ปภ. ติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาล

ข่าวทั่วไป Monday September 14, 2009 11:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--ปภ. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนร่วมกับ ๗ จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดโครงการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุ ทางถนนช่วงเทศกาลปี ๒๕๕๒ ของจังหวัดที่มีสถิติอุบัติเหตุสูง รุ่นที่ ๒ ในวันที่ ๑๔ — ๑๕ กันยายน ๒๕๕๒ ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางถนน และศึกษาปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดที่มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงในช่วงเทศกาล นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า จากการดำเนินการลดอุบัติเหตุทางถนน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี ๒๕๕๒ พบว่าหลายจังหวัดสามารถลดจำนวนอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก มีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรมและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มแข็ง ในขณะที่หลายจังหวัดก็ได้ดำเนินการลดอุบัติเหตุอย่างจริงจังและอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับจังหวัดที่ประสบความสำเร็จ แต่กลับมีจำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บในเกณฑ์สูง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะฝ่ายเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน องค์กรหลักของภาครัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของประเทศ จึงได้ร่วมกับ ๗ จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภูและสกลนคร จัดโครงการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปี ๒๕๕๒ ของจังหวัดที่มีสถิติอุบัติเหตุสูงในช่วงเทศกาล รุ่นที่ ๒ ในวันที่ ๑๔ — ๑๕ กันยายน ๒๕๕๒ ณ ห้องปทุมวัน โรงแรมสุนีย์แกรนด์ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางถนน และศึกษาปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดที่มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงในช่วงเทศกาล นายชวน ศิรินันท์พร กล่าวถึง สถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี ๒๕๕๒ ในพื้นที่ ๗ จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า เกิดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่จังหวัดยโสธร ๑ ครั้ง อำนาจเจริญ ๑ ครั้ง สกลนคร ๓ ครั้ง หนองบัวลำภู ๓๔ ครั้ง กาฬสินธุ์ ๔๐ ครั้ง มุกดาหาร ๔๑ ครั้ง มหาสารคาม ๖๕ ครั้ง แสดงให้เห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนไม่เกี่ยวข้องกับจำนวนประชากร และขนาดพื้นที่ของจังหวัด แต่สัมพันธ์กับที่ตั้งของจังหวัดซึ่งมีเส้นทางสายหลักผ่านไปยังจังหวัดอื่นๆ และมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ในขณะที่จังหวัดซึ่งตั้งอยู่ตามแนวชายแดนของประเทศ แต่มิได้เป็นจังหวัดท่องเที่ยว มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนต่ำกว่าจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยว รูปแบบการดำเนินโครงการฯ ประกอบด้วย การบรรยายเรื่อง การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระดับจังหวัด สภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดอุบลราชธานี การแบ่งกลุ่มสัมมนาเรื่อง “แนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ตาม ๕ ยุทธศาสตร์” การอภิปรายแนวทางการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดยโสธร เพื่อแสดงให้เห็นถึงปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในการลดอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงการศึกษาดูงานด้านการลดอุบัติเหตุทางถนนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน และนำข้อมูลที่ได้ไปกำหนดเป็นแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ ทางถนน และนโยบายด้านการสร้างความปลอดภัยทางถนนที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ