สกว.หนุน ม.มหาสารคามทำวิจัย หวังยกระดับคุณภาพชีวิต-พัฒนาอีสานเต็มรูปแบบ

ข่าวทั่วไป Tuesday April 19, 2005 15:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--สกว.
สกว.จับมือ มหาสารคาม หนุนคณาจารย์ นักศึกษาตรี-เอก ทำวิจัย หวังนำงานวิจัยใช้ประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่นภาคอีสานอย่างแท้จริง ที่สำคัญช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น
ดร.สินธุ์ สโรบล ผู้ประสานงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว.สำนักงานภาค เปิดเผยว่า ขณะนี้ สกว.สำนักงานภาคได้ลงนามในทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สกว.สำนักงานภาค และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ในการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นภาคอีสานขึ้น ทั้งนี้เพราะทิศทางและกระบวนการทำงานตามพันธกิจของ มมส. ที่มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง ส่งเสริมการวิจัยที่สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และกระจายการบริการวิชาการสู่สังคม รวมทั้งเป็นศูนย์กลางขององค์ความรู้และพัฒนาองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นและภูมิภาค นั้นสอดคล้องกับภารกิจของ สกว. ที่ให้การสนับสนุนกระบวนการสร้างความรู้ สร้างนักวิจัยและสร้างระบบการวิจัยเพื่อตอบคำถามและเสนอทางเลือกให้สังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศให้เป็นสังคมฐานความรู้ครอบคลุมทุกระดับและทุกภาคส่วนของสังคมไทย
ดังนั้นความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยให้ภารกิจของทั้งสององค์กรบรรลุเป้าหมาย และเกิดประโยชน์กับชุมชนท้องถิ่นได้มากขึ้น โดยการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นภาคอีสานภายใต้ความร่วมมือตามข้อตกลงในข้างต้น จะให้การสนับสนุนงานวิจัยใน 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ชุมชนท้องถิ่นอีสานได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาของตนเองโดยผ่านกระบวนการวิจัย รวมทั้งให้มีการเชื่อมโยงงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เข้ากับกิจกรรมวิจัย การเรียนการสอนการบริการชุมชนและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
กลุ่มงานวิจัยอีสานศึกษา มีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือในลักษณะบูรณาการพื้นที่เฉพาะในอาณาบริเวณเขตอีสานเหนือ อีสานกลาง และเขตอีสานใต้ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสังคมของชุมชนท้องถิ่น และมีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การทำงานของพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนที่มีความเป็นท้องถิ่นซ้อนทับเขตแบบรัฐชาติ หรือชุมชนชายแดนที่มีความเชื่อด้านศิลปวัฒนธรรม อันมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวโยงกับชุมชนชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน
กลุ่มงานวิจัยด้านชาติพันธุ์วรรณาและ กลุ่มงานวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมภาคอีสาน มี เป้าหมายเพื่อนำไปสู่การเข้าใจชุมชนอย่างลุ่มลึก เป็นการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในหลากหลายมิติเน้นการเรียนรู้ เชื่อมโยงมกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสามัคคีของชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นรู้จักพื้นที่ รู้จักวิธีการใช้ทรัพยากรและรู้จักโครงสร้างชุมชน เพื่อการเข้าใจในปรากฎการทางสังคมที่ลึกซึ้ง และใช้ฐานข้อมูลในการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
กลุ่มงานวิจัยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ หมอพื้นบ้าน และสมุนไพรพื้นบ้านอีสาน กลุ่มงานวิจัยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ หมอพื้นบ้าน และสมุนไพรพื้นบ้านภาคอีสาน มีเป้าหมายเพื่อพัฒนากลไกและเครือข่ายภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านอีสานให้มีความเข้มแข็งและให้ใช้ประโยชน์ในชุมชนท้องถิ่นภาคอีสานได้จริง
ทางด้าน ศ.ดร.นายแพทย์อดุลย์ วิริยเวชกุล ราชบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ในส่วนของ มมส. นั้น มีแนวคิดพื้นฐานต่อภารกิจของมหาวิทยาลัยซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคว่า ต้องช่วยพัฒนาให้ชุมชนท้องถิ่นดีขึ้น ซึ่งในด้านหนึ่ง ทาง มมส. ให้ความสำคัญต่อการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน รวมทั้งความต้องการภูมิภาคและประเทศ
“ในระดับปริญญาตรี เราได้ ทำการสำรวจความต้องการของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมปลายในภาคอีสานทั้ง 19 จังหวัดและพัฒนาหลักสูตรตามความต้องการของเขา เพราะเด็กต่างจังหวัดมีโอกาสเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ น้อย ให้เขาได้เรียนในสิ่งที่เขาอยากเรียน ในขณะเดียวกันก็ได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาโท และเอกอีกหลายสาขา โดยพิจารณาจากสภาพปัญหาของภาคอีสานเป็นหลัก เช่น หลักสูตร แรงงานศึกษา เพื่อผลิตบุคคลากรที่จะออกไปทำงานเกี่ยวกับแรงงานของหน่วยงานภาครัฐที่มีคุณภาพเพื่อให้เกิดการจัดการดูแลแรงงานให้ดีที่สุด เพราะคนอีสานนั้นมีการไปประกอบอาชีพใช้แรงงานจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมี หลักสูตรสิ่งแวดล้อม เพราะภาคอีสานแห้งแล้ง “
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังได้เปิดหลักสูตร ปริญญาโท-เอก ด้านสิ่งแวดล้อมศาสตร์ ขึ้นเพื่อผลิตบุคคลากรที่จะออกไปทำงานแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของภาพอีสานอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานด้านการเกษตร ไปจนถึงการใช้เครื่องมือ และเทคโนโลยีต่างๆ อีกหลักสูตรหนึ่ง คือ หลักสูตรปริญญาเอกด้าน วัฒนธรรมศาสตร์ ด้วยเล็งเห็นจุดแข็งของคนอีสานที่มีอัตลักษณ์พื้นฐานที่โดดเด่นต่างไปจากคนภาคอื่นๆ นั่น คือ มีความอดทนเป็นยอด มีความภาคภูมิใจในตนเอง ในถิ่นที่อยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากวัฒนธรรมประเพณีของคนอีสานนั่นเอง ดังนั้นจึงน่าจะมีการศึกษาเพื่อดึงศักยภาพเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของคนอีสานให้ดียิ่งขึ้น
“ในส่วนของการวิจัยนั้น มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญต่อการวิจัยในทุกด้านและเห็นความจำเป็นว่าต้องมีการวิจัยพื้นฐานเพื่อสร้างความรู้ใหม่ ซึ่งนำไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการบริการ สร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรและภูมิปัญญาที่มีอยู่ จึงนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ สกว.ได้เข้ามาสนับสนุนด้านงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งน่าจะนำไปสู่การเกิดผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่นอีสานได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่การมีความเป็นอยู่ที่ดีของชาวบ้านในภาคอีสาน และสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศชาติได้อีกมาก” ศ.ดร.นายแพทย์อดุลย์ กล่าวสรุป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
โทร.0-618-6187-8 ,0-2279-9584 pr@pr-trf.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ