กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--กระทรวงพลังงาน
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันจำนวนขยะมูลฝอยในประเทศไทยมีไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นตันต่อวัน โดยในเขตกรุงเทพมหานครร้อยละ 90 ใช้วิธีฝังกลบ และอีกร้อยละ 10 นำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนเขตเทศบาล และ นอกเขตเทศบาลที่ร้อยละ 60 กองทิ้งไว้หรือใช้วิธีเผากลางแจ้ง และอีกร้อยละ 40 นำไปฝังกลบ ซึ่งปัญหาขยะมูลฝอยเหล่านี้นับเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งควรจะมีวิธีจัดการที่มีประสิทธิภาพโดยนำมาผลิตเป็นพลังงาน
ดังนั้น เพื่อเป็นการจูงใจให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งขยะก็มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่ ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานจึงได้ออกประกาศการขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ให้รับซื้อได้ถึง 10 เมกะวัตต์ พร้อมกับออกมาตรการจูงใจทางด้านราคา ด้วยการกำหนดราคาส่วนเพิ่มในราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ให้แก่ VSPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ตามชนิดของพลังงาน โดยให้การสนับสนุนเป็นเวลา 7 ปี นับตั้งแต่วันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญา ซึ่งขยะหากมีผู้สนใจรัฐก็จะให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อถึง 2.50 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ ในส่วนของโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากขยะปัจจุบันมีจำนวน 6 แห่ง สามารถก่อสร้างแล้วเสร็จผ่านการทดสอบระบบแล้วจำนวน 3 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 4.125 เมกะวัตต์ ส่วนอีก 3 แห่ง ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จแต่อยู่ระหว่างการทดสอบระบบนั้น มีกำลังผลิตรวม 1.89 เมกะวัตต์
โดยโรงไฟฟ้าขยะที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและผ่านการทดสอบระบบแล้ว 3 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าเตาเผาขยะมูลฝอยเทศบาลเมืองภูเก็ต กำลังการผลิต จำนวน 2.5 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าหลุมฝังกลบขยะราชาเทวะ จังหวัดสมุทรปราการ กำลังการผลิต จำนวน 1 เมกะวัตต์ และ โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์และพลังงาน จังหวัดระยอง กำลังการผลิต จำนวน 625 กิโลวัตต์
สำหรับโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และพลังงาน จังหวัดระยอง ถือเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นค่าก่อสร้างโรงงาน และบริหาร ประมาณ 14.2 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการผลิตตั้งแต่กลางปี 2547 ปัจจุบันสามารถบำบัดขยะอินทรีย์จากครัวเรือนและตลาดสดได้ประมาณวันละ 15 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของกำลังการผลิตสูงสุดของโรงงาน มีกำลังผลิตติดตั้งทั้งสิ้น 1 เมกะวัตต์ และสามารถผลิตไฟฟ้าจากขยะขายเข้าระบบให้แก่การไฟฟ้าได้ จำนวน 625 กิโลวัตต์ เพื่อใช้ในเขตเทศบาลระยอง
นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลชนะเลิศ ด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนยอดเยี่ยมประเภทโครงการโรงไฟฟ้าความร้อนร่วมจากชีวมวล ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และ อนุรักษ์พลังงานพลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงานในการประกวด Thailand Energy Awards 2006
ส่วนโรงไฟฟ้าขยะ ที่อยู่ระหว่างการทดสอบระบบ 3 แห่ง ได้แก่ โครงการกำจัดขยะเกาะช้าง จ.ตราด กำลังการผลิต จำนวน 70 กิโลวัตต์ โรงไฟฟ้าหลุมฝังกลบขยะกำแพงแสน จ.นครปฐม กำลังการผลิต จำนวน 870 กิโลวัตต์ และ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม จ.ชลบุรี มีกำลังการผลิต จำนวน 950 กิโลวัตต์