กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
กทม. แถลงผลการดำเนินโครงการ “กรุงเทพฯ ห่วงใย ใส่ใจผู้ใช้แรงงาน” พบผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่มีสุขภาพเป็นปกติ ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ ห่วงกลุ่มผู้ป่วยวัณโรค ย้ำผู้เกี่ยวข้องให้การรักษาต่อเนื่อง ป้องกันการแพร่เชื้อ เพื่อสร้างกรุงเทพฯ เป็นมหานครเข้มแข็ง ประชาชนสุขภาพดี
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 28/2552 เกี่ยวกับผลการดำเนินโครงการ “กรุงเทพฯ ห่วงใย ใส่ใจผู้ใช้แรงงาน” โดยสำนักอนามัย กทม. ร่วมกับสำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง ออกให้บริการตรวจสุขภาพพร้อมให้คำปรึกษาด้านสุขภาพแก่ “กลุ่มแรงงานก่อสร้าง” ในระหว่างวันที่ 10—31 ส.ค. 52 เพื่อให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว ได้รับการดูแลด้านสุขภาพอนามัย สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และสถานะสุขภาพของกลุ่มผู้ใช้แรงงานก่อสร้าง ตามนโยบายด้านสุขภาพของกรุงเทพมหานคร ในการส่งเสริมให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่เข้มแข็ง ประชาชนมีสุขภาพดี
จากผลการดำเนินงานพบว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีแหล่งก่อสร้าง จำนวน 47 เขต สำหรับพื้นที่เขตที่ไม่มีแหล่งก่อสร้าง ได้แก่ เขตสัมพันธวงศ์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย และบางกอกน้อย มีจำนวนผู้ใช้แรงงาน 12,018 คน มารับบริการตรวจสุขภาพ จำนวน 9,002 คน คิดเป็นร้อยละ 74.9 และไม่มารับการตรวจ จำนวน 3,016 คน คิดเป็นร้อยละ 25.1 เนื่องจากมีงานก่อสร้างเร่งด่วนไม่สามารถมารับการตรวจได้ และบางส่วนได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีจากโรงพยาบาลแล้ว เช่น แรงงานต่างด้าวที่ต้องตรวจสุขภาพเพื่อทำการต่อทะเบียน พื้นที่เขตที่มีผู้ใช้แรงงานมารับการตรวจสุขภาพสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ เขตธนบุรี คลองเตย และสาทร ส่วนพื้นที่เขตที่มีผู้ใช้แรงงานมารับการตรวจสุขภาพต่ำสุด ได้แก่ เขตพระนคร
ทั้งนี้ผู้ใช้แรงงานที่มาตรวจสุขภาพมีผลการตรวจสุขภาพเป็นปกติ จำนวน 6,631 คน (73.67%) มีภาวะโภชนาการเกิน จำนวน 1,196 คน (13.29%) มีภาวะความดันโลหิตสูง จำนวน 832 คน (9.24%) และพบว่าเป็นโรคเบาหวาน จำนวน 750 คน (8.33%) โดยมีผู้เข้ารับบริการเอกซเรย์ปอด จำนวน 152 คน มีผลการตรวจเป็นปกติ จำนวน 140 คน ผิดปกติ จำนวน 12 คน (8.6 %) และต้องเข้ารับการรักษาแบบวัณโรค จำนวน 10 คน (7.1%)
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า จากรายงานผลการตรวจสุขภาพของกลุ่มผู้ใช้แรงงานพบว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ จำนวนของผู้ป่วยเป็นวัณโรคที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรค พร้อมกันนี้กรุงเทพมหานครจะดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนกรุงเทพฯ มีสุขภาพอนามัยที่ดี และส่งเสริมให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครเข้มแข็ง ประชาชนมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน