กระทรวงพลังงาน ชื่นมื่น เจรจาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศไทยและสปป.ลาว มีความคืบหน้า สปป. ลาวเสนอขายไฟฟ้าพลังน้ำต้นทุนต่ำให้แก่ไทยอีก 7 โครงการ

ข่าวทั่วไป Monday January 30, 2006 10:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--สนพ.
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) มีการประชุมระหว่างคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน มีนายพรชัย รุจิประภา รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานฯ กับคณะกรรมการนโยบายพลังงานและไฟฟ้าแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (CDEP) ซึ่งมีนายสุกานห์ พงษ์สวัสดิ์ (MR. Soukanh Phongsavath) ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและหัตถกรรม เป็นประธาน พร้อมกับคณะผู้ติดตาม
ที่ประชุมได้พิจารณาความคืบหน้าของโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว จำนวน 7 โครงการ กำลังผลิตทั้งสิ้น 3,849 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโครงการพลังน้ำ 6 โครงการ ได้แก่ น้ำงึม 2 กำลังการผลิต 615 เมกะวัตต์ น้ำงึม 3 กำลังการผลิต 460 เมกะวัตต์ น้ำเงี้ยบ กำลังการผลิต 260 เมกะวัตต์ น้ำเทิน 1 กำลังการผลิต 474 เมกะวัตต์ เทิน-หินบุนส่วนขยาย 250 เมกะวัตต์ และเซเปียน-เซน้ำน้อย กำลังการผลิต 390 เมกะวัตต์ และโครงการหงสาลิกไนต์อีก 1 โครงการ กำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ โดยรัฐบาลลาวได้มีการรายงานถึงสถานะของโครงการต่างๆ ให้แก่ ฝั่งไทยรับทราบ
นายพรชัย รุจิประภา รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานด้านเทคนิคเพื่อพิจารณารายละเอียด ระยะเวลา ขั้นตอนการก่อสร้าง และจุดรับไฟฟ้าที่เหมาะสมในฝั่งไทยของโครงการใน สปป.ลาวทั้ง 7 โครงการ ตลอดจนความพร้อมของโครงการในการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้กับประเทศไทย เพื่อฝ่ายไทยจะได้นำมาใช้ในการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า และกำหนดในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ได้อย่างชัดเจน โดยเรื่องนี้จะมีการนำไปประชุมกันอีกครั้ง ณ สปป.ลาว ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2549 นี้ รวมถึงหลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อปรับปรุงบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่เดิมฝ่ายไทยกำหนดการซื้อขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จำนวน 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2549 ให้เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับศักยภาพโครงการโรงไฟฟ้าที่ สปป.ลาว จะพัฒนาขึ้นในอนาคต (ประมาณ 4,000-5,000 เมกะวัตต์)
รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวหากดำเนินการได้ตามแผนจะเป็นประโยชน์ทั้งฝั่งไทยและฝั่งสปป.ลาว (Win-Win) เพราะนอกจากจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในฝั่งลาวแล้ว ยังจะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้กับประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือที่คาดว่าในอนาคตจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น รวมถึงส่งผลดีต่อราคาค่าไฟฟ้าเพราะการใช้พลังน้ำที่มีต้นทุนต่ำจะทำให้ค่าไฟถูกลงและไม่ต้องพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลได้ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบ้านพี่เมืองน้องระหว่างไทยและลาวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ