สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ฯ ยื่นหนังสือ รมว.สาทิตย์ ย้ำจุดยืนขอให้ทบทวน ร่าง พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ

ข่าวบันเทิง Thursday September 3, 2009 13:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--เจ เอส แอล สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ นำโดย นางจำนรรค์ ศิริตัน หนุนภักดี นายกสมาพันธ์ฯ พร้อมด้วยผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ ผู้บริหาร และกรรมการที่ปรึกษาสมาพันธ์ฯ ได้รวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือ “ขอเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบ กิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ....” แก่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาร่าง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เพื่อให้มีการพิจารณาทบทวนและแก้ไข ร่างพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯในบางมาตรา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับการประกอบวิชาชีพ และการดำเนินกิจการวิทยุและโทรทัศน์ในอนาคต ก่อนนำเข้าพิจารณา ในวาระที่ 2 ของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป ประมาณเดือนตุลาคม 2552 นี้ สมาพันธ์ฯในฐานะองค์กรวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกอบกิจการ ผู้ผลิตรายการ ดารา นักร้อง ผู้จัดรายการ ผู้ดำเนินรายการ และบุคคลที่ทำหน้าที่ต่างๆ ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ได้ดำเนินการ ยื่นหนังสือเสนอความคิดเห็นต่อร่างพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เป็นครั้งที่ 2 แล้ว หลังจากได้เคยเข้ายื่นหนังสือเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อร่างพรบ.ฉบับนี้ ต่อประธานคณะกรรมการธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ แล้ว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2552 และคณะกรรมาธิการฯ ก็ได้มีการประชุมพิจารณาร่างพรบ. ดังกล่าวทุกวันพฤหัสบดี แต่เนื้อหาล่าสุดของร่างพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯพิจารณาอยู่ พบว่ายังมิได้มีการพิจารณาข้อคิดเห็นและข้อเรียกร้องของสมาพันธ์ฯเลย สมาพันธ์ฯจึงได้มารวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนอีกครั้ง ทั้งนี้ สาระสำคัญที่สมาพันธ์ฯ เสนอความคิดเห็น คือ จำนวนและองค์ประกอบของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามมาตรา 6 ขอให้มีจำนวน 15 คน โดยให้มีการคัดเลือกผู้ที่มีวิชาชีพหรือประสบการณ์ด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงจากเดิม 1 คนเป็น 2 คน และกิจการวิทยุโทรทัศน์จากเดิม 1 คนเป็น 2 คนเช่นกัน ทั้งนี้ ให้กลุ่มวิชาชีพคัดเลือกกันเอง ไม่นำกลุ่มผู้มีความรู้ (สถาบันการศึกษา) มารวมคัดเลือกกับกลุ่มวิชาชีพ เพื่อให้ได้บุคคลที่มีผลงานและประสบการณ์ด้านวิชาชีพแต่ละสาขาใน สัดส่วนที่ชัดเจนมาเป็นคณะกรรมการฯ เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ต่อไป นอกจากนั้น สมาพันธ์ฯ ยังได้ตั้งข้อสังเกตในวิธีการประมูลคลื่นความถี่ ตามมาตรา 34 ว่าควรพิจารณาจากคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตใช้คลื่น มากกว่าการพิจารณาจำนวนเงินที่ประมูลเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ได้ผู้ที่มีคุณสมบัติในการวางแผนบริหารจัดการที่ดี มีความเป็นมืออาชีพ ระบบตรวจสอบบัญชีได้มาตรฐาน อีกทั้ง ในประเด็นคณะกรรมการบริหารกองทุนตามมาตรา 48 และคณะกรรมการตรวจสอบการบริหารเงินของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการฯ ตามมาตรา 46 นั้น เสนอให้มีตัวแทนผู้ประกอบการวิทยุ-โทรทัศน์ ร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพัฒนากิจการด้านนี้ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ