กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--เอาท์ดอร์
เปิดตัวหนังสือ “PROJECT GLITZ” สื่อนำเสนอผล จากงานโครงการวิจัย “แนวทางในการสร้างนวัตกรรมใหม่ทางด้านการออกแบบเครื่องประดับ” ผลงานอาจารย์จากศิลปากร และมืออาชีพในวงการเครื่องประดับไทย
เนื้อหาทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้เกิดจากงานวิจัยของ ดร.วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ หัวหน้าภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้าโครงการวิจัย ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT และภาคเอกชนที่อยู่ในวงการการออกแบบเครื่องประดับของประเทศไทย ร่วมกันมองหาหนทางออกของวงการออกแบบอัญมณีในประเทศไทย ท่ามกลางกระแส Creative Economy ที่เป็นที่สนใจอยู่ทั่วโลก และเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยไม่ตกขบวนรถไฟสายนี้
PROJECT GLITZ ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อสร้างนวัตกรรมทางด้านการออกแบบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นไทยในสังคมร่วมสมัยในมุมมองและมิติที่แตกต่าง โดยครอบคลุมการกำหนดกรอบความคิด กระบวนการออกแบบ การเลือกใช้วัสดุ ตลอดจนขั้นตอนการผลิต และวิธีการนำเสนอ ซึ่งการสร้างสรรค์งานออกแบบนับเป็นหัวใจสำคัญในการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าสินค้า เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล จากความร่วมมือในระดับบุคคล และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จึงทำให้แบบที่เป็นภาพวาด ถูกผลิตเป็นชิ้นงานเครื่องประดับต้นแบบขึ้น
นางวิลาวัณย์ อติชาติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า “GIT กำลัง ก้าวไปอีกขั้นเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยด้วยการสร้างความร่วมมือ กับทุกภาคส่วนในการวิจัยพัฒนาและส่งเสริมการออกแบบเครื่องประดับอย่างมี ประสิทธิภาพและผลักดันให้เกิดนักออกแบบเครื่องประดับไทย
และผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอัญมณีที่มีความสามารถพร้อมก้าวไปสู่เวทีระดับโลก จึงเป็นที่มาของ GLITZ ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการแนวทางการสร้างนวัตกรรมใหม่ทางด้านการออกแบบเครื่องประดับ ซึ่งโครงการนี้เปิดโอกาสให้ผู้มีใจรักการออกแบบได้ศึกษาทดลองการทำงานร่วมกันระหว่าง นักออกแบบ คณาจารย์ และผู้ประกอบการ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องประดับด้วยการออกแบบผ่านการศึกษาศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีการดำเนินชีวิตของไทย ซึ่งเป็นการสนับสนุนแนวทาง "เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (The Creative Economy)" ตามนโยบายครีเอทีฟ ไทยแลนด์ของภาครัฐที่ว่า...ไทยสร้างสรรค์ ไทยเข้มแข็ง"
ทางด้าน .ดร.วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ หัวหน้าภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้าโครงการวิจัยที่ได้รับเงินทุนการวิจัยจากสถาบัน GIT ให้ความเห็นว่า
“จากโอกาสทางการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ การได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิธีคิดของประเทศไทย และของประเทศที่ได้ชื่อว่า ประเทศแห่งศิลปะ ประเทศที่เป็นต้นกำเนิดเครื่องประดับแบรนด์ดังทั่วโลก และเป็นผู้นำแฟชั่น อย่างเช่น ประเทศอิตาลีนั้น ผมพบว่าความสามารถ และทักษะในการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของไทยนั้น สามารถที่จะแข่งขันอยู่ในเวทีโลกได้อย่างสง่างาม แต่สิ่งที่จำเป็นจะต้องสร้างและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก็คือ กระบวนการคิดในการออกแบบอย่างเป็นระบบ คิดอย่างถูกต้องและคิดอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จากบุคคล สู่หน่วยงาน ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนหากมาร่วมกันคิดอย่างสร้างสรรค์ในวันนี้ คงจะไม่ผิดนัก ถ้าจะบอกว่า เมื่อเราเริ่มมีเครือข่าย มีวัฒนธรรมสร้างสรรค์เกิดขึ้น ย่อมนำไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้ไม่ยาก อนาคตของประเทศไทยที่จะมีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อยู่ในมือของเราทุกคนในวันนี้แล้ว”
ในส่วนของผู้เข้าร่วมโครงการ คุณเกศินี สุขสิริสรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โจแนส จีเวล จำกัด กล่าวถึงสิ่งที่ได้จากโครงการนี้ว่า
“ในฐานะนักออกแบบ สิ่งที่ได้ คือ ขบวนการคิด แนวความคิด และวิธีการคิด ในการออกแบบงาน จากมุมมองตรงนี้ และวิธีการคิดที่จะออกแบบ สามารถแตกผลงานได้อย่างมากมาย หลากหลายต่อไปในอนาคต กับวิธีการคิดที่ผ่านขั้นตอนการคิดมา ทำให้รู้สึกว่า นับแต่นี้ เราจะไม่
มีวันที่จะจนแบบ งานจะสามารถออกมาได้อย่างมากมาย มาจากการผ่านขั้นตอน ขบวนการคิด ทำให้เราสามารถเกิดแรงบันดาลใจได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด”
“ในฐานะผู้ประกอบการ สิ่งหนึ่งที่ได้ คือ สามารถจะเอาบางเสี้ยวบางมุมของเครื่องประดับที่ได้มา นำไปแตกยอด แล้วปรับเข้าสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตนเอง ไม่คิดที่เอาแบบชิ้นงานที่นักออกแบบคิดมาไป copy เราจะต้องให้เกียรตินักออกแบบด้วยที่คิดงานทุกชิ้นด้วยความยากลำบาก และแม้ว่าบางแบบสวยมากก็จริง แต่ถ้าเราเอามา copy ทั้งหมด อาจจะไม่สามารถขายได้ เพราะไม่ใช่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเรา แต่สิ่งที่สามารถที่จะทำต่อไปได้คือ นั่งมองเครื่องประดับเหล่านั้น บางมุม บางเสี้ยว ของผลงาน เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจมาประยุกต์งานเข้าสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเรา ปรับทั้งตัววัสดุที่เลือกใช้ สีของโลหะที่ใช้ น้ำหนักของชิ้นงาน ชนิดของพลอยที่นำมาใช้ ปรับวิธีการผลิต เรียกว่างานจะต้องถูกนำมาผ่านกระบวนการคิด ทดลองต่อ ก่อนที่นำมาสู่ขั้นตอนการผลิตจริงในนามบริษัทของเราต่อไป ซึ่งจะทำให้เราได้เครื่องประดับที่เป็นเอกลักษณ์ให้กับบริษัทของเราได้ด้วย”
ทางด้าน อ.สุพัตรา ศรีสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาสินค้า ที่มีประสบการณ์ทางด้านการพัฒนาการออกแบบเครื่องประดับตลอด 30 ปีที่ผ่านมา
“ความเป็นไทย คือ สมบัติอันลำค่าของความคิดสร้างสรรค์ นักออกแบบเครื่องประดับจะเก็บเกี่ยวมาใช้ได้อย่างไร ขบวนการการออกแบบให้ตรงใจลูกค้าและมีกลิ่นอายของความเป็นไทย เป็นไปได้หรือไม่ “Project Glitz จุดเริ่มต้นของแนวโน้มการออกแบบเครื่องประดับไทย —ความฝันที่เป็นจริง” คือคำกล่าวสรุปของอ.สุพัตรา
ผู้สนใจสามารถชม PROJECT GLITZ ทั้งในรูปแบบของหนังสือ “PROJECT GLITZ The Design Project The Uniqueness of Thai Jewelry Vol 1” ได้ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT และ เวปไซต์ www.projectglitz.com และขอเชิญพบกับ GLITZ Moment ได้ที่งาน Bangkok Gems and Jewelry Fair 44th ในระหว่างวันที่ 15-19 กันยายน 52 ที่บูธ 37 A