“สุริวิภา” ติดตามเส้นทางผืนไหมอันงดงามของ “กาชามาศ” ที่มีต้นกำเนิดจากคำดูแคลน

ข่าวทั่วไป Friday September 1, 2006 14:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--เจเอสแอล
จากคำปรามาสของนายญี่ปุ่น ที่ไม่กล้าให้เครดิตชิ้นงานการออกแบบว่าเป็นฝีมือคนไทย กาชามาศ กีรติภูมิธรรม เปแรซ หญิงสาวผู้รักศักดิ์ศรีความเป็นไทยมากกว่าเงินเดือนที่สูงลิบลิ่ว ตัดสินใจลาออกกลับเมืองไทยทันที ดั้นด้นไปศึกษาวิธีการทอผ้าของชาวเขาเผ่าต่างๆ บนยอดดอย ถึงวันนี้ผ้าไหมทอมือผลงานการสร้างสรรค์และออกแบบของเธอ โด่งดังเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก โดยเฉพาะที่ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ อเมริกา และประเทศที่เธอต้องการตอกหน้าประกาศฝีมืออย่าง ญี่ปุ่นสุริวิภา” พุธที่ 6 กันยายน นี้ ขอร่วมชื่นชมผลงานอันน่าภาคภูมิของคนไทย
กาชามาศ กีรติภูมิธรรม เปแรซ หญิงสาววัย 44 ที่คงความสง่างามและความเท่อยู่ในตัว ได้นำผ้าไหมทอมือลวดลายงดงามที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ละผืนมีชื่อชิ้นงานตามแนวคิดมาโชว์ในรายการ ตั้งแต่ชุดเจดีย์ข้าว ซึ่งเป็นการนำเมล็ดข้าวเปลือก และฟางข้าวมาทอรวมอยู่ในผืนผ้า ชุดล้านนา ที่ได้ลายจากการนั่งแกะลายเทพพนมตามวัด ชุด Mix สี ความยาว 12 เมตร ผสมผสานสีสันตามอารมณ์และจินตนาการ ซึ่งผืนนี้แอบแย้มราคาให้นักสะสมได้ทราบว่าอย่างน้อยต้องมีเงินมา 500,000 บาท แต่ผืนที่สร้างความตื่นตะลึงให้ผู้ชมได้มากที่สุด มีความยาวถึง 18 เมตร ชื่อว่า “ที่นี่ประเทศไทย” เป็นผ้าไหมผืนงามที่ใช้รังไหมไทยแท้มาประดับสลับเป็นสีธงชาติ และยืนยันว่าผืนนี้ไม่ขายให้ไปอยู่ต่างชาติแน่นอน
กาชามาศ กีรติภูมิธรรม เปแรซ หรือ แอน หญิงสาวผู้ได้ยินเสียงไหม เผยเรื่องราวถึงความผูกพันกับผืนไหมว่า “ตั้งแต่เด็กๆ แล้วค่ะ แม่เล่าให้ฟังว่า แอนชอบเอาหูไปแนบผ้าไหมแล้วบอกว่าได้ยินเสียง ถึงวันนี้ก็ยังได้ยินเสียงกี่เป็นเสียงเพลง เคยเอากีตาร์มาบรรเลงเพลงคลาสสิกประกอบให้แม่ฟัง แต่แม่ก็บอกว่าเราบ๊อง หรือถ้าคนงานทอผิดฟังเสียงกี่เราก็รู้ล่ะเดินออกมาดูได้ บางวันก็พูดกับไหม จนคนงานสงสัยว่าเราคุยกับใคร งานที่ทอทุกชิ้นจะรักมากและเลือกคนซื้อ คนที่ไม่เห็นคุณค่าของไหมแอนก็จะไม่ขายให้ บางผืนรักมากห่วงมากขนาดปิดห้องล็อคไว้สามีก็ยังไม่เคยเห็น แล้วแอนชอบทอผ้าตอนกลางดึก ตี 2 ตี 3 จะได้อารมณ์และความสงบมากที่สุด บางวันนึกงานไม่ออก ก็เดินหนีเข้าป่าไป กลับมาก็ได้ไอเดียใหม่” งานทอผ้าไหมของ กาชามาศ จึงประหนึ่งเป็นงานศิลปะที่มีความแปลกแตกต่าง แบบชุดเกิดจากจินตนาการ บางชุดเกิดจากอารมณ์หิว ก็นำพริกข่าตะกรูดตะไคร้ใส่ทอลงไปกลายเป็น ผ้าไหมชุดต้มยำ
เรื่องราวก่อนจะมาถึงวันนี้ของก็โลดโผนไม่แพ้เรื่องราวบนผืนไหม “แอนเป็นคนเชียงใหม่ค่ะ จบอินทีเรียดีไซนจากญี่ปุ่น พยายามไปเรียนด้วยตนเอง เพราะคุณพ่อเป็นหมอธรรมดา แม่เป็นแม่บ้านดูแลครอบครัว ฐานะทางบ้านไม่มีเงินมากมาย แอนต้องขายรถตัวเองแล้วไปเพราะคิดว่าน่าจะทำให้ชีวิตดีขึ้น ตอนแรกตั้งใจไปเรียนภาษาอย่างเดียว เห็นมหาวิทยาลัยเขาแล้วอยากเรียน แต่ต้องใช้เงินเยอะมาก ตอนนั้นเห็นคนเอาเครื่องเงินจากไทยไปขาย เลยบินกลับมา ขอเงินแม่ลงทุน 50,000 บาท ซื้อเครื่องแฟ็กซ์ไว้ติดต่อกัน แล้วซื้อเครื่องเงินพวกแหวน ต่างหู สร้อย กำไล ไปขาย แม่ต้องขายวัวให้ 10 ตัวจึงจะพอลงทุน ที่สุดแล้วขายดีมากกำไรดีมาก ตอนหลังขายส่ง ไม่ต้องนั่งขายเองแล้ว เลยได้เรียนสมใจ ตอนจบกะว่าจะไปยุโรป พอดีนายญี่ปุ่นเห็นหน่วยก้านดี เลยชวนไว้ทำงาน เกี่ยวกับ ตุ๊กตา กระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า แล้วได้มีโอกาสพาเขามาเที่ยวดูผ้าฝ้ายที่เชียงใหม่ เขาเลยอยากให้เราติดต่อทำงานให้ เสนอเงินเดือนให้สูง ก็เลยตัดสินใจทำ แต่ปรากฏว่าแรกๆ คนญี่ปุ่นไม่ยอมรับเรา คิดว่าเราอยู่บ้านป่าเมืองเถื่อน ถามว่าที่บ้านเรามีไฟฟ้าใช้มั๊ย 2-3 เดือนแรกพยายามทำดีเข้าสู้ ทำทุกอย่างแม้ไม่ใช่งานเรา ชงกาแฟยันล้างห้องน้ำ เราจบอินทีเรียดีไซน์แต่ให้เราไปเช็คสต็อค เริ่มไม่ไหวขอลาออก ซาโจ้เจ้านายญี่ปุ่นก็ไม่ยอมให้สติเราว่า ดูต้นใม้ใหญ่ กว่าต้นไม้จะโตได้เท่านี้ จะต้องผ่านอะไรมาเยอะแยะมากมาย เหมือนกับคนเราถ้าจะเป็นเจ้านายคนก็ต้องผ่านลำบากมาก่อน 2 วันต่อมาเราถึงมาโต๊ะทำงานนั่ง
ช่วงที่ทำงานออกแบบกับเขาแอนพยายามใช้ผ้าไทย ฝีมือเป็นที่ยอมรับมากขึ้น มาตอนหลังหนังสือนิตยสารต่างๆ เริ่มลงผลงานของเราเยอะ แต่เครดิตที่ให้ในหนังสือกลับเป็นชื่อนักออกแบบชาวอเมริกัน เราก็รีบไปถามซาโจ้ เขาบอกว่าถ้าลงว่าเป็นผลงานคนไทยราคาจะตก ขายไม่ได้ คืนนั้นนอนไม่หลับทั้งคืน เช้ามาลาออกเลย โกรธมาก บอกเขาว่าสักวันฉันจะทำให้คุณยอมรับฝีมือคนไทยให้ได้”
กลับมาเมืองไทย กาชามาศ ได้งานระยะสั้นเงินเดือนสูง ก่อนตัดสินใจเอาเงินซื้อรถจิ๊บและเสบียงอาหาร ปลาทู น้ำมันหมู มุ่งหน้าขึ้นเขา ขายของแลกความรู้เรื่องการทอผ้าจากชาวเขาเผ่าต่างๆ ทำให้เธอสามารถทอผ้าได้เอง ประกอบกับมีผ้าชาวเขาจำนวนมากที่เธอเคยสะสมไว้ 10 กว่าปี ก็นำมาปรับปรุงอยู่ในชิ้นงานใหม่ๆ ไม่ให้ของเก่าสูญหายไป ถึงวันนี้ผลงานบางส่วนของเธอได้รับการสะสมในพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศแล้ว “แอนขอบคุณคนที่เคยดูถูกแอน ดูถูกคนไทยนะคะ เพราะถ้าไม่มีคำพูดเขา ก็จะไม่มีแรงผลักดันให้แอนพยายามทำให้ได้ถึงวันนี้”
ติดตามชม เรื่องราวก่อนจะถึงวันที่เธอเริ่มขายผืนไหมได้ เธอต้องผ่านความลำบากอีกมากมาย และเรื่องราวความรักกับสามีที่ทำไมชายหนุ่มชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งต้องวิ่งตามหาหญิงสาวความคิดแปลกที่อยู่ในนิตยสาร ใน “สุริวิภา” วันพุธที่ 6 กันยายน ศกนี้ เวลาดีสี่ทุ่ม ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
ต้องการข้อมูลเพิ่มติดต่อ วิรดา อนุเทียนชัย (วิ) 0 — 1804 - 5493
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ