กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
ต้นไม้จะเติบใหญ่ ยืนยงอยู่อย่างสง่างาม สำคัญที่สุด คือ “เมล็ดพันธุ์ที่ดี” สังคมก็เช่นกัน จะดำรงอยู่ได้ ก็ด้วยรากฐานที่มั่นคง หลายคนคงเคยได้ยินประโยคนี้ และหลายครั้งที่เรานำ“เมล็ดพันธุ์” มาเปรียบกับ “เยาวชน” ว่า หากเราบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ด้วย “ใจ” คอยรดน้ำ พรวนดิน และดูแลอย่างถูกวิธีแล้ว เมล็ดพันธุ์นั้นจะเติบโตเป็นไม้ใหญ่ที่สวยงาม แผ่กิ่งก้านให้ความร่มเย็นแก่สังคม พูดง่ายๆ คือ เยาวชนเป็นอนาคตของชาติ
สิ่งที่ว่ามาข้างต้นคงไม่ผิด แต่ปัญหาคือ ใครเป็นคนพูด แล้วใครเป็นคนทำ?
เพราะส่วนใหญ่ที่ผ่านมาผู้ใหญ่ก็เอาแต่พูด ไม่ค่อยเห็นทำเป็นตัวอย่าง แต่วันนี้ เรามีตัวอย่างต้นกล้าติดทะเลใต้พันธุ์ใหม่มานำเสนอ ซึ่งช่วยยืนยันได้ว่า นอกจากต้นกล้าที่แข็งแรงจะเกิดจากเมล็ดพันธุ์ที่ดีแล้ว พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ หรือพ่อแม่และผู้ใหญ่ในสังคม ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
“ต้นกล้าอันดามัน” เป็นไม้ใหญ่ชนิดอีกหนึ่ง ที่เกิดจากการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ โดยกลุ่มผู้ใหญ่ใจดี เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน (Save Andaman Network : SAN) การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอหาดสำราญ จ.ตรัง และได้รับการดูแล เอาใจใส่ สนับสนุนโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ จากการรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย และดูแลเอาใจใส่อย่างดีกว่า 4 ปี วันนี้ “เมล็ดพันธุ์” เหล่านั้นเติบโตเป็น “ต้นกล้า” ที่แข็งแรง คอยช่วยเหลือ และดูแลสังคม
กลุ่มเยาวชน “ต้นกล้าอันดามัน” รวมตัวทำกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้งในและนอกระบบการศึกษาในพื้นที่ ตำบลตะเสะ อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง บ้านเกิดของพวกเขา
นายสมรรถ เสลา ประธานชมรมกลุ่มต้นกล้าอันดามัน บอกเล่าถึงความตั้งใจในการรวมตัวทำกิจกรรมว่า “กลุ่มเรามีทั้งหมด 30 คน ทุกคนทำงานเพราะ “ใจรัก” อยากช่วยแก้ปัญหาชุมชน และพัฒนาท้องถิ่น”
“รู้สึกสนใจงานด้านอนุรักษ์มาตั้งแต่ ป.6 เพราะพ่อเป็นประธานกลุ่มอนุรักษ์ปลาโลมาบ้านตะเสะ ต่อต้านอวนรุนอวนลากของนายทุน พ่อมักพาไปฟังผู้ใหญ่คุยกัน เรื่องการอนุรักษ์เลยอยู่ในสายเลือดค่ะ” อัสมา ทุ่ยอัน สาวน้อยแกนนำรุ่นบุกเบิกวัย 20 ปี กล่าวด้วยแววตามุ่งมั่น
ส่วนหนุ่มนักอนุรักษ์มือใหม่ นายกิตติศักดิ์ กังสพฤติกุล ส่งยิ้มพร้อมกับบอกเล่าจุดเริ่มต้นการเข้ามาร่วมกลุ่มว่า “สนใจด้านทะเลอยู่แล้ว อยากมีความรู้ด้านทะเล เพื่อนำมาพัฒนาชุมชน” จากความสนใจดังกล่าวทำให้ กิตติศักดิ์ เลือกเรียนต่อ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง สาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเล เอกชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง โดยเขาตั้งใจทำงานเป็นอาจารย์เผยแพร่ความรู้ด้านการอนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้แก่เยาวชน เพื่อนำไปพัฒนาชุมชนชาวเลให้ดีขึ้น
ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เยาวชนต้นกล้าอันดามันจึงลงมือทำกิจกรรมเพาะกล้าโกงกาง และนำไปปลูกยังป่าชายเลน เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน นอกจากนี้ยังจัด ค่ายเยาวชนเพื่อปลูกฝังนิสัยการอนุรักษ์ทะเลและชายฝั่ง แก่เด็กในชุมชน
“กิจกรรมไม่ได้มีแค่การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเท่านั้น เรายังต้องการอนุรักษ์วิถีชาวเลด้วย กลางปี 2551 ที่ผ่านมา เราได้ทำกิจกรรมปลูกข้าวริมชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนในพื้นที่คู่กับการประมง” สมรรถ เล่าถึงกิจกรรม “อู่ข้าวชาวเล”
ซัด หรือนายสุทธิพงศ์ หมาดหลู คณะกรรมการฝ่ายวิชาการ มือผลิตสื่อ เช่น การตัดต่อวิดีทัศน์ของกลุ่ม เสริมว่า การทำนาแม้เตรียมใจมาแล้วว่าต้องเหนื่อยยากลำบากกาย ทว่าเมื่อมาสัมผัสจริงแล้ว กลับพบว่าการทำนายากลำบากกว่าที่คาดคิดไว้มาก
“การทำงานแม้จะลำบาก แต่ก็สนุก เมื่อเห็นคนในชุมชนรักกัน ทำงานพัฒนาชุมชนร่วมกัน เกิดเป็นภาพที่น่าประทับใจ” ซัด กล่าวด้วยรอยยิ้ม
กิจกรรมที่กลุ่มเยาวชนต้นกล้าอันดามันทำมากว่า 4 ปี มีส่วนสำคัญที่ทำให้ชุมชนตะเสะมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และทำให้คนในชุมชนทั้งผู้ใหญ่และเด็กเล็งเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ มีความ “รัก” และ “หวงแหน” สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตน ที่สำคัญการทำกิจกรรมร่วมกันยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
“กิจกรรมนี้ไม่ได้มีประโยชน์กับชุมชนอย่างเดียว คนที่ทำก็ได้ประโยชน์ด้วย” กิฟท์ หรือนางสาวปริฉัตร หูเขียว สาวน้อยนักอนุรักษ์พัฒนาวัย 19 ปี เอ่ยขึ้น พร้อมเล่าว่า เธอเข้ามาทำกิจกรรมนี้เพราะ “ใจรัก” และเมื่อได้ทำกิจกรรมทำให้เธอได้รู้จักคำว่า “มิตรภาพ” ได้เข้าใจคำว่า “เสียสละ” และได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “สามัคคี”
ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ากว่า “ต้นกล้า” จะแข็งแรงได้ ต้องเจอะกับพายุน้อยใหญ่ มรสุมซัดถาโถมหลายครั้งหลายคราด้วยกัน “แรกๆ ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ เขาไม่ยอมรับการทำกิจกรรมของเรา เพราะมองว่าเราเป็นเด็กจะทำอะไรได้ แต่พอผลงานปรากฎ อย่างเช่นเรื่องกิจกรรม “อู่ข้าวชาวเล” เยาวชนปลูกข้าวแล้วได้ผลผลิตดี ผู้ใหญ่ก็เปลี่ยนความคิด และเห็นคุณค่าของการรวมตัวทำกิจกรรมของเยาวชนมากขึ้น”
“การเจอปัญหา แรงกดดันมากๆ บางครั้งเป็นสิ่งที่ดีครับ เป็นเหมือนแรงผลักดันให้เรา “สู้”เพราะอยากพิสูจน์ความสามารถให้ผู้ใหญ่เห็นว่าเรา “ทำได้” ทำให้เยาวชนในพื้นที่สามัคคีกันมากขึ้น เพราะ “สามัคคีคือพลัง นำมาซึ่งความสำเร็จ” สมรรถ แกนนำกลุ่มฉายแววตาเด็ดเดี่ยว
เยาวชนกลุ่มนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่เติบโตขึ้นอย่างมีคุณค่า กลายเป็น “ต้นกล้า” ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า “เยาวชนมีพลังที่สามารถขับเคลื่อนและพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าได้” (แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ผู้ใหญ่เองต้องให้โอกาส ให้ความมั่นใจ และไว้วางใจ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้พิสูจน์ตัวเอง)
แล้วคุณละ พร้อมหรือยังที่จะบ่มเพาะ พัฒนาตัวเองให้เป็น “ต้นกล้า” ที่แผ่กิ่งก้านไพศาล เพื่อเป็นหลักให้แก่คนในสังคมได้พึ่งพิง