กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--ส.อ.ท.
นายนพดล ปัทมะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ได้เป็นประธานในงานสัมมนา "ผู้ประกอบการได้อะไร..จากโครงการด้านกลไกการพัฒนาที่สะอาด : CDM" ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ซึ่งจัดโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมการสัมมนากว่า 500 คน ทั้งนี้ นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นปัญหาร่วมกันระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Emissions) จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในกระบวนการอุตสาหกรรม และจากการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศพัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ โดยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นทำให้อุณหภูมิและระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในโลกทั้งระบบกายภาพ ชีวภาพและการดำรงชีพของมนุษย์ ดังนั้นสภาอุตสาหกรรมฯ ในฐานะตัวแทนภาคอุตสาหกรรมที่มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงต่อการจัดการมลพิษอุตสาหกรรมที่เกิดจากกระบวนการผลิต จึงได้จัดงานสัมมนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อนำเสนอนโยบายและแนวทางที่เกี่ยวข้องกับกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism :CDM) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยได้ทราบถึงความสำคัญ วิธีการปฏิบัติ และประโยชน์ของการดำเนินงานด้านกลไกการพัฒนาที่สะอาด และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งทางด้านเศรษฐศาสตร์ สังคม และสิ่งแวดล้อมทั้งของประเทศและของโลกต่อไป
ด้านนายเฉลิมศักดิ์ วานิชสมบัติ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการศึกษาแผนกลยุทธ์แห่งชาติด้านกลไกการพัฒนาที่สะอาด พบว่าในปี พ.ศ. 2541 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งหมด 297.6 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้เป็นก๊าซ CO2 มากที่สุดคิดเป็น 68% ของก๊าซที่ปล่อยทั้งหมด โดยภาคพลังงานก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคิดเป็น 15% ของปริมาณก๊าซที่ปล่อยออกมาทั้งหมด จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยตัดสินใจให้สัตยาบันต่อพิธีสารเกียวโตเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2546 โดยสามารถที่จะทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ CDM ได้ ซึ่งประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากโครงการ CDM แบ่งเป็น 3 ด้านคือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม โดยปนะโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมคือคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศจะดีขึ้น มีการถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีที่สะอาดทั้งจากต่างประเทศและภายในประเทศ ด้านเศรษฐกิจคือ สามารถช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงพลังงานจากต่างประเทศ และลดภาระของประเทศที่ภาครัฐจะต้องลงทุนในการรักษาสิ่งแวดล้อม และด้านสังคมคือ การมีบทบาทบนเวทีโลกในการแก้ปัญหาระดับนานาชาติ ทำให้เพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาระหว่างประเทศ
กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism :CDM) เป็นกลไกหนึ่งในสามกลไกภายใต้พิธีสารเกียวโต และเป็นกลไกเดียวที่อนุญาตให้ประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศในกลุ่มภาคผนวกที่ 1 (Annex I Parties) ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดำเนินการร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 (Non-Annex I Parties) ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนกลไกอีกสองกลไกภายใต้พิธีสารเกียวโต ก็คือ การดำเนินการร่วม (Joint Implementation : JI) และการกำหนดการซื้อขายก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading : ET) วัตถุประสงค์หลักของกลไกการพัฒนาที่สะอาดตามที่กำหนดไว้ในพิธีสารเกียวโตก็เพื่อที่จะช่วยให้ประเทศพัฒนาแล้วสามารถดำเนินการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามพันธกรณีที่มีอยู่ภายใต้พิธีสารเกียวโต และในขณะเดียวกันก็จะเป็นกลไกที่ช่วยในการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งจะทำให้มีการลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาสู่ประเทศกำลังพัฒนามากยิ่งขึ้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1012-3 โทรสาร 0-2345-1295-99