นิทรรศการชั่วคราว “กวัก ด้าย กี่ เรื่องราว ไน ผืนผ้า” เพราะมนุษย์ไม่ได้ถักทอแต่ผ้า หากแต่ทอชีวิตลงไปด้วย .....

ข่าวทั่วไป Wednesday September 2, 2009 13:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--G Communications สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ร่วมกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจำนวน 18 แห่ง นำเสนอนิทรรศการชั่วคราว เรื่อง “กวัก ด้าย กี่ เรื่องราว ไน ผืนผ้า” โดยนำข้อมูลและผ้าทอพื้นเมืองมาจัดแสดงในรูปแบบของการเล่าเรื่องผ่านผ้าผืนต่างๆ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้พิพิธภัณฑ์เครือข่ายได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนและนำเสนอองค์ความรู้ออกสู่สาธารณชนอย่างกว้างขวาง ตอบโจทย์พันธกิจของสถาบันฯที่ ร่วมมือกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ เพื่อร่วมสร้างมาตรฐานกระบวนการเรียนรู้ และการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ผ้าทอ ไม่ใช่ของธรรมดา แต่เป็นสิ่งประดิษฐ์พันปีที่ต้องคิดค้นหาเส้นใยที่เหมาะสม มาปั่นเป็นด้าย สานขัดกันจนเป็นผืน เพื่อปกปิดร่างกายและให้ความอบอุ่นตามความจำเป็นขั้นพื้นฐาน แต่มนุษย์ไม่พอใจแค่นั้น ทุกวันนี้เราจึงเห็นลวดลาย สีสัน และเทคนิคการทอสุดล้ำลึก ยังไม่รวมแบบแผนการใช้ที่ยึดโยงชีวิตเข้ากับผืนผ้า มนุษย์จึงไม่ได้ทอแต่ผ้า หากทอชีวิตลงไปด้วย .. นี่เอง คือที่มาของเรื่องราวใน “ผ้าทอ” และ “ตัวเรา” นิทรรศการนี้เป็นการทดลองอ่านเรื่องราวผ่านผ้าพื้นเมือง ที่รวบรวมจากพิพิธภัณฑ์เครือข่ายที่ศึกษา ค้นคว้าเรื่องผ้า ไม่ว่าจะเป็น ใครเป็นคนทอผ้า? อุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้า เทคนิคในการทอผ้ารูปแบบต่างๆ เรื่อยมาจนถึง เรื่องราวของผ้ากับวิถีการดำเนินชีวิตของคนในสมัยโบราณ ทั้งเรื่องความเชื่อ พิธีกรรม และวิถีชีวิต เริ่มจากคนทอผ้ามีหน้าตาอย่างไร? ในนิทรรศการนี้เราจะได้เรียนรู้การทอผ้าจากคุณยายที่นั่งทออยู่ในห้อง เราจะเห็นโซนวิวัฒนาการของไหม “ไหม” ไม่ใช่หนอน ไหม แพ้มด แพ้แสง แพ้อากาศที่เปลี่ยนแปลง ต้องกินอาหารตลอดเวลา กินใบหม่อนอ่อนแก่ตามขนาดตัว ต้องอาศัยในที่ปลอดเชื้อ ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และความหนาแน่น ดังนั้น เราจึงไม่เห็นไหม ในนิทรรศการนี้ นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของอุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้า อาทิ “กวัก” ซึ่งนอกจากกวักจะเป็นเครื่องมือในการทอผ้าแล้ว ยังสะท้อนวิถีชีวิต ความเชื่อของผู้คน ผ่านการละเล่น “ผีนางกวัก”ด้วย และ “กี่ทอผ้า” ที่มีชีวิตแปรผันตามฤดูกาล หน้าแล้งเป็นช่วงใช้กี่ทั้งวันในการทอผ้า เนื่องจากไม่ต้องทำนา จึงเป็นช่วงทอผ้าเตรียมไว้ใช้ ทั้งผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าขาวม้า ผ้าซิ่น รวมถึงชุดที่จะใส่ดำนาครั้งต่อไป แต่เมื่อเข้าหน้าฝน กี่จะถูกพัก เพราะทุกคนจะมุ่งมั่นกับการทำนา ส่วนหน้าหนาว ซึ่งยังเป็นช่วงของการเก็บเกี่ยว แต่เมื่อมีเวลาก็จะเริ่มอิ้วฝ้าย และปั่นด้ายเตรียมไว้สำหรับหน้าแล้งที่จะมาถึงอีกครั้ง เทคนิคการทอลวดลายบนผ้า ทั้ง ขิด ยกดอก จก ก็หาดูได้ในนิทรรศการนี้ หากเราลองสังเกตผ้าดีๆ เราจะเห็นวิถีชีวิตความคิด และการจัดระเบียบของสังคม เรียนรู้เรื่องราวของหมอนขิด ชุดใส่ดำนา ผ้าปรกหัวนาค ผ้าล้อ ผ้ากั้ง ผ้าซิ่น เป็นต้น คนทอผ้ามักจะดัดแปลงการทอผสมผสานกับลวดลายดั้งเดิม จนกลายเป็นลายใหม่ได้ ความภูมิใจในฝีมือการประดิษฐ์ลายของผู้ทอ ยังสะท้อนผ่าน “หมายซิ่น” ที่ทอไว้เป็นสัญลักษณ์เฉพาะตน คล้ายลายเซ็นของศิลปินนั่นเอง ผ้าซิ่นของกลุ่มชนต่างๆมักจะอวดลวดลายไว้ด้านนอกทั้งสิ้น แต่“เพราะความงามมาจากข้างใน” “เสื้อฮี” ซึ่งเป็นชุดที่ใส่ออกงานของชาว “ไททรงดำ” หรือ ลาวโซ่ง กลับซ่อนลวดลายไว้ด้านใน เพราะเชื่อว่า ลวดลายเหล่านี้ ตนไม่ได้คิดเอง หากแต่ขโมยมาจากผี ดังนั้นต้องแอบเก็บลายไว้ข้างใน ผีจะได้ไม่มาทวงคืน นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งจากนิทรรศการชั่วคราวเรื่อง “กวัก ด้าย กี่ เรื่องราว ไน ผืนผ้า” ที่ทางสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาตินำเสนอเรื่องราวต่างๆผ่านผ้าทอที่รวบรวมจากพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นต่างๆ ก่อนที่เราเดินออกจากนิทรรศการ ผู้จัดให้แง่คิดอะไรบางอย่าง “ถ้ามองผ้าไทย แล้วเกิดคำถามว่า จะใช้ผ้าไทยอย่างไรในโลกปัจจุบัน ให้ลองอีกคำถามไหม ว่า ผ้าไทย คืออะไร ?“ เข้าร่วมชมนิทรรศการได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 11 ตุลาคม 2552 ทุกวันอังคาร — วันอาทิตย์ เวลา 10.00 — 18.00 น. ณ มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (ท่าเตียน) ไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 02 225 2777 ต่อ 403 หรือ 405 อีเมล์ info@ndmi.or.th และ เว็บไซต์ www.ndmi.or.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2667-0174-6 G Communications

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ