กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--สสวท.
ขบวนรถเรียงรายเป็นสายยาว เสมือนสายใยทางการศึกษาที่นำคณะจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ประมาณสามร้อยชีวิต เดินทางไปจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี “เติมฝัน ปันน้ำใจ จากพี่สู่น้อง” ที่โรงเรียนป่าเด็งวิทยา อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เมื่อวันศุกร์ที่ 4 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นการนำเสนอกิจกรรมพิเศษนอกเหนือจากการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนตามปกติ
นายสมเกียรติ เพ็ญทอง นักวิชาการสาขาคณิตศาสตร์ประถมศึกษา สสวท. หัวหน้าทีมส่งเสริมการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ของงานนี้ กล่าวว่า “กิจกรรมในวันดังกล่าวนอกเหนือจากนักเรียนของโรงเรียนป่าเด็งวิทยาเองแล้วยังมีนักเรียนระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนที่อยู่ละแวกใกล้เคียงอีก 5 โรงเรียนมาเข้าร่วมกิจกรรม รวมมีนักเรียนประมาณ 800 คน ซึ่ง สสวท. นั้น ได้จัดทำหนังสือคู่มือการร่วมกิจกรรมของฐานต่าง ๆ เพื่อให้โรงเรียนป่าเด็งวิทยาและสถานศึกษาในละแวกใกล้เคียงได้ใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ในโรงเรียนในโอกาสต่อไปด้วย”
ภายในงานได้พิธีมอบสื่อ อุปกรณ์การศึกษาให้แก่ โรงเรียนป่าเด็งวิทยา โรงเรียนบ้านป่าเด็ง โรงเรียนอานันท์ โรงเรียน ตชด. นเรศวรบ้านห้วยโสก โรงเรียน ตชด. นเรศวรป่าละอู โรงเรียน ตชด. นเรศวรห้วยผึ้ง รวม 6 โรงเรียน การเสวนาเพื่อเรียนรู้แนวทางการยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก โดยมีคณะผู้บริหารและครูจากโรงเรียนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้บริหารและนักวิชาการ สสวท. ร่วมเสวนากิจกรรมปลูกต้นไม้ “รักษ์โลก ลดร้อน” โดยผู้บริหาร สสวท. แขกผู้มีเกียรติ และคณะครูของโรงเรียนร่วมปลูกต้นไม้
ไฮไลท์ หรือ กิจกรรมสำคัญในงาน ก็คือ ฐานการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีของ สสวท. ซึ่งพี่ ๆ ชาว สสวท. คัดสรรมาจัดกิจกรรมแก่น้อง ๆ รวม 23 ฐาน และตั้งใจจัดกิจกรรมดังกล่าวเพื่อส่งเสริมการคิดวิเคราะห์และเห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี อย่างใกล้ชิด และแต่ละฐาน ต่างก็มีของติดไม้ติดมือให้นำกลับไปเป็นของที่ระลึกหรือนำไปเรียนรู้ต่อที่บ้านได้
ฐานการเรียนรู้ 23 ฐานที่ว่านี้ อาทิ คณิตคิดให้ไว แมลงน้อยส่องแสง กล้องรูเข็ม นักประดิษฐ์น้อย เก่งยกทีม รถแข่งมหาสนุก ประดิษฐ์คิดสร้างสรรค์กับหุ่นยนต์ เคมีชวนคิด เก่งยกทีม อัจฉริยะข้ามรุ่น หนูทำได้ สมองไวกับบิงโก ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ Science Show Science Drama ฯลฯ ซึ่งแต่ละกิจกรรมล้วนแต่แฝงความรู้คู่ความสนุกสนาน
แมลงน้อยส่องแสง ฐานนี้เด็ก ๆ ได้ประดิษฐ์แมลงให้ส่องแสงได้เมื่อนำหนวดของแมลงไปสัมผัสกับวัตถุที่นำไฟฟ้า หลักการทำงานของหนวดแมลง ใช้หลักการของวงจรไฟฟ้าอย่างง่าย คือ ในเวลาปกติ หนวกของแมลงที่แยกจากกันจะเป็นวงจรไฟฟ้าเปิด และเมื่อนำหนวดของแมลงที่แยกกันมาเชื่อมต่อกันด้วยวัตถุนำไฟฟ้า จะทำให้วงจรไฟฟ้าปิด กระแสไฟฟ้าเคลื่อนที่ได้ หลอดไฟที่แมลงจึงสว่าง
ชั่งเถอะคนงาม ฐานนี้เป็นกิจกรรมที่ท้าทายความคิดของนักเรียนในการวางแผนการเลือกสิ่งของ และนำสิ่งของไปชั่งบนตาชั่งสองแขนเพื่อให้เกิดความสมดุล กิจกรรมนี้นักเรียนต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องโมเมนต์ของแรงและคาน รวมทั้งการวางแผนการทำงานเป็นทีม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามเงื่อนไขที่กรรมการกำหนดไว้
รถแข่งมหาสนุก นักเรียนแบ่งกลุ่มออกแบบและสร้างสรรค์ให้รถแข่งเคลื่อนที่ไปได้ไกลที่สุดโดยไม่ใช้มือผลักจากวัสดุอุปกรณ์ที่มีให้อย่างจำกัด
เรียนรู้จากลูกเต๋า เด็ก ๆได้เรียนรู้จากรูปคลี่ของลูกบาศก์ที่มีหลายแบบ เป็นการฝึกทักษะการนึกภาพ นอกจากนั้น ยังได้เรียนรู้การนำแต้มบนลูกเต๋ามาบวกหรือลบกันแล้วจัดเรียงให้เท่ากันตามโจทย์ที่กำหนด
บ้านใกล้เรือนเคียง เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ มุ่งเน้นให้เรียนรู้ว่าสิ่งมีชีวิตมความหลากหลาย แตกต่างกันทั้งรูปร่าง และโครงสร้าง แต่ก็มีส่วนที่คล้ายคลึงกัน คือ ต้องการสารอาหารและพลังงาน สามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งมีชีวิตต้องมีการสืบพันธุ์และการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม
นอกจากนั้น ในส่วนของ การจัดฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ และการแสดงละครวิทยาศาสตร์ ได้มุ่งนำเสนอเรื่องราวเกี่บวกับภาวะโลกร้อน เจาะลึกให้น้อง ๆ ได้อัพเดทความรู้ ทันโลก ทันเหตุการณ์
การจัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งนี้ ได้ผลตอบรับอย่างที่จากคุณครูและนักเรียนที่ได้มาร่วมกิจกรรม เสียงสะท้อนจากใจของน้อง ๆ ที่ร่วมกิจกรรมสู่พี่ ๆ
ชาว สสวท. จึงออกมาแนวนี้โดยพร้อมเพรียงกัน
สนุกมากค่ะ อยากให้มาจัดกิจกรรมแบบนี้อีก !
พี่ ๆ ชาว สสวท. ใจดีมาก !
ชอบละครวิทยาศาสตร์มาก ได้ความรู้เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น !
พี่ที่เป็นวิทยากร Science Show สนุกดี ขำ ๆ !
กิจกรรมที่มาจัดทำให้พวกเราได้รับความรู้ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มากขึ้น และสนุกด้วย ! ฯลฯ
สสวท. มุ่งหวังว่า เวลาหนึ่งวันเต็มๆ กับ 23 ฐานการเรียนรู้ จะเป็นแนวทางให้คุณครูในโรงเรียนท้องถิ่นแถบนั้น นำไปขยายผลจัดกิจกรรมการเรียนรู้สู่เด็ก ๆ อย่างต่อเนื่องในโอกาสต่อไป