กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--สศค.
การสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) ณ จังหวัด พระนครศรีอยุธยา ภายใต้โครงการขยายบทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาค เมื่อวันที่ 4กันยายน 2552 ในช่วงบ่าย เป็นการเสวนาภายใต้หัวข้อ “นานาทัศนะ : ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง”โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำนโยบายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้ ทั้งในเรื่องของฐานที่ใช้ในการจัดเก็บภาษี การคำนวณฐานภาษี การกำหนดอัตราภาษี และการปฏิบัติจัดเก็บภาษี และที่สำคัญเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อสังเกตต่างๆ จากประชาชน เพื่อนำมาใช้ประกอบในการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วนได้ร่วมนำเสนอและแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในประเด็นต่างๆ สรุปได้ ดังนี้
นางลาวัลย์ ภูวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลังกล่าวถึงปัญหาการถือครองที่ดินกระจุกตัวและมีการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างภาษีในปัจจุบันขาดความเป็นธรรม นอกจากนั้น รายได้ที่ท้องถิ่นเก็บได้เองยังมีน้อยและพึ่งตนเองไม่ได้
สำหรับร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีหลักการเก็บบนฐานมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากภาษีดังกล่าวเป็นภาษีทรัพย์สิน จึงควรจัดเก็บจากฐานมูลค่าทรัพย์สิน
ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือ การใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ การเพิ่มศักยภาพทางการผลิตผ่านการเพิ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพย์สิน และเพิ่มรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เนื่องจากเป็นรายได้ของท้องถิ่นทั้งหมด ซึ่งจะนำไปสู่ความมีอิสระทางการคลัง และการพัฒนาคุณภาพของการบริหารของท้องถิ่นในที่สุด
ร่างกฎหมายฉบับนี้มีบทเฉพาะกาลว่า เมื่อร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... จะมีผลบังคับจัดเก็บจริงอีก 2 ปีถัดไป
มุมมองและแนวคิดจากผู้ร่วมเสวนาจาก 3 ท่านใน 3 ด้าน คือ
1. มุมมองด้านผลกระทบภาคธุรกิจเอกชนและการประเมินราคาทรัพย์สิน โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย สรุปได้ดังนี้
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะสร้างประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทั้งการสร้างรายได้ ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ ท้องถิ่นสามารถนำไปพัฒนาสาธารณูปโภคและการพัฒนาท้องถิ่นในด้านต่างๆ ซึ่งในทางกลับกันจะส่งผลให้ทรัพย์สินของประชาชนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
คาดว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะกระทบต่อภาระภาษีของประชาชนไม่มากนักเนื่องจากมีอัตราค่อนข้างต่ำ ตัวอย่างเช่น ชาวนามีที่ดิน 5 ไร่มูลค่า 100,000 เสียภาษีเพียง 1,000 บาท ดังนั้น การยกเว้นต้องมีให้น้อยที่สุด อีกทั้งการมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังจะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการทำงานของท้องถิ่น ซึ่งสนับสนุนกลไกการตรวจสอบภาคประชาชน ซึ่งจะช่วยลดการทุจริตรั่วไหลในการบริหารจัดการภายในท้องถิ่นลงได้
ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีประสิทธิภาพต้องสนับสนุนกระบวนการซื้อขายที่ดินที่มีความเปิดเผย โปร่งใส และเป็นธรรม โดยผ่านการสร้างฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับที่ดินและทรัพย์สินที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาที่ดินและท้องถิ่นต่อไป
นอกจากนั้นภาษีทรัพย์สินจะช่วยเพิ่มอุปทานในที่ดินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ เนื่องจากการใช้ที่ดินอย่างไม่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ เนื่องจากปราศจากภาระภาษี ซึ่งถือเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก ทำให้เมืองก็ต้องขยายออกไปในแนวราบอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และส่งผลต่อการเพิ่มต้นทุนการขยายบริการสาธารณูปโภคออกสู่ชานเมือง ซึ่งสร้างปัญหาและภาระแก่สังคมในส่วนรวม
2. รศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงหลักการของการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน และประโยชน์ของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สามารถสรุปได้ ดังนี้
(1) การออกแบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ควรเป็นลักษณะภาษีที่เก็บจากฐานมูลค่าทรัพย์สิน และอยู่บนฐานผลประโยชน์ที่เจ้าของทรัพย์สินแต่ละคนได้รับจากการได้รับบริการสาธารณะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสะท้อนจากมูลค่าราคาทรัพย์สินของแต่ละบุคคล
ยิ่งไปกว่านั้น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำในท้องถิ่น และลดการเก็งกำไรของที่ดินในประเทศ และสนับสนุนการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้สมควรแก่สภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องหาจุดสมดุลระหว่างความเสมอภาค และความมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดเก็บภาษี ทั้งนี้ การใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ต้องมีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอโดยต้องไม่ลดประสิทธิภาพการพัฒนาที่ดินของภาคเอกชน
(2) ประโยชน์ของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สามารถแยกได้เป็น 3 ด้านหลัก ดังนี้
(2.1) ประโยชน์ต่อรัฐบาล การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยลดภาระงบประมาณของภาครัฐในการให้การอุดหนุนแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้สามารถนำงบประมาณไปพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ มากขึ้น
(2.2) ประโยชน์ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การจัดเก็บภาษีทรัพย์สินเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ทำให้ อปท. ทำให้มีงบประมาณของตนเองเพิ่มมากขึ้น ไม่ต้องพึ่งพารัฐบาลซึ่งมีความไม่แน่นอน นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความรับผิดชอบต่อประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น โดยต้องยอมรับการตรวจสอบจากภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การทำให้ท้องถิ่นมีอิสระในเชิงการคลังมากยิ่งขึ้นทำให้ลดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองลง
(2.3) ประโยชน์ต่อภาคประชาชน การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเปิดโอกาสให้สามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้มากขึ้น เพราะช่วยชะลอการเพิ่มราคาทรัพย์สิน นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยเสริมการตรวจสอบจากภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น
โดยมีข้อสังเกต คือ ต้องมีการเตรียมความพร้อมขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความพร้อมในการบริหารจัดการภาษีดังกล่าว ทั้งในด้านการจัดเก็บ และการใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการสร้างยอมรับจากภาคประชาชนก็เป็นสิ่งสำคัญ และต้องเร่งดำเนินการ นอกจากนี้ ความจริงใจของนักการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นเป็นสิ่งที่สำคัญในการผลักดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้เกิดขึ้นจริง
3. มุมมองจากภาคท้องถิ่น โดย ว่าที่พันตรีมนู ครุฑกล่อม หัวหน้าสำนักปลัด เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา สรุปได้ดังนี้
บทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีต่อประชาชน มีค่อนข้างมากและครอบคลุมในหลายภารกิจ แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนโดยส่วนใหญ่คิดว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลกลาง ซึ่งประชาชนได้จ่ายเงินภาษีให้กับรัฐบาลกลางแล้ว เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องจ่ายภาษีให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก
ในส่วนของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนถิ่น ต้องยอมรับว่า ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะไม่อยากจัดเก็บภาษีกับประชาชนเพิ่มเติม เนื่องจากเกรงว่าจะเสียงฐานเสียง แต่อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก
จะเป็นงบประมาณเพื่อใช้งานในโครงการหรือกิจกรรมที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดำเนินการในปัจจุบัน ทำให้การดำเนินโครงการทำได้ตรงกับความต้องการของประชาชนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในส่วนของความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีความเห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับเทศบาล มีความพร้อมด้านการบริหารจัดเก็บภาษีค่อนข้างดี ทั้งในด้านระบบฐานข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีระบบแผนที่ภาษีที่สามารถใช้เป็นฐานในการจัดเก็บภาษีที่ค่อนข้างครบถ้วนสมบูรณ์ และวัสดุอุปกรณ์ที่ค่อนข้างทันสมัย นอกจากนี้ ในส่วนของเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีการติดตามเกี่ยวกับเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยตลอด ซึ่งหากมีการบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นจริง ก็จะสามารถบริหารจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพได้