กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
สมาคมตลาดตราสารหนี้ ไม่แปลกใจหากพันธบัตรแบงก์ชาติยังคงคึกคักแม้ผลตอบแทนจะสู้พันธบัตรไทยเข้มแข็งไม่ได้ แต่ก็ยังสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากแบงค์ เผยเตรียมเร่งให้ความรู้เกี่ยวกับตราสารหนี้ให้กับนักลงทุนและประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการที่องค์กรปกครองท้องถิ่นต่างๆ สามารถที่จะออกพันธบัตรได้แล้ว เชื่อหลังจากกระทรวงคลังวางกรอบดูแลเสร็จคงมีการทยอยออกมาแน่ในไม่ช้า
นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวถึงกรณีที่ บรรยากาศการเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รุ่น 1 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 3-4 ก.ย. และ 7 ก.ย. ซึ่งแม้ว่าจะไม่ค่อยคึกคักมากนัก หากเทียบกับการจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งก่อนหน้านี้ที่มีคนมาจองตั้งแต่ตีหนึ่ง แต่จำนวนคนจองก็มากกว่าจำนวนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งไว้ตอนแรกว่า ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะมีการเปิดได้อย่างเต็มที่หลายวันเลยไม่จำเป็นต้องมาจองแต่เช้ามืด อีกประการหนึ่งประชาชนได้ซื้อพันธบัตรไทยเข้มแข็งไปบ้างแล้ว ส่วนอัตราผลตอบแทนที่ลดลงเป็นเพราะพันธบัตรไทยเข้มแข็งนั้นให้ผลตอบแทนที่ประมาณ 4% แต่พันธบัตรออมทรัพย์แบงก์ชาติให้ผลตอบแทนที่ 3.5% เป็นเพราะอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลในขณะที่กำหนดดอกเบี้ยนั้นแตกต่างกัน แต่ก็ถือว่าดีกว่าการฝากไว้กับธนาคารแม้ว่าระยะหลังธนาคารจะเริ่มขยับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่จูงใจเท่าที่ควร
“อัตราผลตอบแทนยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุน เพราะทิศทางดอกเบี้ยในครึ่งหลังของปี แม้ว่าจะยังดูเหมือนว่าทรงๆตัวอยู่ แต่แนวโน้มก็ยังมองกันว่าน่าที่จะขยับขึ้นได้บ้างในต้นปีหน้า ซึ่งจะเห็นว่าบรรดาสถาบันการเงินมีการแข่งขันในเรื่องดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวกันเพิ่มขึ้น จึงทำให้การตัดสินใจเลือกลงทุนในช่วงนี้เรื่องของทิศทางดอกเบี้ยในอนาคตจึงเป็นปัจจัยที่นักลงทุนใช้ในการตัดสินใจด้วย”
นายณัฐพลกล่าวด้วยว่า ประธานกรรมการ ThaiBMA นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ได้ให้แนวทางว่า ในจังหวะที่ประชาชนและนักลงทุนมองหาทางเลือกในการลงทุนเช่นนี้ ทางสมาคมควรจะต้องเร่งให้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับตราสารหนี้ให้มากขึ้นในช่วงนี้ เพื่อกระตุ้นให้มีนักลงทุนเข้ามาในตลาดมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะต้องพยายามผลักดันให้ตลาดตราสารหนี้ของไทยมีการขยายตัวเติบโตมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน
ซึ่งแนวทางหนึ่งที่จะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นการเติบโตของตลาดได้ คือการเน้นให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ให้สนใจเข้ามาออกพันธบัตรมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีกฎหมายอนุญาตให้ บรรดา อปท.ต่างๆสามารถที่จะออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนได้แล้ว ซึ่งหาก อปท. ใหญ่ๆอาทิ กทม. สนใจที่จะออกพันธบัตรจะทำให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น เมื่อมีผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น ก็จะมีนักลงทุนรายใหม่ๆเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ตลาดก็จะขยายตัวขึ้น คึกคักขึ้น แล้วทำให้ อปท.อื่นๆเห็นประโยชน์ก็จะเข้ามาเป็นผู้ออกพันธบัตรเพิ่มมากขึ้นด้วย สุดท้ายก็จะสามารถทำให้ตลาดตราสารหนี้โดยรวมเติบโตมากขึ้นได้
“ การเปิดโอกาสให้อปท.สามารถระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ได้นอกจากจะเป็นการเพิ่มจำนวนผู้ออกพันธบัตร โดยเฉพาะรายที่มีศักยภาพและพร้อมที่จะออกแล้ว ยังทำให้มีทั้งผลิตภัณฑ์ มีทั้งผู้เล่นเพิ่มเข้ามามากขึ้นซึ่งจะเป็นการเพิ่มความน่าสนใจของตลาดตราสารหนี้ให้มีเพิ่มขึ้นด้วย”
กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า อย่างไรก็ตามแม้ว่าปัจจุบันตามกฎหมาย อปท. จะสามารถออกพันธบัตรเองได้แล้ว แต่ในทางปฏิบัติกระทรวงการคลังคงต้องการที่จะจัดระเบียบ จัดแนวทางดูแลในการออกพันธบัตรก่อน เพื่อที่จะได้ไม่เป็นภาระต่อทางการในอนาคต รวมทั้งเป็นการป้องกันความเสี่ยงสำหรับนักลงทุนในตราสารหนี้ประเภทนี้ด้วย โดยเป็นไปได้ว่าอาจจะทำในรูปของการมีคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาคำขอออกพันธบัตรของบรรดา อปท. เป็นคราวไปว่าสมควรให้ออกหรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด เช่นเดียวกับการออก Baht Bond ของนิติบุคคลต่างชาติ ดังนั้นเป็นไปได้ว่าการออกพันธบัตรของบรรดา อปท. ในปีนี้อาจจะยังไม่ทัน น่าจะเป็นในช่วงปีหน้าเป็นต้นไป
Araya Srikhutkhao
MC Dept.
Tel.0-2252-3336 # 119
Fax.0-2252-2763
Email : araya@thaibma.or.th