กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
กระทรวงการคลังได้จัดพิธีเปิดแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 อย่างเป็นทางการในวันศุกร์ที่ 4 กันยายน 2552 เวลา 8.30 - 12.00 น. ณ ห้อง Grand Diamond Ballroom อาคารอิมแพคคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดงาน และมีผู้เข้าร่วมงานฯ จากหน่วยภาครัฐ ซึ่งประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหน่วยงานภาคเอกชน ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน และสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ รวมประมาณ 1,000 คน
โดยมีสาระสำคัญของพิธีเปิดแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 สรุปได้ ดังนี้
1. การจัดงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนได้รับทราบข้อมูลโครงการ รวมทั้งแผนการดำเนินงานในด้านต่างๆ อย่างทั่วถึง และเร่งรัดหน่วยงานเจ้าของโครงการ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรวงเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ในรอบแรก จำนวน 200,000 ล้านบาท ให้สามารถเริ่มดำเนินงานและปฏิบัติงานได้ตามกรอบระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีกำหนด รวมทั้งการสร้างความเข้าใจในกระบวนการและขั้นตอนในการดำเนินโครงการ ระบบการเบิกจ่าย และกระบวนการติดตามประเมินผลของโครงการ เพื่อให้การดำเนินโครงการและการใช้จ่ายเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ได้มีการเปิดตัว Website “www.TKK2555.com” (ไทยเข้มแข็ง 2555) อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 รวมทั้งแผนการดำเนินงานให้สาธารณชนและสื่อมวลชนสามารถใช้ในการติดตามความก้าวหน้าของ การดำเนินโครงการ รวมทั้งร่วมตรวจสอบการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 กับหน่วยงาน ของทางราชการเพื่อให้การใช้จ่ายเงินภายใต้แผนโครงการต่างๆ เป็นไปอย่างโปร่งใส
2. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานเปิดแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 โดยกล่าวชี้แจงถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ส่งผลให้ภาคการผลิต ภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และภาคการบริโภครวมทั้งการลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง และทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชะลอตัวและเริ่มขยายตัวในอัตราที่ติดลบ ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 โดยรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยได้จัดทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ในระยะเร่งด่วนที่เรียกว่า “แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 1” เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยการช่วยเหลือด้านรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย และการลดการใช้จ่ายให้แก่ภาคครัวเรือนที่มีรายได้น้อย รวมทั้ง ลดรายจ่ายด้านการศึกษาของนักเรียนในโครงการเรียนฟรี ซึ่งมาตรการดังกล่าว ช่วยลดผลกระทบให้กับประชาชนได้ในระยะสั้น
อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะแรกยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกในอนาคต ยังมีความไม่แน่นอน ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นจะต้องดำเนินมาตรการเศรษฐกิจในระยะปานกลางถึงระยะยาว โดยมุ่งเน้นการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในสาขาต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน และการลงทุนต่อเนื่องของภาคเอกชน รวมทั้งเป็นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว เพื่อเตรียม ความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลกได้ทันทีที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 เห็นชอบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 หรือแผนปฏิบัติ การไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งเป็นการลงทุนในช่วงระหว่างปี 2553-2555 วงเงินรวม 1.43 ล้านล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย การลงทุนในสาขาเศรษฐกิจและสังคมที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศใน 7 แผนงานหลัก ซึ่งสามารถแสดงดัชนีชี้วัดประสิทธิผลหลังการดำเนินมาตรการได้ ดังนี้
1) การสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพทาง ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม: เพิ่มพื้นที่ชลประทานจาก 24.5 ล้านไร่ เป็น 25.6 ล้านไร่ และลดจำนวนผู้ประสบอุทกภัยเฉลี่ย 400,000 รายเหลือ 40,000 ราย
2) การปรับปรุงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ : เพิ่มสัดส่วนถนนลาดยางภายใต้การดูแลกรมทางหลวงชนบทจาก 83% เป็น 100% ทั่วประเทศ และลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP จาก 19% เป็น 15%
3) การสร้างศักยภาพทางการท่องเที่ยว : เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่งบประมาณจาก 8.9 ล้านคน เป็น 10.7 ล้านคน
4) การสร้างรายได้ใหม่จากเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ : เพิ่มสัดส่วนรายได้ต่อ GDP ของอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์จาก 12% เป็น 20%
5) การพัฒนาคุณภาพการศึกษา : ลดจำนวนนักเรียนผู้ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ทั้งหมด 160,330 คน และลดจำนวนโรงเรียนที่ต่ำกว่ามาตรฐาน 2,900 แห่ง เหลือ 0 แห่ง รวมทั้งลดสัดส่วนจำนวนนักเรียนต่อคอมพิวเตอร์จาก 38:1 เป็น 10:1
6) การปฏิรูปมาตรฐานระบบสาธารณสุข : เพิ่มอัตราผู้ป่วยในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขระดับตำบลจาก 40% เป็น 60% และเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยทั่วประเทศจาก 60,000 เตียง เป็น 70,000 เตียง
7) การสร้างอาชีพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระดับชุมชน : เพิ่มรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยในพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้จาก 64,000 บาทต่อปี เป็น 120,000 บาทต่อปี
ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการดังกล่าวจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 ล้านคน โดยรัฐบาลขอยืนยันความพร้อมที่จะสนับสนุนและผลักดันการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ให้ขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
3. นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ชี้แจงถึงแนวทางการปฏิบัติงานภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 โดยรัฐบาลให้ความสำคัญในกระบวนการจัดทำและกลั่นกรองโครงการ ที่มีความพร้อมในการดำเนินงาน และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ทั้ง 7 ด้าน นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการกำกับการดำเนินงานของโครงการที่ได้รับอนุมัติให้เป็นไปอย่างโปร่งใส่ และมีการใช้จ่ายเม็ดเงินลงทุนอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด โดยมีจัดทำระบบการติดตามโครงการ รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลดำเนินงานผ่านเว็บไซท์ไทยเข้มแข็ง นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการติดตามและตรวจสอบจากคณะกรรมการอิสระเพื่อติดตามและเร่งรัดการดำเนินโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 โดยมี นายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน และมีกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน
สำหรับแหล่งเงินลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ดำเนินการจัดหาจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาสนับสนุนการดำเนินโครงการ โดยการกู้เงินตามกฎหมายบริหารหนี้สาธารณะและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การใช้เงินรายได้รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนกับรัฐบาลด้วย สำหรับกรอบวงเงินกู้ที่จะนำมาสนับสนุนของแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งนั้น จะประกอบด้วย วงเงินกู้ภายใต้
พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 วงเงิน 200,000 ล้านบาท และวงเงินกู้ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ. .... วงเงิน 400,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีวงเงินกู้ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะที่จะนำมาใช้สนับสนุนการลงทุนอีกส่วนหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการจัดสรรวงเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ในรอบแรกไปแล้วภายใต้กรอบวงเงิน 199,960 ล้านบาท สำหรับโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555
ที่มีความพร้อมและสามารถเริ่มดำเนินการได้ทันทีในเดือนกันยายน 2552
4. นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ของ 4 กระทรวงหลัก ซึ่งได้รับการจัดสรร งบลงทุนภายใต้ปฏิบัติการไทยเข้มแข็งสูงที่สุด ได้กล่าวสรุปรายละเอียดโครงการที่สำคัญของกระทรวงเพื่อเปิดตัวโครงการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเป็นทางการ ดังนี้
4.1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับการจัดสรรงบลงทุนในรอบแรกจำนวน 48,078 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการที่สำคัญ คือ
? โครงการการจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและก่อสร้างระบบส่งน้ำ ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณแหล่งน้ำต้นทุนและพื้นที่ระบบชลประทาน บรรเทาการขาดแคลนน้ำ เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค วงเงิน 20,232 ล้านบาท
? โครงการการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำโดยปรับปรุงระบบชลประทานในการส่งน้ำและระบายน้ำในพื้นที่ชลประทานเดิม 24 ล้านไร่ครอบคลุมทั่วประเทศ วงเงิน 17,224 ล้านบาท
4.2 กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการจัดสรรงบลงทุนในรอบแรกจำนวน 45,389 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการที่สำคัญ คือ
? โครงการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบ เป็นการพัฒนาและอบรมครูในสาขาต่างๆ ให้ตรงความต้องการของโรงเรียน โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และเป็นการเพิ่มสัดส่วนของครูต่อนักเรียนในอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน วงเงิน 6,989 ล้านบาท
? โครงการปัจจัยสนับสนุนด้านการศึกษา เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษา
และห้องสมุดโรงเรียนทุกแห่ง รวมทั้งจัดตั้งศูนย์บริการ ICT (Data Center) สำหรับนักเรียนทั่วประเทศ
วงเงิน 7,949 ล้านบาท
4.3 กระทรวงคมนาคม ได้รับการจัดสรรงบลงทุนในรอบแรกจำนวน 39,900 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการที่สำคัญ คือ
? โครงการถนนไร้ฝุ่น เป็นการพัฒนาโครงข่ายระบบทางหลวงชนบททั่วประทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการขนส่งสินค้าและบริการ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าในภาคการเกษตรและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท วงเงิน 14,821 ล้านบาท
? โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ของ รฟม. เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ
และขยายการให้บริการของโครงข่ายรถไฟฟ้า และสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ
รวมระยะทางประมาณ 23 กิโลเมตร วงเงิน 785 ล้านบาท
4.4 กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการจัดสรรงบลงทุนในรอบแรกจำนวน 11,515 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการที่สำคัญ คือ
? โครงการพัฒนาและปรับปรุงโรงพยาบาลระดับจังหวัด (ตติยภูมิ) วงเงิน 294 ล้านบาท โดยเป็นการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารโรงพยาบาล และการจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อยกระดับมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ทั่วประเทศ
? โครงการพัฒนาและปรับปรุงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (สถานีอนามัย) วงเงิน 1,534 ล้านบาท โดยเป็นการก่อสร้างและปรับปรุงสถานีอนามัย และการจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อยกระดับมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการด้านสาธารณสุขในการดำเนินการดูแลรักษาและป้องกันโรคในระดับชุมชนในพื้นที่ทั่วประเทศ
5. รัฐบาลมั่นใจและเชื่อมั่นว่า โครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในสาขาต่างๆ ที่จะเริ่มดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 เป็นต้นไป จะช่วยกระตุ้นให้เกิด
การลงทุนและการจ้างงานภายในประเทศ รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐบาล และก่อให้เกิดการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กระจายไปในภูมิภาคและท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งจะก่อให้ เกิดผลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป รวมทั้งส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยรวมเป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมทั้งยังจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในระยะยาว
? โครงการงานบำรุงรักษาทางหลวง เพื่อยกระดับมาตรฐานโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศและ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าและบริการ วงเงิน 14,034 ล้านบาท
? โครงการก่อสร้างถนนสาย ฉช.3001แยก ทล. 314 — อ. ลาดกระบัง งานปรับปรุงและขยายถนนเดิมเป็นผิวจราจร เพื่อยกระดับมาตรฐานโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าและบริการ วงเงิน 100 ล้านบาท
? โครงการถนนสายต่อเชื่อมราชพฤกษ์-ถนนกาญจนาภิเษก งานก่อสร้างถนนขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 4.600 กิโลเมตร และก่อสร้างทาแยกต่างระดับบริเวณจุดตัดถนนกาญจนาภิเษก เพื่อยกระดับมาตรฐานโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าและบริการ วงเงิน 380 ล้านบาท