ปภ. คาดการณ์แนวโน้มสาธารณภัยของประเทศไทย ประจำเดือนกันยายน ๒๕๕๒

ข่าวทั่วไป Wednesday September 9, 2009 10:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คาดการณ์แนวโน้มการเกิดสาธารณภัยในเดือนกันยายน ๒๕๕๒ พื้นที่ตอนบนของประเทศจะมีฝนตกชุกและมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก อาจทำให้เกิดวาตภัย อุทกภัยและดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยควรเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่ม โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างใกล้ชิด นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้คาดการณ์แนวโน้มการเกิดสาธารณภัยของประเทศไทยในเดือนกันยายน ๒๕๕๒ จากข้อมูลลักษณะอากาศของหน่วยงานต่างๆ พบว่า ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออก และอาจมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมทั่วทุกภาค ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังปานกลางค่อนข้างแรง รวมถึงอาจมีพายุหมุนเขตร้อนพัดปกคลุมพื้นที่ตอนบนของประเทศ โดยมีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนบริเวณจังหวัดนครพนม สกลนคร เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู และภาคเหนือตอนล่างบริเวณจังหวัดอุตรดิตถ์และพิษณุโลก ส่งผลให้พื้นที่ตอนบนของประเทศมีฝนตกชุก และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ โดยจะมีฝนตกหนักและหนักมากในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินถล่มขึ้นในพื้นที่เสี่ยงภัย อีกทั้งเนื่องจากในเดือนนี้มีปริมาณฝนตกเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงค่าปกติ โดยปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศมีระดับเก็บกักอยู่ที่ร้อยละ ๖๕ ของความจุของอ่างเก็บน้ำทั้งหมด ซึ่งน้อยกว่าปี ๒๕๕๑ ทำให้ปริมาตรน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำสำคัญมีน้ำค่อนข้างน้อย หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป คาดว่าในห้วงฤดูแล้งปี ๒๕๕๓ ประเทศไทยอาจประสบกับปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งค่อนข้างรุนแรง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเก็บกักไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน นายอนุชา กล่าวเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งที่ลาดเชิงเขา ที่ราบลุ่มริมแม่น้ำและทางน้ำไหลผ่าน ของภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะในช่วงที่พายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวผ่าน ซึ่งจะทำให้ฝนตกหนักและเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง อาจทำให้เกิดอุทกภัย และดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศแจ้งเตือนอย่างใกล้ชิด หากมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานานในพื้นที่และสังเกตพบสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติ ให้รีบอพยพและขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง โดยอพยพไปตามเส้นทางที่ปลอดภัยโดยเร็วที่สุด เพราะอาจเกิดน้ำป่าไหลหลากหรือดินโคลนถล่มขึ้นได้ ส่วนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและกักเก็บน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค สำหรับเกษตรกรควรวางแผนการเพาะปลูกพืชในปี ๒๕๕๓ โดยเลือกปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย เพื่อให้มีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตร สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนนิรภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ