กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ท่านดาไลลามะ เคยกล่าวไว้ว่า ปัญหาของมนุษย์ทุกวันนี้คือความพร่องจิตวิญญาณ และการแก้ไขปัญหาของมนุษยชาติคือการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ (Spiritual Revolution)
ปัจจุบันคำว่า Spirit, Spiritual, Spiritual Experience หรือ Spiritual Development ถูกใช้ในภาษาอังกฤษอย่างเป็นธรรมดา ถ้าจะพูดไปแล้วเรื่องเหล่านี้คือกลุ่มหนังสือที่ขายดีที่สุดในโลก คนที่สนใจเรื่องนี้นอกจากด้านสุขภาพมีมากมาย แม้แต่ในด้านธุรกิจก็เอาไปใช้ในการพัฒนาทำให้กิจการของเขาดีขึ้น ผู้คนดีขึ้น ถ้าเราดูว่า Spiritual ที่ใช้ในภาษาอังกฤษจะเห็นการเปลี่ยนแปลง มีคำใหม่ๆในแง่มุมต่างๆเกิดขึ้นและมีประโยชน์มาก แต่ในภาษาไทยเราเรียกว่าอะไร
คำว่า ‘จิตวิญญาณ’ ใช้ทั่วไปในสังคมไทยมาก่อน หมายถึงสิ่งอะไรก็ตามที่มีคุณค่าสูงทางจิตใจ
เราจึงนำคำที่ใช้ในสังคมไทยมาใช้ เรียกว่า ‘สุขภาวะทางจิตวิญญาณ’ ต่อมาได้มีการได้ปรับเปลี่ยนมาใช้คำว่า ‘สุขภาวะทางปัญญา’ ทั้งนี้ คำว่า ‘จิต’ หมายถึง ความรู้สึกนึกคิด ในทางพุทธคือเบญจขันธ์ ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตมีลักษณะสมมติ คือ มีความรู้สึกสุขทุกข์ได้ มีความจำได้ มีความคิดปรุงแต่งได้ มีการรับรู้ทางวิญญาณได้ ส่วนคำว่า ‘วิญญาณ’ ในทางพุทธศาสนา หมายถึง การรู้เวลามีผัสสะโดยมีอายตนะทั้ง 6 เป็นเครื่องรับ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ
คำว่า Spiritual หมายถึง มิติที่เหนือวัตถุ ในทางพุทธเรียก ‘โลกุตตระ’ หรือ เหนือโลก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์จงใจไม่ใช้คำนี้จนกระทั่งท่านอาจารย์พุทธทาสมาฟื้นกลับมาใช้ ซึ่งโลกในที่นี้ หมายถึง เนื้อหนังมังสาในร่างกาย ทั้งนี้ ท่านอาจารย์พุทธทาสฝากปณิธาณไว้ 3 ข้อ คือขอให้ศาสนิกของศาสนาต่างๆเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน เพราะหัวใจของทุกศาสนาคือ Spiritual หรือ โลกุตตระ ซึ่งไม่รู้จะมีศาสนาไปทำไมถ้ามันเป็นเรื่องพื้นๆในระนาบเดียวกัน แต่ตรงนี้มันเหนือขึ้นไป ทุกศาสนาจะมีเรื่องที่ไม่ใช่หัวใจแล้วจะไปทะเลาะกันที่ตรงนั้น ประการที่สอง ท่านพุทธทาสขอให้มีความร่วมมือกันระหว่างศาสนา และประการสุดท้ายคือขอให้มนุษย์ถอนตัวออกจากวัตถุนิยม ซึ่งก็คือมุ่งไปสู่ระนาบของจิตวิญญาณ หรือ Spiritual หรือ โลกุตตระ นั่นเอง ท่านอาจารย์พุทธทาสใช้ตลอดชีวิตทำโลกุตรโอสถให้เป็นยาสามัญประจำบ้านคือทำให้เป็นเรื่องชีวิตประจำวันเพราะคนไทยพุทธมักถือว่าโลกุตตระเป็นเรื่องห่างไกล แต่จะบอกว่าทางพุทธไม่ได้คิดอย่างนี้ก็คงไม่ได้เพียงแต่อาจใช้คำอื่น เช่น ความดีงาม กุศล จิตสูง ความเป็นมนุษย์ฯลฯ
ทางพุทธศาสนา มีหลักที่เรียกว่า ‘ไตรสิกขา’ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งคำว่า ‘ปัญญา’ ในทางพุทธมีความหมายพิเศษ เพราะพระพุทธเจ้าถือว่าความทุกข์ของมนุษย์เกิดจากอวิชชาหรือความไม่รู้ เพราะฉะนั้นปัญญาจะทำให้หมดทุกข์และเกิดสุขตามมา สุขภาวะจึงเกิดจากปัญญา และปัญญาในทางพุทธหมายถึงการลดความเห็นแก่ตัวลง ที่สุดแล้วเราจะถึง อนัตตา คือความไม่มีตัวตน ดังนั้น ปัญญาที่ใช้ในที่นี้ก็คือ ‘สุขภาวะทางปัญญา’
พุทธศาสนายังเน้นเรื่องความเมตตากรุณา (Compasstion) คือ ถ้ามีเมตตากรุณาก็ถือว่ามีปัญญา แต่ถ้าเห็นแก่ตัวก็ไม่ถือว่ามีปัญญาเพราะไม่ถือว่ามีคุณค่าทางจิตวิญญาณ การมีเมตตากรุณาถือว่าเริ่มต้นในทิศทางของจิตวิญญาณ ในพระไตรปิฎกก็บอกว่าถ้าเผื่อแผ่เมตตาไปทุกทิศทุกทางอย่างไม่มีที่สิ้นสุดก็สามารถบรรลุธรรมได้ ท่านอาจารย์พุทธทาสเองก็เคยกล่าวว่า ทุกคนเคยเจอนิพพานชิมลองมาแล้วทั้งสิ้น ยามใดเราไม่เห็นแก่ตัว เราจะมีความสุขลึกๆ นั่นคือนิพพาน แต่เป็นนิพานชั่วคราวหรือนิพพานชิมลอง ดังนั้นทำอย่างไรให้รู้ ให้มันเกิดบ่อยขึ้น ให้มันอยู่นานขึ้นนั่นเป็นภาคปฏิบัติ นั่นคือ ‘สุขภาวะทางจิตวิญญาณ’
ทั้งนี้ หากหันมาดูการแพทย์แผนปัจจุบันกับการแพทย์แผนโบราณหรือแผนไทยไทยบ้าง เราจะเห็นชัดว่าการแพทย์แผนปัจจุบัน คือ การให้ยากับผ่าตัด หรือใช้อยู่ในระนาบของวัตถุ แต่การแพทย์แผนโบราณหรือแผนไทยจะใช้ร้อยแปด ทั้งความเชื่อ น้ำใจ เรื่องศักดิ์สิทธิ์ การช่วยเหลือกัน หรือความเป็นชุมชน เช่น ครั้งหนึ่งมีผู้ป่วยหนักใกล้เสียชีวิต หมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ถามว่าอยากให้ทำอะไร ผู้ป่วยบอกว่าอยากดูรำผีฟ้า หมอจึงไปจัดมาให้ แกก็ลุกขึ้นมานั่งได้เพราะแกเชื่อรำผีฟ้าทำให้มีสุขภาพดี
หรือในกรณีหมู่บ้านโรแซสโต้ เพนซีวาเนีย สหรัฐอเมริกา มีหมอคนหนึ่งสังเกตว่าทำไมคนจากหมู่บ้านนี้ไม่ค่อยเป็นโรคหัวใจหรือมะเร็งเหมือนที่อื่นและมักมีอายุยืน ทั้งที่เมื่อลงไปดูพื้นที่คนก็กินเหล้า สูบบุหรี่ เหมือนที่อื่น แต่สิ่งที่แตกต่างคือที่หมู่บ้านนี้อบอุ่นมาก คนเป็นกันเองและดูแลกัน นี่เป็นบ่อเกิดของสุขภาพที่สำคัญ เป็นหัวใจของความเข้มแข็ง เป็นเรื่องของความเป็นชุมชน และเป็นสุขภาวะทางจิตวิญญาณ
การแพทย์แผนปัจจุบันติดอยู่ในการกักขังให้ใช้แต่ทางวัตถุ แต่ขณะนี้เรื่องสุขภาพได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางทั้งทางกาย จิต สังคม และปัญญา เกิดการปฏิรูประบบสุขภาพที่เคลื่อนไหวในสังคมไทย นั่นคือ ‘การปฏิรูปมโนทัศน์’ การคิดว่า สุขภาพดีคือการไม่มีโรค นั่นคือ การติดมโนทัศทัศน์ เพราะจะมีแต่หมอเท่านั้นที่เข้าใจเรื่องโรคซึ่งไปจำกัดเรื่องสุขภาพเฉพาะเรื่องของหยูกยาหรือโรงพยาบาล มันจึงถูกกักขังไว้อยู่ในที่แคบ แต่เราได้เปิดทำนบแล้วว่า สุขภาพดีคือการไม่มีโรคนั้นไม่จริง การมีโรคก็สุขภาพดีได้ถ้ามีดุลยภาพ อย่างถ้าเป็นเบาหวานซึ่งมันก็ยังเป็นโรคอยู่ แต่ถ้าทำให้ได้ดุลยภาพก็สุขภาพดีได้ มะเร็งก็เช่นกัน สุขภาพดีคือดุลยภาพทั้งทางกาย จิต สังคม และปัญญา ซึ่งอะไรก็ตามที่ทำให้มีดุลยภาพก็เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นไทเก็ก ศิลปะ ดนตรี การสวดมนต์ หรือโยคะ เราเรียกว่าโอสถประยุกต์ซึ่งไม่ใช่เรื่องหมอ หรือหยูกยา อีกต่อไป นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
เราจะเห็นเรื่องการแพทย์ทางเลือก โยคะ ไทเก็ก หรือการเจริญสติที่กำลังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ที่มหาวิทยาลัยเมสซาซูเซต เมื่อเปิดหลักสูตรการเจริญสติแบบพุทธก็มีคนมาสมัครถึง 87,000 คน เพราะเจริญสติแล้วทุกอย่างดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น การเรียนรู้ดีขึ้น ความสัมพันธ์ก็ดีขึ้น ขณะนี้จึงกำลังแพร่หลายและโลกกำลังจะเปลี่ยน มนุษย์นั้นโหยหามิติทางจิตวิญญาณเพื่อทำให้เกิดความสมบูรณ์ในตัวเอง แต่เมื่อมนุษย์พัฒนาทางวัตถุเท่านั้นก็ขาดความสมบูรณ์ในตัวเอง เมื่อไปหาสิ่งที่มาเติมก็จะหา 3 อย่าง คือ ยาเสพติด ความฟุ่มเฟือย และความรุนแรง ซึ่งเป็นไปทั่วโลก
นักปราชญ์ฝรั่งบอกว่า Western Civilization ซึ่งเป็นวัตถุนิยม บริโภคนิยมไปต่อไม่ได้แล้วและทำให้เกิดวิกฤติ มีทางเดียวที่จะรอดได้ต้องปฏิวัติจิตสำนึก ท่านดาไลลามมะเรียกว่า การปฏิวัติทางจิตวิญญาณ หรือแม้แต่ไอน์สไตน์ก็พูดไว้ว่ามนุษย์จะต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่โดยสิ้นเชิงถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้
การพัฒนาจิตกับสุขภาพเป็นเรื่องที่กว้างใหญ่ไพศาลและเป็นการปฏิวัติ น่าดีใจที่กระแสปฏิวัติกำลังเกิดขึ้นแน่นอน ทั้งขยายใหญ่และแรงจูงใจสูงมาก แรงจูงใจนั่นคือความสุข เพราะถ้าทำอะไรแล้วสุขก็จะอยากทำสิ่งนั้นอีก ซึ่งสุขภาวะทางจิตวิญาณหรือการพัฒนาจิตเป็นสิ่งที่นุ่มและปราณีตมาก มันลึกซึ้งและเป็นความสุขที่ราคาถูก เป็นความสุขแท้จริง เป็นความสงบ มีอิสระ เห็นความงามทั้งหมด เกิดความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษยและธรรมชาติทั้งหลาย เพราะฉะนั้นนี่ก็คือการปฏิวัติแล้ว.-
หมายเหตุ ปาฐกถาพิเศษ ในงานสานจิตรเสวนา มหกรรมความรู้การพัฒนาจิต 10 กันยายน 2552 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา จัดโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ