ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 1, 2009 15:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ดังต่อไปนี้ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR) ที่ระดับ ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตสากลเป็นลบ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F2’ - อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ระดับ ‘C’ - อันดับเครดิตสนับสนุนที่ระดับ ‘2’ - อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ที่ระดับ ‘BBB-’ (BBB ลบ) - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันที่ระดับ ‘BBB+’ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ระดับ ‘BBB’ - อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวที่ระดับ ‘AA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตภายในประเทศ ของธนาคารที่มีเสถียรภาพ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F1+(tha)’ และ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ระดับ ‘AA-(tha)’ (AA ลบ (tha)) อันดับเครดิตของ SCB สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของผลกำไรจากการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไร เนื่องจาก SCB เป็นหนึ่งในธนาคารที่มีเครือข่ายการให้บริการแก่ลูกค้าบุคคลที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทย โดย SCB มีสัดส่วนสินเชื่อเพื่อการอยู่อาศัยที่ 37% ของสินเชื่อรวม รวมทั้งมีส่วนแบ่งสินเชื่อภาคธุรกิจที่สูง ในขณะที่ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและสถานะเงินกองทุนของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามธนาคารยังคงมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้านคุณภาพสินทรัพย์ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความเป็นไปได้อย่างสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหากมีความจำเป็นเนื่องจากความสำคัญของธนาคารที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ฟิทช์กล่าวว่า หลังจากธนาคารประกาศผลประกอบการที่แข็งแกร่ง ปี 2551 ผลประกอบการในครึ่งแรกของปี 2552 ได้ปรับตัวลดลง 15% มาอยู่ที่ 10.8 พันล้านบาท เนื่องจากการหดตัวของสินเชื่อและการลดลงของดอกเบี้ย แม้ว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพของ SCB อยู่ในระดับค่อนข้างคงที่ที่ 49.8 พันล้านบาท หรือ 5.5% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 เมื่อเทียบกับ 50.2 พันล้านบาท หรือ 5.5% ณ สิ้นปี 2551 แต่ระดับของสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษกลับเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามสินเชื่อดังกล่าวอยู่ในระดับคงที่ในครึ่งแรกของปี 2552 ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายในการสำรองหนี้สูญจะเพิ่มขึ้นภายในอีก 6-12 เดือนข้างหน้าเนื่องจากคุณภาพของสินทรัพย์มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงตามหลังสภาพเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของ SCB ที่ระดับ 11.4% อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับผลกระทบ หากการอ่อนตัวของสภาพเศรษฐกิจยังคงมีต่อเนื่องไปจนถึงปี2553 ในขณะเดียวกันแหล่งเงินทุนหลักของ SCB มาจากฐานเงินฝากในประเทศที่แข็งแกร่ง ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งก่อตั้งโดยพระบรมราชานุญาต ในปี 2447 เป็นธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดและใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทยโดยมีส่วนแบ่งการตลาดของสินเชื่อประมาณ 13% และเงินฝากประมาณ 15% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ประมาณ 24% และกระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ประมาณ 23% SCB มีบริษัทในเครือทีประกอบธุรกิจด้านวาณิชธนกิจ การบริหารกองทุนและธุรกิจประกัน ติดต่อ: นฤมล ชาญชนะวิวัฒน์, กรุงเทพฯ +662 655 4763; Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4759

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ