กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--สถาบันสุขภาพเด็กฯ
สถาบันสุขภาพเด็กฯ ระบุเด็กไทยมีความเสี่ยงรับ ‘สารตะกั่ว’ ที่ปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำดื่ม ชี้ร่างกายเด็กดูดซึมสารพิษได้มากกว่าผู้ใหญ่ถึง 5-10 เท่า แม้รับสารปริมาณต่ำก็สามารถทำลายสมองและประสาท มีพัฒนาการช้าและถดถอย สมาธิสั้น ทำให้เกิดปัญหาการเรียน การจัดรณรงค์ป้องกันภัยอาหารปนเปื้อนสารตะกั่ว มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กไทยฉลาดรู้ ฉลาดเลือก และฉลาดบริโภค
พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ถึงแม้ปัจจุบันจะพบผู้ป่วยเด็กที่ได้รับสารพิษจากตะกั่วไม่มาก แต่ก็ยังพบได้ประปราย โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเด็กวัย 2 ขวบไม่ยอมเดินมีพัฒนาการช้าเข้ารับการรักษาในสถาบันฯ จากการตรวจหาสาเหตุและส่งเลือดตรวจเพิ่มเติม พบว่าเป็นผลจากการได้รับสารตะกั่วผ่านทางเดินอาหารเป็นระยะเวลานาน ทำให้สมองมีการสูญเสียถาวร ซึ่งหลังการรักษาแล้วพัฒนาการของเด็กยังคงล่าช้าเมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน
“สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯจึงจัดทำสื่อเผยแพร่ โครงการ “รณรงค์ป้องกันภัยอาหารปนเปื้อนสารตะกั่ว” ภายใต้โครงการ “อาหารปลอดภัยเด็กไทยฉลาด” กระทรวงสาธารณสุข โดยมีเป้าหมายให้เด็กไทยฉลาดรู้ ฉลาดเลือก และฉลาดบริโภค สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิเด็กของ UNICEF และ UNEP ที่ระบุว่าเด็กควรได้รับการปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัยจากผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปกป้องเด็กให้ปลอดภัยจากพิษของสารตะกั่ว เนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้รับผลกระทบ เพราะร่างกายของเด็กสามารถดูดซึมสารตะกั่วให้เข้าสู่ร่างกายได้มากถึง 50% เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ที่ดูดซึมเพียง 10-15% เท่านั้น”
พญ.รัตโนทัย พลับรู้การ รองผู้อำนวยการ และที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี โดยในปีแรกนี้จะเป็นการทบทวนองค์ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของสารตะกั่วที่มีต่อสุขภาพให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอาหารในโรงเรียน และผลิตสื่อให้ความรู้แก่เด็กเพื่อไปกระตุ้นให้พ่อแม่ผู้ปกครองตระหนักถึงพิษภัยของสารตะกั่วที่ปนเปื้อนในอาหารและน้ำ โดยเฉพาะการส่งผลกระทบต่อสุขภาพและพัฒนาการด้านสมองของเด็ก
“เราคาดหวังว่าผู้ที่ทำอาหารให้เด็กทานจะระมัดระวังทุกขั้นตอนในการปรุงอาหารให้ห่างไกลจากสารตะกั่ว เด็กๆที่โตแล้ว จะรู้วิธีเลือกอาหารที่ปลอดภัยจากสารตะกั่ว และรู้ความสำคัญของการล้างมือก่อนและหลังทานอาหาร การกินอาหารครบ 5 หมู่ การได้รับ ธาตุเหล็ก แคลเซียมและวิตามินซี เพียงพอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยป้องกันการได้รับและลดการดูดซึมสารตะกั่วเข้าสู่รางกายได้ดี ในปีที่ 2 และ 3 คือปี 2553 และ 2554 สถาบันฯจะลงสำรวจพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการรับสารตะกั่วสูง เช่นพื้นที่ที่พบเด็กที่มีปัญหาโรคนี้ รวมทั้งการผลิตสื่อความรู้ให้เข้าถึงเด็กและผู้ปกครองได้มากยิ่งขึ้น”
พญ.นัยนา ณีศะนันท์ กุมารแพทย์ จากหน่วยกุมารเวชศาสตร์สังคมและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เลขาโครงการฯเผยว่าแม้“พิษภัยสารตะกั่ว”ในประเทศไทยจะไม่ใช่ปัญหาหลักของสาธารณสุข เนื่องจากมีการเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันที่มีสารตะกั่วเป็นส่วนผสม มาใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว ทำให้ประเทศไทยไม่มีปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในอากาศที่เกินมาตรฐาน แต่สิ่งที่ยังเป็นความเสี่ยงอยู่คือ “การปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่มและผงฝุ่น” ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องป้องกัน เพราะเมื่อเด็กคนหนึ่งได้รับพิษจากสารตะกั่วไปแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะอยู่ตลอดไป โดยเฉพาะสมองที่กำลังพัฒนาไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้
“การรณรงค์ในปีนี้ได้จัดทำสื่อโปสเตอร์ แผ่นพับและสื่อVCD ให้กับโรงเรียนประถมและมัธยม 926 โรงเรียนทั่วประเทศ เหตุที่เลือกเด็กเป็นหลัก เพราะร่างกายของเด็กดูดซึมสารตะกั่วได้มากกว่าผู้ใหญ่ 5-10 เท่า และสารตะกั่วที่อยู่ในร่างกายของเด็กมีสัดส่วนการกระจายอยู่ในเนื้อเยื่อมากกว่าผู้ใหญ่ ร้อยละ 30 ต่อร้อยละ 10 ทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายเด็กได้มากกว่า โดยไม่แสดงอาการใดๆ ให้เห็นจากภายนอกเลย หากเด็กได้รับสารสะสมในปริมาณต่ำแต่ติดต่อกันเป็นเวลานานจะเป็นโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง ทำให้เกิดอันตรายต่อสมองและระบบประสาท และระดับสารตะกั่วในเลือดที่เพิ่มขึ้นทุก 10?g/dl จะทำให้สติปัญญาต่ำลง 4-7 จุด จากงานวิจัยของต่างประเทศพบว่าแม้ในระดับต่ำกว่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อการเรียนและพฤติกรรมของเด็ก เช่น เรียนรู้ช้า สมาธิสั้นและพัฒนาการถดถอย”
พญ.นัยนา ยังกล่าวถึงโอกาสในการปนเปื้อนสารตะกั่วที่มากับอาหารและน้ำดื่มของประเทศไทยว่า มาจากการปนเปื้อนในอาหารที่จำหน่ายข้างถนน โดยเฉพาะบริเวณที่มีการทุบตึกหรือการก่อสร้าง เพราะอาจจะมีผงฝุ่นตะกั่วซึ่งเป็นส่วนผสมในสีทาบ้านปนมาในอากาศติดตามเสื้อผ้าและภาชนะได้ จากหม้อก๋วยเตี๋ยว ตู้น้ำดื่ม หม้อกาแฟโบราณ ที่มีการเชื่อมบริเวณรอยต่อด้วยโลหะซึ่งมีส่วนผสมของตะกั่ว เมื่ออุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นถึง 80 องศาเซียลเซียส สารตะกั่วจะละลายปนเปื้อนออกมากับน้ำ ภาชนะเซรามิคที่มีสีและลวดลายสวยงามอยู่ในบริเวณที่ต้องสัมผัสกับอาหารโดยตรง และจากของเล่นเด็กที่ใช้สีผสมสารตะกั่วในการเพิ่มสีสันเมื่อเด็กนำไปเล่นมักจะอม หรือนำมือที่สัมผัสของเล่นเข้าปาก ก็จะรับสารตะกั่วผ่านทางเดินอาหารได้
“สารตะกั่วไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน แต่สามารถกำจัดได้โดยป้องกันไม่ให้เข้ามาอยู่ในวงจรชีวิตโดยเฉพาะ“ปนเปื้อนในอาหาร” เพราะสารตะกั่วสามารถเข้าสู่ร่างกายคนเราโดยผ่านทางลมหายใจ และดูดซึมผ่านทางเดินอาหาร ซึ่งสารตะกั่วในร่างกายปริมาณน้อยๆร่างกายจะกำจัดออกทางปัสสาวะและทางตับ แต่ถ้าร่างกายมีปริมาณสารตะกั่วมากเกินกว่าจะกำจัดทิ้ง สารตะกั่วจะไปสะสมอยู่ที่กระดูก ฟัน และอวัยวะต่างๆ เช่น ไต ตับ สมอง และปอด”
พญ.นัยนา ยังแนะวิธีป้องกันภัยเด็กจากสารตะกั่วเพิ่มเติมว่า คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ใช้ภาชนะอาหารที่มีลวดลายหรือตกแต่งด้านในที่สัมผัสอาหาร หรือภาชะที่เคลือบเสื่อม ไม่ใช้ภาชนะเซรามิคในการเก็บอาหารที่เป็นกรด เช่นน้ำส้มสายชู ขนมที่มีรสเปรี้ยว ผลไม้ดอง เพราะสีที่ใช้ทำลวดลายอาจมีส่วนผสมของสารตะกั่ว เลือกร้านอาหารที่ใช้หม้อก๋วยเตี๋ยวอนามัย และต้องเลือกของเล่นที่ไม่ใช้สีผสมสารตะกั่วรวมทั้งระมัดระวังไม่ให้บุตรหลานนำของเล่นเข้าปาก เป็นต้น.