กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
เร่งตั้งคณะทำงานร่วมกับ กรมปศุสัตว และปศุสัตว์จังหวัดปริมณฑล รับมือไข้หวัดใหญ่ 2009 ในช่วงหน้าหนาว ป้องกันการแพร่ระบาดสู่หมู และการกลายพันธุ์ พร้อมทั้งจะมีการประกาศให้เจ้าหน้าที่กทม. เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ มีอำนาจเต็มในการตั้งด่าน จับปรับ ผู้เคลื่อนย้ายสัตว์ผิดกฎหมายในพื้นที่ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 อย่างมีประสิทธิภาพ
พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตร เพื่อหารือแนวทางการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ 2009 ในฤดูหนาว โดยมี นางมนทิรา ทองสาริ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย นางวันทนีย์ วัฒนะ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม รผว.มาลินี ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับอธิบดีกรมปศุสัตว์ เบื้องต้นจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกัน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากกรุงเทพมหานคร กรมปศุสัตว์ และปศุสัตว์จังหวัดปริมณฑล เพื่อเป็นคณะทำงานคอยประสานความร่วมมือในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 แพร่เชื้อจากคนสู่หมู ป้องการโรคระบาดของสัตว์ปีก และสัตว์อื่นๆ รวมถึงหาแนวทางการจ่ายเงินชดเชยแก่เจ้าของฟาร์มหากต้องทำลายหมูที่ติดเชื้อ เพื่อให้การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ไปสู่หมู และจากหมูกลับมาสู่คน หรือการแพร่เชื้อไปยังไก่ สัตว์ปีก สัตว์ประเภทอื่น รวมถึงโรคระบาดของสัตว์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ประสานความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครไม่สามารถตั้งด่าน จับปรับ ผู้ที่เคลื่อนย้ายสัตว์ที่ติดเชื้อโรคระบาด อาทิ ไข้หวัดหมู ไข้หวัดนก โรคติดต่อในแพะ โรคฉี่หนู โดยผิดกฎหมายได้ กรมปศุสัตว์จะออกประกาศให้เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ เพื่อให้สามารถรับมือและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคสัตว์ติดต่อสู่คนได้เต็มกำลัง และมีประสิทธิภาพ
ซึ่งมีข้อมูลรายงานทางวิชาการพบว่า โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 สามารถติดต่อจากคนสู่หมูได้ นอกจากนี้ยังพบเชื้อไวรัสของหมูในไก่งวง จึงได้ประสานงานและเตรียมการล่วงหน้าโดยให้ผู้เลี้ยงหมูทั้งหมดดูแลทำความสะอาดฟาร์มของตนให้ดี ห้ามเลี้ยงไก่กับหมูรวมกัน ห้ามคนเลี้ยงหมูที่ป่วยเข้าฟาร์ม พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์แนะนำให้ความรู้ในพื้นที่อย่างดี มีการเก็บตัวอย่างหมูประมาณ 20,000 ตัวอย่าง ยังไม่พบไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 ในหมูในประเทศไทย ทั้งนี้การทำงานระหว่างหมูกับไก่ต้องแยกส่วนให้ชัด ป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสจากหมูสู่ไก่ หรือเชื้อไวรัสจากหมูกับไก่รวมกัน เกิดการกลายพันธุ์ เพราะจะทำให้เชื้อรุนแรงและมีอันตรายมากขึ้น นอกจากนี้แต่ละวันจะมีการตรวจสอบการเคลื่อนย้ายหมูกับไก่ หากพบฟาร์มที่มีหมูติดเชื้อ เบื้องต้นจะกักหมูไว้ดูอาการทั้งหมด ห้ามเคลื่อนย้าย เนื่องจากหมูจะไม่แสดงอาการมากนัก จนตรวจสอบแน่ใจแล้วว่าไม่ติดเชื้อจึงส่งหมูเข้าโรงฆ่าสัตว์ต่อไป สำหรับหมูติดเชื้อที่นำมาชำแหละจำหน่ายจะไม่มีความแตกต่างกับหมูที่ไม่ติดเชื้อ โดยเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 จะตายเมื่ออยู่ในอุณหภูมิ 50 องศาขึ้นไป
สำหรับการป้องการการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก กรมปศุสัตว์ให้มีการรายงานสัตว์ปีกป่วยตายทุกวันมาตั้งแต่ต้นปีขณะนี้ยังไม่พบการติดเชื้อหรือการแพร่ระบาด และในช่วงเดือน ก.ค. — ส.ค. ที่ผ่านมา มีการเอ็กซเรย์พื้นที่ทั่วประเทศ โดยจัดคณะกรรมการติดตามตรวจสอบ และทำความสะอาดแหล่งเลี้ยงสัตว์ทุกพื้นที่ทั่วประเทศด้วย