กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--TRIDI
สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ TRIDI ดำเนินการให้ทุนพัฒนาห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีด้าน NGN Applications เพื่อต้องการผลักดันให้เกิด NTC Telecommunications Research Lab เพื่อการวิจัยและพัฒนาด้าน NGN Applications ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมุ่งหวังให้เกิดการผลิตผลงานด้านการวิจัยเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศด้านนี้ในอนาคต
พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า การสนับสนุน NTC Telecommunications Research Lab เพื่อการวิจัยและพัฒนาด้าน NGN Applications นี้ เพื่อต้องการสร้างบุคลากรโทรคมนาคมที่มีศักยภาพมาพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ พร้อมให้การสนับสนุนภาคการศึกษา จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนด้านโทรคมนาคม ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์กลางวิชาการในภูมิภาค และสนับสนุนห้องปฏิบัติการวิจัยตามความเป็นเลิศของสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพ กทช.ตระหนักเป็นอย่างดีถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาด้าน NGN Applications และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนให้เกิดการวิจัยในสาขานี้ เพื่อรองรับความต้องการใช้งานของประชาชนและการขยายตัวของอุตสาหกรรม โดยการดำเนินงานครั้งนี้ TRIDI ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการคัดเลือกโครงการจากมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพทั่วประเทศ ที่สามารถดำเนินการต่อยอดงานวิจัยให้พัฒนาไปสู่การปฏิบัติจริง สำหรับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในครั้งนี้ TRIDI ได้ผลักดันให้เกิด ห้องปฏิบัติการวิจัย ด้าน NGN Applications อันเป็นความมุ่งหวังของ กทช. ในการผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านนี้ให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรม
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม กล่าวว่า ทุนส่งเสริมและสนับสนุนห้องปฏิบัติการวิจัย NTC Telecommunications Research Lab ด้าน NGN Applications นี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการ Excellence 2008 Plus Three โดยการเลือกให้ทุนส่งเสริมสนับสนุนด้านนี้ TRDI ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับความเชี่ยวชาญด้าน NGN Applications ซึ่งที่ผ่านมา TRIDI ร่วมดำเนินการวางแผนเพื่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดบุคลากรและผลิตนักวิจัยที่มีศักยภาพ ดังนั้นโครงการด้าน NGN Applications จึงเกิดขึ้นระหว่าง TRIDI กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในภาคการศึกษา โดยเฉพาะในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นแหล่งถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่อไป
ดร.สุพจน์ กล่าวอีกว่า ห้องปฏิบัติการวิจัย NTC Telecommunications Research Lab ด้าน NGN Applications นี้ จะเน้นการศึกษา วิจัย บริการโทรคมนาคม และการใช้ประโยชน์จากโครงข่าย NGN (Next Generation Networks) หรือโครงข่ายยุคหน้า ซึ่งเป็นโครงข่ายที่ใช้ระบบการสื่อสารข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและความเร็วสูงด้วย Internet Protocol ที่มีขีดความสามารถรองรับการใช้งานบริการได้หลากหลายรูปแบบ ดังนั้น การวิจัยและพัฒนา Applications เพื่อใช้ในการสื่อสารและรองรับบริการใหม่ๆ บนโครงข่าย NGN จึงมีความสำคัญยิ่ง ซึ่งการให้ทุนวิจัยครั้งนี้ TRIDI เชื่อว่าจะสามารถช่วยพัฒนาด้าน NGN Applications ที่มีอยู่ในปัจจุบันสำหรับการสื่อสารด้านเสียง วิดีโอ ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถขยายปรับตัวให้รองรับทางเลือกทางด้านการสื่อสารใหม่ๆ ที่ย่อมได้รับการพัฒนา และวิวัฒนาการต่อไปในอนาคตด้วย
“Next Generation Networks (NGN) จะเป็นโครงข่ายที่สามารถให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมที่หลากหลายขึ้น สามารถทำงานอยู่บนโครงสร้างพื้นฐานของโครงข่ายความเร็วสูงที่สนับสนุนคุณภาพของบริการ ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่องทั้งในสภาวะที่กำลังเคลื่อนที่หรืออยู่กับที่ การให้ทุนสนับสนุนวิจัยครั้งนี้จะสามารถช่วยในการสร้างโครงข่ายพื้นฐานในยุคหน้าให้มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งทั้งด้านเทคโนโลยี บุคลากร อนึ่งเพื่อการหลอมรวมทางด้านบริการแบบไม่มีขีดจำกัด ทั้งสภาวะการเคลื่อนที่ของผู้ใช้ (fixed-mobile convergence) และมุ่งหวังให้เป็นปัจจัยเกื้อหนุนการเกิดสังคมที่มีการประยุกต์การสื่อสารโทรคมนาคมอย่างกว้างขวาง (ubiquitous communication society) ทั้งด้านแอพพลิเคชั่น บริการ และเครือข่าย ส่วนงบประมาณการสนับสนุนโครงการสถานวิจัยเทคโนโลยีเครือข่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้าน NGN Applications ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และกองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ภายในวงเงินประมาณ 4.6 ล้านบาท จากวงเงินรวมของโครงการสนับสนุนห้องปฏิบัติการวิจัยสำหรับสถาบันการศึกษา 9 สถาบัน ทั้งโครงการประมาณ 40 ล้านบาท การให้การสนับสนุนในลักษณะนี้ จะเป็นก้าวสำคัญสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ ให้ก้าวสู่ความเป็นมาตรฐานสากลได้อย่างยั่งยืน สมดังเจตนารมณ์ในการพัฒนากิจการโทรคมนาคม” ดร.สุพจน์ กล่าวในที่สุด
รศ.ดร. บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยหลักของภาคใต้ และเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับภูมิภาคเอเชีย ซึ่งทำหน้าที่ผลิตบัณฑิต บริการวิชาการ และทำนุบำรุงวัฒนธรรม โดยมีการวิจัยเป็นพื้นฐานเพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัยวิจัย (Research University) ดังนั้นการได้รับการสนับสนุนทางด้านการวิจัย ผ่านทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในรูปแบบของห้องปฏิบัติการวิจัย จึงเป็นเรื่องน่ายินดีและจะก่อให้เกิดการพัฒนาต่อไปในอนาคตในสาขาวิจัยที่มหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ โดยเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2551 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ TRIDI ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ร่วมกัน โดย TRIDI จะให้ทุนส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยเพื่อให้มหาวิทยาลัยพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศตามความชำนาญในด้าน NGN Applications
รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มุ่งเน้นทีจะผลิตนักวิจัย วิศวกรและผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพในระดับสากล ดังนั้นการมี NTC Telecommunications Research Lab เพื่อการวิจัยและพัฒนาด้าน NGN Applications จะช่วยให้การพัฒนาบุคลากรและผลงานทางการวิจัยเป็นไปได้และประสบความสำเร็จมากขึ้น และผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ TRIDI และสำนักงานกทช. ได้ตระหนังถึงความสำคัญของการพัฒนาด้าน NGN ซึ่งเป็นเครือข่ายเพื่อการหลอมรวม (Convergence Networks) ที่ในอนาคตผมเชื่อว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นตัวขับเคลื่อนในการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านโทรคมนาคม
“ในด้านการสนับสนุนทุนแก่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทางมหาวิทยาลัยได้นำมาพัฒนาและจัดหาครุภัณฑ์ โดยสร้างเครือข่ายความเร็วสูงเพื่อเชื่อมต่อทั้งในและนอกประเทศ ที่จะเพิ่มศักยภาพในการศึกษาวิจัย เกี่ยวกับ NGI Protocol, NGN Applications, Multimedia Communications, Web — based Applications, ระบบ Interactive E — learning รวมทั้ง Wireless Sensor Network ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์สำหรับการเรียนการสอนและการวิจัยเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้สถานวิจัยฯ แห่งนี้ ยังเป็นเครือข่ายเพื่อการทดสอบ การให้บริการ และการสาธิตการใช้งาน ซึ่งจะเป็นการพัฒนาบุคลากรและสนับสนุนภาคเอกชนในวงการอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืนต่อไป” รศ.ดร.ชูศักดิ์ กล่าวสรุป