กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--สกย.
สกย. ชี้เกษตรกร จ.เชียงรายสนใจขยายปลูกยางพาราแทนสวนไม้ผลคาด 2 ปีมีพื้นที่ปลูกกว่า 2 แสนไร่ หลังพบต้นยางในโครงการยางล้านไร่เติบโตดีได้มาตรฐาน
นายภิรมย์ กิ่งเนตร ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง(สกย.) จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรในหลายพื้นที่ของภาคเหนือสนใจเข้ารับการอบรมความรู้เรื่องการปลูกยางที่ สกย.จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสอบถามเกษตรกรเหล่านั้นพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องการเปลี่ยนไปปลูกยางพาราแทนการทำพืชไร่ หรือสวนไม้ผล เช่น ลิ้นจี่ ลำไย ที่มีปัญหาราคาตกต่ำในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เพราะเห็นตัวอย่างจากสวนยางภาคเหนือที่ปลูกมาตั้งแต่ปี 2531-2532 ปัจจุบันให้ผลผลิตและทำรายได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่สวนยางของเกษตรกรในโครงการยางพารา 1 ล้านไร่ซึ่งปลูกมาตั้งแต่ปี 2547-2549 ต้นยางมีการเจริญเติบโตดีได้มาตรฐาน รวมถึงการตอบรับจากภาคเอกชนหลายแห่งที่เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปยางแผ่น ซึ่งคาดว่าภายใน 1-2 ปีข้างหน้าพื้นที่ปลูกยางพาราของ จ.เชียงรายจะขยายจาก 108,000 ไร่ เพิ่มเป็น 200,000 ไร่ อีกทั้งมีความเป็นไปได้ว่าพื้นที่ปลูกยางพาราของ จ.เชียงรายอาจขยายเพิ่มสูงถึง 1 ล้านไร่ได้ ในกรณีที่มีการเปิดใช้เส้นทางหมายเลข 3 (R3) เชื่อมจาก อ.แม่สาย ของไทยผ่านประเทศพม่า และจีน ซึ่งทำให้การขนส่งยางพาราไปจำหน่ายยังประเทศจีนที่เป็นผู้นำเข้ายางพารารายใหญ่ของโลกมีต้นทุนที่ลดลงและใช้เวลาน้อยลงด้วย
“แม้ขณะนี้สถานการณ์ราคายางพารายังไม่มีความแน่นอน แต่จากการสอบถามเกษตรกรในพื้นที่ ส่วนใหญ่คิดว่า หากราคายังอยู่ที่ระดับกิโลกรัมละ 50 บาทขึ้นไป พวกเขาก็อยู่ได้และเชื่อมั่นว่ายางพาราเป็นพืชที่มีอนาคตซึ่งจะทำให้พวกเขามีรายได้ที่ดีกว่าการปลูกพืชไร่ หรือไม้ผลบางชนิดเหมือนที่ผ่านมา เกษตรกรส่วนใหญ่จึงต้องการให้ภาครัฐขยายโครงการส่งเสริมปลูกยางพาราในภาคเหนือลักษณะเดียวกับโครงการยางล้านไร่เพิ่มขึ้น” นายภิรมย์กล่าว
ผอ. สกย. จังหวัดเชียงราย กล่าวเพิ่มเติมว่า หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังอยู่ระดับที่ 70 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาเรลล์ หรือสูงกว่านี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำยางดิบทรงตัวที่ กก.ละ 50-60 บาท หรือขยับสูงถึง กก.ละ 80 บาท เพราะเมื่อราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจะทำให้ความต้องการใช้ยางธรรมชาติเพื่อทดแทนการใช้ยางสังเคราะห์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับขณะนี้อุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศจีนและอินเดียมีการฟื้นฟูตัวอย่างต่อเนื่องจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความต้องการใช้ยางธรรมชาติขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน คาดว่าในอนาคตยางพาราจะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ทำรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรในภาคเหนืออย่างแน่นอน