กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--เนคเทค
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จับมือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยได้รับความร่วมมือจากสมาชิกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบดิสก์ไดร์ฟ นานาชาติ (International Disk Drive Equipment and Materials Assocciation; IDEMA) เปิดแผน”โครงการพัฒนา เครือข่ายวิสาหกิจฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD Cluster Project)” สร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มความเชื่อมั่นให้อุตสาหกรรม ฮาร์ดดิสก ในประเทศไทย
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “สวทช. ได้ทำการศึกษา อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์และพบว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูง จากสถิติในปี 2547 พบว่ามูลค่าส่งออกของ ฮาร์ดดิสก์และอุปกรณ์ประกอบนั้นมีมูลค่าถึง 222,000 ล้านบาท นอกจากนั้นอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ยังก่อให้เกิดมูลค่า เพิ่มในแก่ประเทศไทยถึง 70,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณร้อยละ 3.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ถูกจัดให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ และได้รับการส่งเสริมโดยสำนักงานส่งเสริม การลงทุน (บีโอไอ) เป็นอย่างดีมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย และเพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ในประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดย สวทช.ร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทั้งจากภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาได้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรรมการพัฒนาวิสาหกิจฮาร์ดดิสก์ขึ้นภายใต้การดำเนินการของเนคเทค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวใน ประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งเพื่อไปสู่ความเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ของโลกด้วยเทคโนโลยีและแรงงานระดับสูง
นายเบร้น บาร์กแมนน์ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบดิสก์ไดร์ฟนานาชาติ (IDEMA) กล่าวว่า “สมาชิกไอดีมาและผู้ผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟได้ศึกษาถึงความต้องการของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์และได้นำเสนอข้อสรุปต่อสวทช.และบีโอไอเพื่อพิจารณาถึงศักยภาพของ อุตสาหกรรมรวมทั้งนำไปสู่ข้อเสนอแนะแนวทางดำเนินการการพัฒนาฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ในประเทศไทย”
จากข้อเสนอของผู้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟได้นำมาสู่โครงการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟซึ่งเกิดจากความร่วมมือและตกลงร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนซึ่งโครงการดังกล่าวจะนำมาซึ่งการเติบโตของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องรองรับกับความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวถึงรายละเอียดว่า “เป้าหมายสำคัญของการดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) การสร้างความเข้าใจและพัฒนาวิสัยทัศน์สำหรับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟของประเทศไทย โดยอาศัยกลไกการขยายความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายในกลุ่มผู้ดำเนินการของเครือข่ายวิสาหกิจนี้
นอกจากนี้ยังสร้างความแข็งแกร่งในกระบวนการเรียนรู้เทคนิคและการสร้างนวัตกรรมใหม่พร้อมทั้งช่วยเหลือสนับสนุนเครือข่ายวิสาหกิจแบบระยะยาวในการแข่งขันกับนานาประเทศ องค์ประกอบหลักของการพัฒนาและการสร้างความพร้อมเพื่อส่งเสริมโครงการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟที่ได้ออกแบบให้สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมและการสร้างฐานความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ในการเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แผนการส่งเสริมที่ได้จัดเตรียมไว้มี 7 โครงการดังต่อไปนี้
1. จัดโปรแกรมฝึกอบรมสำหรับวิศวกร และช่างเทคนิคด้านเครื่องจักรกลอัตโนมัติ
2. ปรับปรุงการรับรองเทคโนโลยีความสามารถในการจัดเก็บ
3. จัดตั้งสถาบันวิศวกรรมสำหรับการตรวจวัดความแม่นยำ Tool & Die ของประเทศไทย
4. ส่งเสริมโครงการ IDEMA Automation
5. จัดตั้งสถาบันพัฒนาฮาร์ดดิสก์
6. พัฒนาระบบการลงทุนแบบใหม่สำหรับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์
7. จัดทำแผนทิศทางของเทคโนโลยี ฮาร์ดดิสก์
นายสุชาติ พิศิษฐวานิช ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวถึงการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาว่า จากการที่บีโอไอได้มีการกำหนดนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตฮาร์ดดิสก์ ได้มีผู้ผลิต 4 รายคือ ซีเกท ฮิตาชิ เวสเทิร์น ดิจิตอล และฟูจิตสึได้ยื่นขอขยายโครงการและได้รับการอนุมัติโดยกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 190 ล้านชิ้นต่อปี ส่งผลให้มีการขยายกำลังการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เช่น มอเตอร์ หัวอ่านและบันทึกข้อมูล ชุดหัวอ่านและบันทึกข้อมูล และสไลเดอร์ เพิ่มขึ้นด้วยและจนถึงปัจจุบันมีผู้ได้รับการส่งเสริมผลิตชิ้นส่วนของฮาร์ดดิสก์ทั้งสิ้น ประมาณ 40 ราย มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 208,679 ล้านบาท เป็นเงินลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และมาเลเซียเป็นส่วนใหญ่ มีการจ้างงานรวมประมาณ 110,000 คนโดยตั้งโรงงานอยู่ในแต่ละภูมิภาค เช่นภาคกลางในจังหวัดอยุธยา ปทุมธานี และปราจีนบุรี ภาคเหนือในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในจังหวัดนครราชสีมา สำหรับในปี 2548 คาดว่าจะมีการขอรับการส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกทั้งการผลิตหัวอ่านและบันทึกข้อมูล ชุดหัวอ่านและบันทึกข้อมูล เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตฮารดดิสก์
ข้อมูลเกี่ยวกับเนคเทค กรุณาเข้าไปที่ http://www.nectec.or.th/
ข้อมูลเกี่ยวกับบีโอไอ กรุณาเข้าไปที่ http://www.boi.go.th
ข้อมูลเกี่ยวกับไอดีมา กรุณาเข้าไปที่ http://www.idema.org/
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
คุณลัญจนา นิตยพัฒน์ โทร. 0-2564-6900 ต่อ 2346
และคุณขวัญจิต สุดสวัสดิ์ โทร. 0-2715-2919--จบ--