กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
ยอดลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกทม. เพิ่มถึง 5 แสนราย หลังปิดรับลงทะเบียนรายใหม่เมื่อ 31 ส.ค. 52 ขณะที่การจ่ายเบี้ยยังชีพที่ผ่านมายังพบปัญหาผู้สูงอายุไม่ได้รับเงินอีก 2% กทม. เร่งสั่งเขตติดตามแก้ไขปัญหาและจ่ายเบี้ยยังชีพให้ครบโดยเร็ว ขณะที่ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ มอบสำนักพัฒนาสังคม กทม. ตรวจสอบแนวโน้มประชากรผู้สูงอายุในอนาคตเพื่อวางแผนงบประมาณในระยะยาว หากต้องรับภาระในการจ่ายเบี้ยยังชีพด้วยงบกทม. ทั้ง 100%
นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงผลการจดทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายใหม่ สำหรับผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2492 ซึ่งสำนักพัฒนาสังคม กทม. รายงานต่อที่ประชุมคณะผู้บริหาร ภายหลังจากได้เปิดรับลงทะเบียนระหว่างวันที่ 17-31 ส.ค. 52 ณ สำนักงานเขต 50 แห่งของกทม. พบว่า มีผู้สูงอายุที่แสดงความจำนงขอรับเบี้ยยังชีพเพิ่มเติมอีก 27,318 ราย จากเดิมที่ลงทะเบียนไว้ 474,219 ราย ทำให้ปัจจุบัน กทม.มีผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนในกรุงเทพมหานครประมาณ 5 แสนราย ซึ่งในปีงบประมาณ 2553 คิดเป็นจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเบี้ยยังชีพรวมเป็นเงินกว่า 27,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลช่วยเหลือเพียง 60% และกทม. ต้องสนับสนุนงบประมาณเองอีก 40%
ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ ทยา กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ผ่านมาว่า ยังมีผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนไว้จำนวน 2% ที่ยังไม่ได้รับเบี้ยยังชีพ เนื่องจากบางรายที่แจ้งลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพเป็นเงินสดมีการย้ายที่อยู่ทำให้ไม่สามารถติดต่อได้ และผู้สูงอายุบางรายเสียชีวิตแล้ว กรณีโอนเงินเข้าบัญชีพบว่า บางบัญชีถูกปิดไปแล้ว หรือเลขบัญชีไม่ถูกต้อง หรือเปิดบัญชีผิดประเภท เช่น เป็นบัญชีฝากประจำ เนื่องจากต้องเป็นบัญชีสะสมทรัพย์ (ออมทรัพย์) เท่านั้น จึงจะโอนเงินเข้าได้ นอกจากนี้บางรายชื่อเจ้าของบัญชีไม่ถูกต้อง และเลขที่บัญชีเปลี่ยนจากระบบ 7 หลัก เป็น 10 หลัก ส่วนกรณีที่ผู้สูงอายุขอเปลี่ยนวิธีการรับเงิน จากรับเงินสดเป็นโอนเงินเข้าบัญชี หรือโอนเงินเข้าบัญชีเป็นรับเงินสด ทำให้ต้องใช้เวลาในการจัดทำข้อมูลและตรวจสอบความถูกต้องใหม่ อย่างไรก็ตาม กทม. ได้กำชับให้สำนักงานเขตติดตามการจ่ายเบี้ยยังชีพอย่างใกล้ชิด อีกทั้งประสานความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุที่ถูกต้อง ทั้งวิธีการจ่ายเงิน การลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพ และการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพครบทุกคนโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ในที่ประชุม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับให้สำนักพัฒนาสังคม ตรวจสอบแนวโน้มประชากรผู้สูงอายุในอนาคตเพื่อการตรวจสอบและวางแผนงบประมาณในระยะยาว เนื่องจากในอนาคตกทม. จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น และอาจจะต้องรับภาระในการจ่ายเบี้ยยังชีพด้วยงบประมาณของตัวเอง 100%