กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--ก.ล.ต.
ตามที่ ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษนายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ ประธานกรรมการ บริษัท เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (SECC) กับพวกรวม 5 ราย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 กรณีร่วมกันทุจริตยักยอกเงินของบริษัทด้วยการจัดทำเอกสารอันเป็นเท็จในการสั่งซื้อรถยนต์ที่ไม่มีจริง เพื่อเป็นเหตุอำพรางให้ต้องจ่ายเงินจากบัญชี SECC ให้แก่ตนเองหรือบุคคลอื่น เพื่อซื้อรถยนต์ที่ไม่มีจริง ทำให้ SECC ได้รับความเสียหาย นั้น
จากการตรวจสอบเพิ่มเติม ก.ล.ต. พบพยานหลักฐานที่น่าเชื่อว่า อดีตผู้บริหาร SECC มีการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพิ่มในอีกหลายลักษณะต่างกรรมต่างวาระ ก.ล.ต. จึงได้ดำเนินการกล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหารของ SECC และอดีตผู้บริหารบริษัท เอสอีซีซี โฮลดิ้ง จำกัด (SECC Holding) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย กับพวกรวม 7 ราย ใน 6 ประเด็น ดังนี้
1. การทุจริตยักยอกเงินผ่านการให้กู้ยืมของ SECC Holding จำนวน 245 ล้านบาท จากการตรวจสอบพบพยานหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่า นายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ (อดีตประธานกรรมการ SECC) นายสมชาย ศรีพยัคฆ์ (กรรมการผู้มีอำนาจของ SECC Holding) และนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน ได้ร่วมกันยักยอกเงินของ SECC ผ่านการให้กู้ยืมของ SECC Holding แก่บุคคล 4 ราย จำนวนเงินรวม 245 ล้านบาท โดยเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่ SECC นำไปลงทุนใน SECC Holding และน่าเชื่อได้ว่า บุคคลที่กู้ยืมเงินจาก SECC Holding ดังกล่าว ถูกนายสมพงษ์ นายสมชาย และนายสุริยาใช้ชื่อเพื่อปกปิดการยักยอกเงินของตน ซึ่งทำให้ SECC และ SECC Holding ได้รับความเสียหาย
การกระทำของนายสมพงษ์ นายสมชาย และนายสุริยา เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 307 308 311 313 315 มาตรา 89/7 และมาตรา 89/24 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ตามแต่กรณี นอกจากนี้ ก.ล.ต. พบพยานหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่า หม่อมหลวงอภิษฎา (เดิมชื่อหม่อมหลวงภัทรวดี) ชยางกูร ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัทที่อนุมัติการให้กู้ยืม และเป็นผู้ลงนามในเช็คจ่ายเงินให้บุคคลทั้ง 4 รายดังกล่าว ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของ SECC Holding ด้วยความรับผิดชอบและระมัดระวัง เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 89/7 ประกอบมาตรา 89/24 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ
2. การยักยอกเงินฝากของ SECC Holding จำนวน 30 ล้านบาท จากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่า เงินในบัญชีเงินฝากของ SECC Holding หายไป 30 ล้านบาท โดยพบพฤติการณ์ที่น่าเชื่อได้ว่า เป็นการยักยอกเงินของนายสมชาย ศรีพยัคฆ์ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจ
ลงนามเบิกถอนเงินของบริษัท การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 307 308 311 และ 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ
3. การทุจริตโดยการยักยอกเงิน 42 ล้านบาทจากบัญชีจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนจากการตรวจสอบ ก.ล.ต. พบพยานหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่า นายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ ได้ยักยอกเงินจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ SECC จำนวน 42 ล้านบาท ไปเป็นประโยชน์ของตนและบุคคลอื่น
และไม่บันทึกบัญชีเกี่ยวกับการรับเงินและถอนเงินดังกล่าวให้ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริง โดยมีนางสาวนิภาพร คมกล้า และนายสมชาย ศรีพยัคฆ์ เป็นผู้สนับสนุนการกระทำดังกล่าว การกระทำของนายสมพงษ์เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 307 308 311 และ 312 แห่ง
พระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ โดยมีนางสาวนิภาพรและนายสมชายเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดมาตรา 315 ประกอบมาตรา 307 308 และ 311 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ
4. การทุจริตโดยการยักยอกชุดจดทะเบียนรถยนต์ของบริษัทไปใช้แสวงหาประโยชน์ส่วนตัวจากการตรวจสอบ ก.ล.ต. พบพยานหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่า นายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ ได้ยักยอกชุดจดทะเบียนรถยนต์ของ SECC จำนวน 25 คัน ด้วยการนำทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวไปใช้ค้ำประกันหนี้ส่วนตัว ทำให้ SECC ได้รับความเสียหายเนื่องจาก SECC ได้ส่งมอบรถยนต์คันที่นายสมพงษ์เบิกชุดจดทะเบียนให้แก่ลูกค้าแล้ว เป็นเหตุให้ลูกค้าไม่สามารถจดทะเบียนรถยนต์กับกรมการขนส่งทางบกได้ และทำให้ SECC เสียหายจากกรณีที่อาจถูกลูกค้าฟ้องร้องเพื่อให้ส่งมอบชุดจดทะเบียนและเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นการกระทำของนายสมพงษ์เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 307 308 309 311 และ 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ
5. การตกแต่งรายได้ค่าขายรถยนต์ 30 ล้านบาทในปี 2550 จากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบพยานหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่า นายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ และนางสาวนิภาพร คมกล้าได้ร่วมกันลงข้อความเท็จในบัญชี และทำบัญชีไม่ถูกต้องตรงต่อความ เป็นจริง เพื่อลวงผู้ถือหุ้นและบุคคลใด โดยการสร้างรายได้จากการขายรถยนต์ที่ไม่มีจริง 30 ล้านบาท และแสดงหนี้สินต่ำกว่าความเป็นจริง 30 ล้านบาทด้วย โดยบัญชีที่ไม่ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริง ได้แก่ การบันทึกบัญชีรายการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนงบการเงินของ SECC ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2550 ถึงปัจจุบัน
การกระทำของนายสมพงษ์ และนางสาวนิภาพร เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 312 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ
6. อดีตกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในเช็คหรือใบถอนเงินของบริษัทไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวังและความซื่อสัตย์สุจริต จากการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตใน SECC พบว่า การยักยอกเงินใน SECC เกิดขึ้นได้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่นายกรวิวัฒน์ วัฒนะธรรมวงศ์ (เดิมชื่อนายไพบูลย์ สุขสุธรรมวงศ์) อดีตกรรมการและกรรมการผู้จัดการ และนางสาวมุทิตา นิลสวัสดิ์ อดีตกรรมการ (ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์) ได้ลงนามล่วงหน้าในเช็คหรือลงนามโดยละเลยที่จะตรวจสอบความถูกต้องของรายการ เป็นเหตุให้มีการถอนเงินออกจาก SECC ไปเพื่อประโยชน์ของนายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ หรือบุคคลอื่น และเป็นเหตุให้ SECC ได้รับความเสียหาย การกระทำของนายกรวิวัฒน์ และนางสาวมุทิตา เข้าข่ายเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อรักษาประโยชน์สูงสุดของบริษัท เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 89/7 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ
ก.ล.ต. จึงได้ดำเนินการกล่าวโทษบุคคลทั้ง 7 รายข้างต้น ซึ่งได้แก่
(1) นายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ (2) นายสมชาย ศรีพยัคฆ์ (3) นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน (4) หม่อมหลวงอภิษฎา ชยางกูร
(5) นางสาวนิภาพร คมกล้า (6) นายกรวิวัฒน์ วัฒนะธรรมวงศ์ และ (7) นางสาวมุทิตา นิลสวัสดิ์ ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป