหายห่วง เพราะมี นางทิพย์ ไร่ใหญ่ แม่ของม๊ะ ผู้ใหญ่ใจดีฝีมือระดับแม่ครัวโรงแรมหรูแถวอ่าวนางเมืองกระบี่ มาถ่ายทอดเสน่ห์ปลายจวัก และช่วยดูแลคุณภาพของอาหาร
“เรื่องลูกค้าไม่ห่วง ลูกค้าชอบร้านเรา เพราะเยาวชนทำเอง อร่อย เยอะ คุ้ม แล้วราคาถูก” ด้าเล่า
แม่ทิพย์ ระบายความรู้สึกว่า ตนมีความสุขที่ได้อยู่กับลูก ถึงแม้รายได้จะน้อยกว่าสมัยทำงานในโรงแรมหรู “บางคนมีเงินเยอะ แต่ไม่มีความสุขนะ เราได้เงินน้อยก็จริง แต่มีความสุขมากกว่า เป็นความสุขที่เงินซื้อไม่ได้ เราได้อยู่ใกล้ลูก ลูกรู้สึกอบอุ่น เราก็อุ่นใจด้วย แล้วเป็นประโยชน์กับเด็กๆ เพราะได้สอนเขาทำอาหาร ให้มีวิชาความรู้ติดตัว โตขึ้นไปทำมาหากินได้”
“เด็กๆ จากที่เคยเที่ยวเล่นไปวันๆ ตอนนี้มีความรับผิดชอบมากขึ้น ทำตรงนี้เขามีรายได้ เห็นอย่างนี้ก็ดีใจ คนในหมู่บ้านไม่ต้องขี่รถไปกินน้ำชาไกลๆ มาที่นี่ได้คุยกัน เด็กก็ได้คุยกับผู้ใหญ่ รู้จักสนิทสนมกันมากขึ้น เรื่องทำครัว แต่ก่อนเด็กๆ ไม่สนใจ ทำไม่เป็น แต่พอมีร้านน้ำชา เป็นหน้าที่ต้องมาเรียนรู้ฝึกทำอาหารทุกวัน หลังๆ เด็กๆ สนใจมากขึ้น มาถามว่าอาหารอันนี้ทำอย่างไร ต้องใส่อะไรบ้าง เห็นอย่างนี้ก็ดีใจ เขาเรียนรู้ และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์” แม่ม๊ะ ชื่นชมด้วยรอยยิ้ม
นอกจากผู้ใหญ่รอบข้างมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ แล้ว ตัวเด็กๆ เองก็รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพวกเขาด้วย
ด้า เปิดใจว่า “ทำงานนี้สนุกค่ะ หนูเรียนบัญชีอยู่แล้ว อยู่ที่นี่ได้ทำบัญชี รู้สึกทำบัญชีคล่องขึ้น แล้วก็ได้ฝึกทำงานอย่างอื่นด้วย เช่น การดูแลลูกค้า”
“ทำงานแล้วทำให้เป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีความรับผิดชอบ และมีความรู้ด้านการทำธุรกิจมากขึ้น เอาไปใช้ประกอบอาชีพได้ในอนาคตค่ะ” ม๊ะ รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงไปมากไม่แพ้ด้า
ในอนาคตเด็กๆ วางแผนที่จะพัฒนาร้านน้ำชา อบย. ให้ดีขึ้น และนำกำไรที่ได้ไปทำธุรกิจอื่น ๆ เช่น การทำร้านค้าชุมชน “คิดจะทำร้านค้าชุมชน เพราะทำร้านน้ำชาต้องไปซื้อสินค้าจากที่อื่นอยู่แล้ว ชาวบ้านต้องไปซื้อของในเมือง ถ้ามีร้านค้าชุมชนจะช่วยชาวบ้านให้ไม่ต้องไปซื้อของไกลๆ และเราได้ประโยชน์ด้วย” ด้า เล่าถึงความฝันของกลุ่มในอนาคต
ร้านน้ำชา อบย. บ้านคลองเขม้า ไม่ได้เป็นเพียงแต่ร้านน้ำชาธรรมดาที่คนเข้ามาเพื่อกินอาหาร หรือดื่มน้ำชาอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังถือเป็นโรงเรียนขนาดเล็กให้เด็กๆ ได้มาเรียนรู้วิธีทำอาหาร การดูแลลูกค้า ทำบัญชี และการจัดการด้านธุรกิจ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งพบปะของคนทุกวัยในบ้านคลองเขม้า เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกันระหว่างคนในชุมชน ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจชุมชนฝีมือเยาวชนที่ “น่าชื่นชม” เป็นพลังคิดเชิงบวกที่ผู้ใหญ่ควรช่วยกันส่งเสริมให้ยั่งยืน
ติดต่อข้อมูล และภาพเพิ่มเติม วิภาวี (แอมป์) ทีมงานสื่อสานสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล โทร. 02-270-1350