กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับงานสัมมนาวิชาการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) ภายใต้โครงการขยายบทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาค ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันศุกร์ที่
4 กันยายน 2552 ดังนี้
ในการสัมมนาหัวข้อ “เศรษฐกิจไทย ใกล้จะฟื้นตัวแล้วจริงหรือ” นายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้อำนวยการส่วนแบบจำลองและประมาณการเศรษฐกิจการคลัง สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยประสบกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกและวิกฤติทางการเมืองไปพร้อมๆ กัน โดยล่าสุดเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 2552 หดตัวที่ร้อยละ -4.9 ต่อปี แต่หากพิจารณาการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนโดยขจัดผลทางฤดูกาลแล้วพบว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว อันเป็นผลจากการฟื้นตัวของการส่งออก อย่างไรก็ดี ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมแม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีทิศทางการฟื้นตัวที่ไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากอยู่ในช่วงของการปรับฐานการผลิต สำหรับเครื่องชี้วัดด้านการบริโภคที่ส่งสัญญาณฟื้นตัว ได้แก่ รายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริง และยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งจะเพิ่มขึ้น แต่เครื่องชี้วัดด้านการบริโภคที่ยังอ่อนแอ ได้แก่ ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ และรายได้เกษตรกร ขณะที่รายจ่ายของรัฐบาลเริ่มมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้นตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต ได้แก่ ปัญหาทางการเมือง ราคาน้ำมัน และค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่ สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐได้ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ 1) การดำเนินนโยบายการคลังผ่านการใช้จ่ายของรัฐบาลในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และ 2) การดำเนินนโยบายการเงิน ผ่านการสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) หรือที่เรียกว่านโยบายกึ่งการคลัง (Quasi Fiscal Policy) ซึ่งกระทรวงการคลังได้แถลงข่าวโครงการสินเชื่อ Fast Track เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2552 เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจที่มีปัญหาเรื่องทุนหมุนเวียน นอกจากนี้ ภาครัฐยังจำเป็นต้องมีบทบาทในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเทียบเท่ากับค่าเงินของประเทศในภูมิภาค เพื่อสร้างเม็ดเงินสกุลบาทให้เข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้น
ในการสัมมนานี้นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ประเทศไทย) กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจโลกว่าขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย ได้แก่ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และ การตอบสนองต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจในยุโรปคาดว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่จะฟื้นตัวอย่างค่อนข้างช้า เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนของสหรัฐฯ มีความอ่อนแอ ตามภาระหนี้สินของประชาชนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับภาคการเงินของสหรัฐฯ ระมัดระวังเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสถาบันการเงิน ในขณะที่เศรษฐกิจสหภาพยุโรปประสบปัญหาเกี่ยวกับอุปสงค์ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศที่ลดลงมาก ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการลดการผลิตและลดการจ้างงานลง สำหรับเศรษฐกิจในเอเชียโดยเฉพาะจีนและอินเดียจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะเติบโตได้ดีและจะเป็นขั้วอำนาจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในอนาคต เนื่องจากมีเงินทุนสำรองมหาศาล มีกำลังซื้อสูง และมีทรัพยากรในประเทศจำนวนมาก โดยสรุปแล้วภาพรวมเศรษฐกิจโลกแม้ว่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว แต่มีปัจจัยเสี่ยงในระยะต่อไปหลายด้าน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ความยั่งยืนของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยที่มีทิศทางสูงขึ้น ตลาดสินเชื่อตึงตัวมากขึ้น และปัญหาไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009
ในขณะที่นายทศพล วังศิลาบัตร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวเสริมถึงโครงสร้างเศรษฐกิจของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่ามีการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ดังนั้น จึงได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ค่อนข้างมาก ส่งผลให้มีการลดการจ้างงานของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ลง ตามยอดคำสั่งซื้อทั้งจากต่างประเทศและในประเทศที่ลดลง ทั้งในรูปแบบของการปลดคนงานและลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลง โดยจากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่าผู้ประกอบการมีการปลดคนงานออกเป็นจำนวนมากในไตรมาส 1 ปี 2552 ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบรุนแรง นอกจากนี้ ภาคเอกชนจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ทางการค้า โดยหันมาค้าขายกับประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องทำอย่างเป็นระบบและแบบบูรณาการมากขึ้น โดยมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างกันทั้งจากภาครัฐและเอกชน