ความคืบหน้ากรอบ EU Emission Trading Scheme (ETS) : ผลศึกษาของบริษัท PriceWaterhouse Coopers

ข่าวทั่วไป Friday September 11, 2009 15:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--คต. นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า การดำเนินการของสหภาพยุโรปภายใต้กรอบ EU Emission Trading Scheme ( ETS) ตามที่ได้รับรายงานจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 1. การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของ EU ฝรั่งเศสได้เสนอว่าหากความตกลงในเรื่องการเปลี่ยน แปลงสภาพอากาศ (Climate Change) ระหว่างการประชุมที่กรุงโคเปนฮาเกนไม่คืบหน้าก็ให้เรียกเก็บภาษี Carbon Tariffs สินค้านำเข้าจากประเทศที่สามที่ไม่ยอมรับความตกลงดังกล่าว โดยมีสมาชิก EU หลายประเทศ ได้แก่ สวีเดน เยอรมนี และอังกฤษ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของฝรั่งเศส เนื่องจากมาตรการภาษีคาร์บอนอาจทำให้การเจรจาทำความตกลงระหว่างประเทศกำลังพัฒนาเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น รวมทั้งภาษีคาร์บอนจะเป็น A New Form of Eco - Imperialism และเป็นสิ่งยืนยันว่า EU ปกป้องตลาดสินค้านำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนาซึ่งขัดกับ WTO ที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรี 2. EU ได้เลื่อนการประกาศผลการจัดสรรปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 สำหรับการขนส่งทางอากาศจากเดิมที่กำหนดไว้เมื่อ 23 กรกฎาคม 2552 ออกไปจนถึงปลายปี 2552 เพื่อต้องการตวจสอบข้อมูลและตอบข้อทักท้วงจากอุตสาหกรรมการบินในยุโรป (Association of European Airlines : AEA) ซึ่งในปี 2554 แต่ละสายการบินจึงจะสามารถทราบได้ว่ารับจัดสรรปริมาณก๊าซ CO2 ที่สามารถปล่อยได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นปริมาณเท่าใด โดยมีการคาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายสำหรับอุตสาหกรรมการบินจะมีมูลค่าประมาณ 1.1 พันล้านเหรียญยูโรต่อปี หากราคา CO2 มีค่า 14.40 เหรียญยูโรต่อตัน (ราคา ณ วันที่ 21 ก.ค. 52) และมีแนวโน้มจะสูงขึ้น อย่างไรก็ดี AEA ประมาณการว่า ในปี 2555 อุตสาหกรรมการบินจะได้รับการจัดสรรปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในปริมาณ 210 ล้านตัน และเห็นว่าวิธีการคำนวณปริมาณก๊าซที่จะจัดสรรนั้นมีจุดบกพร่องที่มีการนำปริมาณก๊าซ CO2 จากเครื่องบินที่ถูกเลื่อนเวลาในการลงจอด และในขณะที่เครื่องบินอยู่ระหว่างจอดรอผู้โดยสารขึ้นเครื่องซึ่งต้องใช้เชื้อเพลิงในการเปิดแอร์และดำเนินการอื่นๆ รวมทั้งยังไม่มีฐานข้อมูล ของการปล่อยก๊าซ CO2 สำหรับเครื่องบินทุกรุ่น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้อุตสาหกรรมการบินมีภาระค่าใช้จ่ายที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซ CO2 ในปริมาณมากกว่าที่กำหนด นอกจากนี้ บริษัทที่ปรึกษา Price Waterhouse Coopers ได้เปิดเผยรายงานเรื่อง “Ready for Take-Off” ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการดำเนินการในระบบ ETS สำหรับการขนส่งทางอากาศ ได้แก่ (1) ระบบ ETS จะทำให้ผู้ประกอบการสายการบินต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิดและการดำเนินงาน โดยในระยะสั้นจะต้องพิจารณาทางเลือกในการลงทุนสำหรับเครื่องบินรุ่นใหม่ การปรับปรุงเส้นทางการบิน และการใช้เทคโนโลยีสะอาด ส่วนในระยะยาวจะต้องบูรณาการแนวคิดเรื่องการค้าและการลงทุนสำหรับคาร์บอนเครดิต เป็นต้น (2) ปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 ที่จะได้รับการจัดสรรจะมีผลโดยตรงต่อการวางยุทธศาสตร์ของบริษัทสายการบิน ในอนาคตดังเช่น เครื่องบินรุ่นใหม่จะมีข้อได้เปรียบ กลุ่มการบินเครื่องบินเก่าส่วนการบินที่ให้บริการบินในเส้นทางระยะสั้นจะได้รับผลกระทบมากกว่าการบินในระยะทางไกล รวมทั้งเครื่องบินที่สามารถให้บริการผู้โดยสาร หรือบรรทุกสินค้าในปริมาณมาก จะมีข้อได้เปรียบสูงกว่า (3) ปริมาณก๊าซ CO2 ที่จะได้รับการจัดสรรมีผลต่อสายการบิน 3 ประการ คือ สิทธิในการปล่อยก๊าซ CO2 การบริหารจัดการความเสี่ยง (Hedging) ด้านราคา และการซื้อ-ขายสิทธิในการปล่อยก๊าซ CO2 เครดิต และตราสารอนุพันธ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ดังนั้น สายการบินควรมีบทบาทในฐานะ Compliance Function ควบคู่ Trader จึงจะมีการจัดการบริหารอย่างมีประสิทธภาพ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหรือหน่วยงานที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://www.pwc.com/en_GX/gx/transportation-logistics/pdf/ready_for_take-off-final.pdf

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ