TMC จับมือ FIBO ลงนามร่วมพันธมิตร สร้างความสามารถด้านวิทย์ของประเทศ ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

ข่าวเทคโนโลยี Monday November 20, 2006 16:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--สวทช.
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” กับ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อร่วมมือกันสร้างเสริมและกระตุ้นให้เยาวชน ตลอดจนบุคคลทั่วไปให้เกิดความตระหนักและสนใจเรียนรู้วิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ พัฒนาบุคลากรที่มีคุณค่าในการสร้างสังคมฐานความรู้ ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาวต่อไป
เมื่อบ่ายวันนี้ (17 พ.ย. 49) ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” ระหว่างศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช.โดย ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช.และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กับ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มจธ. โดย รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มจธ. โดยมี ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รศ.ดร.ไกรวุฒิ เกียรติโกมล อธิการบดี มจธ. ศ.ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ รองผู้อำนวยการ TMC และ ดร.ถวิดา มณีวรรณ์ รองผู้อำนวยการ FIBO ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติ เด็กและเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย และสื่อมวลชนร่วมในงานแถลงข่าว โดย ศ.ดร.ยงยุทธฯ กล่าวว่า
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีนโยบายสร้างสรรค์ให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา เพื่อใช้สนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างความสามารถของประเทศอย่างยั่งยืนโดยมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญ ทั้งนี้ คงจำกันได้ว่า ในนโยบายข้อแรก ผมให้ความสำคัญกับการสร้างคน โดยเน้น การสร้างคนรุ่นใหม่ที่ดีและเก่งในทุกรุ่นทุกวัย ไม่เฉพาะการบ่มเพาะหรือฟูมฟักเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แบบที่ค่ายวิทยาศาสตร์ถาวรจะทำ แต่เราจะทำให้ครอบคลุมในทุกส่วนของสังคม จึงนับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมมือกันกระตุ้นและจุดประกายให้เยาวชนไทยของเรารักและสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านวิทยาการหุ่นยนต์ และเด็ก ๆ ที่สนใจอยู่แล้ว ก็จะได้รับการส่งเสริมให้ได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพเพื่อนำไปสู่การพัฒนาและต่อยอดคนที่มีความรู้ ทักษะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนสร้างระบบที่ขับเคลื่อนสังคมแห่งปัญญาของประเทศไทย”
การบ่มเพาะโครงการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีนั้น ได้มีการเสาะแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความสามารถเฉพาะทางสูง และมีอุดมการณ์เดียวกันในการสร้างนักวิจัยของชาติ จึงเน้น “ขยายพันธมิตรทั้งภายในและต่างประเทศโดยยึดหลักผสานประโยชน์และความชำนาญการของกันและกัน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ซึ่ง ศ.ดร.ชัชนาถ กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง TMC และ FIBO ครั้งนี้ ว่า
“ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ได้เล็งเห็นว่า สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มจธ.เป็นสถาบันวิจัยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ชั้นนำของประเทศ มีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางสูงและมีผลงานวิจัยที่สร้างชื่อเสียงมากมาย ซึ่งจะช่วยพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในเชิงลึก ร่วมกับศูนย์แห่งชาติของ สวทช. อันได้แก่ เนคเทค ไบโอเทค เอ็มเทค และนาโนเทค จะทำให้เยาวชนในค่ายวิทยาศาสตร์ถาวรได้รับประโยชน์อย่างสมบูรณ์”
ทั้งนี้ ความร่วมมือในการดำเนินงานโครงการตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มีกำหนดเวลา 3 ปี ซึ่งทั้ง TMC และ FIBO จะดำเนินงานโครงการภายใต้ขอบเขตการจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์หรือกิจกรรมพิเศษสำหรับเยาวชนและบุคคลทั่วไป รวมทั้งจัดแสดงผลงานทางวิชาการ ผลงานวิจัย นิทรรศการ และการอบรมสัมมนาทางวิชาการ เพื่อสร้างเสริมและกระตุ้นให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปเกิดความตระหนักและความสนใจเรียนรู้ด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยจะมีการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรที่ทั้งสองฝ่ายมีอยู่ร่วมกัน เช่น สถานที่ ห้องปฏิบัติการวิจัย และบุคลากร เป็นต้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินงานโครงการสูงสุด และผลงานที่เกิดขึ้นจากโครงการจะมีการเผยแพร่แก่สาธารณชนให้ทราบอย่างต่อเนื่องต่อไป
สำหรับงานแถลงข่าววันนี้ ได้มีการแนะนำกิจกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติกับค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร TMC ได้แก่ การนำเสนอผลงาน "เครื่องบินบังคับอัตโนมัติเพื่อการสำรวจ" โดยนายวงศกร ลิ้มศิริ มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสิรินธร "การศึกษาและประดิษฐ์หุ่นยนต์มือควบคุมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยภาษาเบสิกกับเบสิกแสตมป์ 2" โดยนายจันฑากร โคกทอง ปวช.ปี 2 เทคนิคพิษณุโลก และ "หุ่นยนต์ตีกอล์ฟ" โดยนายกิตติพงษ์ หิริโอตัปปะ ปริญญาตรีปีที่ 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกิจกรรมการสอนทำหุ่นยนต์จากวัสดุใกล้ตัว แบบง่าย ๆ แก่เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมในงานด้วย
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 111 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120 โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1476-78 โทรสาร 0-2564-7000 ต่อ 1470 E-mail: pr@tmc.nstda.or.th
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
โทร. 0-2564-7000 ต่อ 1478 หรือ 081-454-5087
pr@tmc.nstda.or.th หรือเว็บไซต์ www.tmc.nstda.or.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ