เกษตรกรเรียกร้องรัฐบาลอนุมัติขยายพื้นที่อีสานปลูกยางพารา หลังโครงการยางล้านไร่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

ข่าวทั่วไป Tuesday September 15, 2009 09:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางฯ นายคำตา แคนบุญจันทร์ เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในโครงการอีสานเขียว จังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า เกษตรกรในโครงการส่งเสริมปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งโครงการอีสานเขียว โครงการมาตรา 21 ทวิ โครงการผู้ว่า CEO และโดยเฉพาะในโครงการยางล้านไร่มีความพึงพอใจจากกล้ายางที่ได้รับเพราะเติบโตดี โดยบางพื้นที่พร้อมที่จะกรีดแล้ว ยางพาราจึงกลายเป็นความหวังใหม่ของเกษตรกรภาคอีสาน ขณะนี้กลุ่มเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการยางล้านไร่จึงเสนอให้รัฐบาลขยายพื้นที่ปลูกยางในภาคอีสาน เพื่อขยายโอกาสให้เกษตรกรได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น “ยางพาราเป็นพืชที่เป็นความหวัง และคิดว่าจะสามารถสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรในภาคอีสานได้เมื่อเทียบกับโครงการส่งเสริมอาชีพอื่นๆของภาครัฐที่ผ่านมา จึงอยากให้ทางภาครัฐช่วยส่งเสริมเพิ่มพื้นที่ปลูกยางพาราโดยเฉพาะเกษตรกรในจังหวัดเลย มุกดาหาร และหนองบัวลำพู ที่ต้องการจะเปลี่ยนอาชีพจากการปลูกพืชไร่มาร่วมโครงการปลูกยางพารา เนื่องจากได้รับกล้ายางพันธุ์คุณภาพที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาว ทั้งเห็นตัวอย่างจากเพื่อนเกษตรกรในโครงการฯที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งนับเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรในภาคอีสาน” นายคำตากล่าว ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานกรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯเร่งระดมความความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการจัดทำแผนผลักดันเสนอรัฐบาล ให้พิจารณาอนุมัติการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราในโครงการส่งเสริมการปลูกยางพาราในพื้นที่ปลูกที่มีศักยภาพของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจากพบว่าเกษตรกรในโครงการปลูกยางพาราล้านไร่ประสบผลสำเร็จ โดยมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงที่ยังคงปลูกพืชไร่ หรือการทำนา “รูปแบบโครงการที่จะเสนอให้รัฐบาลดำเนินการ คือ จะให้แจกกล้ายางคุณภาพดีควบคู่ไปกับการให้ค่าปุ๋ยเคมีในการดูแลสวนยางในช่วง 3 ปีแรกในลักษณะเดียวกับโครงการมาตร 21 ทวิที่ สกย.เคยดำเนินการ คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณไร่ละ 4000 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งโครงการ 16,000 ล้านบาท โดยจะสนับสนุนให้เกษตรกรแต่ละรายที่จำนวนพื้นที่ 2-15 ไร่ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรที่ 3 แสนราย คิดเป็นเกษตรกรทั้งหมดที่จะได้รับประโยชน์จาการส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูกยาง 4 ล้านไร่ทั้งสิ้น 1.2 ล้านคนทั่วประเทศ” นายอุทัยกล่าวและว่า ภายใน 10 ปีหลังจากที่เกษตรกรเริ่มเปิดกรีดยางได้ (ตั้งแต่ปีที่ 8-17) รัฐบาลก็จะสามารถได้เงินคืนจากเงิน CESS ที่เก็บจากเกษตรกรเหล่านั้นได้ ด้วยเหตุนี้สมาคมฯเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร จึงอยากเสนอให้รัฐบาลพิจารณาการส่งเสริมการปลูกยางในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งยังมีพื้นที่มีศักยภาพในการปลูกยางได้อีกกว่า 9 ล้านไร่ ให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นทางหนึ่งที่จะทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคตทางการตลาด เพราะความต้องการใช้ในตลาดโลกปรับเพิ่มตัวขึ้นตามสถานการณ์ราคาน้ำมัน ตลอดจนการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจีนและอินเดีย นอกจากนี้ยางพารายังก่อให้เกิดอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มอีกจำนวนมหาศาล ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกร และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆ กว่า 6 ล้านคน อีกทั้ง ยางพารายังเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในการสร้างพื้นที่สีเขียวที่ช่วยในการสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนแผ่นดิน ช่วยปรับสภาพดินและภูมิอากาศให้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยลดปัญหาสังคม และปัญหาอาชญากรรม และยาเสพติด อันเกิดจากการอพยพจากถิ่นฐานเดิมของประชากรสู่สังคมเมืองอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ