กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยกเลิกอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ตามความประสงค์ของบริษัทเนื่องจากบริษัทไม่มีแผนจะออกหุ้นกู้ในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งมีผลให้การติดตามทบทวนผลการดำเนินงานของบริษัทซิงเกอร์ประเทศไทย ยุติลง โดยผลอันดับเครดิตองค์กรระดับ “BBB/Positive” ของบริษัทที่เคยประกาศมาก่อนหน้านี้ไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้อีกต่อไป ในขณะดียวกัน ทริสเรทติ้งได้ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “BBB” จากเดิมที่ “BBB-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนโครงสร้างเงินทุนของบริษัทที่แข็งแกร่งขึ้นหลังจากการเพิ่มทุนจำนวนมากในเดือนสิงหาคม 2549 โดยบริษัทนำเงินเกือบทั้งหมดจากการเพิ่มทุนไปชำระคืนหนี้เกือบครึ่งหนึ่งของหนี้คงค้างภายใต้สัญญาหลักในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (MRA) นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังรวมถึงสถานะของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ ความเป็นผู้นำในการผลิตเม็ดพลาสติก Low Density Polyethylene (LDPE) และแนวโน้มในทางบวกสำหรับความต้องการปูนซีเมนต์และ LDPE ในระยะปานกลางด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศ และวัฏจักรของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และปิโตรเคมีซึ่งทำให้ผลประกอบการของบริษัทค่อนข้างผันผวน
ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable“ หรือ “คงที่“ สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าโครงสร้างทางการเงินของบริษัททีพีไอ โพลีนจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยังคงมีการแข่งขันสูง และยังสะท้อนความเชื่อมั่นของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถหาแหล่งเงินกู้ใหม่เพื่อมาทดแทนเงินกู้เก่าได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากมีสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อการดำเนินงานของบริษัท ในทางตรงกันข้าม หากผลการดำเนินงานของบริษัทดีกว่าที่คาดการณ์ไว้และคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลมีคำตัดสินซึ่งมีผลให้ภาระหนี้ของบริษัทลดลงก็อาจมีการพิจารณาปรับเพิ่มอันดับเครดิต
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัททีพีไอ โพลีนได้รับเงินจากการเพิ่มทุนจำนวน 12,115 ล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2549 และนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้จำนวน 11,500 ล้านบาท ส่งผลให้ภาระหนี้คงค้างลดลงอย่างมากจาก 32,122 ล้านบาทในปี 2548 เหลือเพียง 16,840 ล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2549 ทั้งนี้ ภาระหนี้ของบริษัทที่มีกับสถาบันการเงินต่างๆ ประกอบด้วยภาระหนี้ภายใต้โครงการซื้อหนี้คืนแบบมีส่วนลด 5,480 ล้านบาท และภาระหนี้ภายใต้สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 11,360 ล้านบาท ซึ่งภาระหนี้ตามโครงการซื้อหนี้คืนแบบมีส่วนลดประกอบด้วยภาระหนี้เงินต้น 3,949 ล้านบาท ดอกเบี้ยค้างจ่าย 1,424 ล้านบาท และดอกเบี้ยผิดนัดค้างจ่าย 107 ล้านบาท โดยบริษัทได้วางเงินไว้ที่ศาลล้มละลายกลางจำนวน 3,118 ล้านบาทเพื่อใช้ชำระหนี้ในราคาที่ตกลงไว้ หากหักภาระหนี้ตามโครงการซื้อหนี้คืนแบบมีส่วนลดออก ภาระหนี้ของบริษัทจะลดลงเหลือ 11,360 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยภาระหนี้เงินต้น 10,787 ล้านบาท ดอกเบี้ยค้างจ่าย 5 ล้านบาท และดอกเบี้ยผิดนัดค้างจ่าย 568 ล้านบาท บริษัทมีข้อโต้แย้งกับเจ้าหนี้เกี่ยวกับการซื้อหนี้คืนตามโครงการซื้อหนี้คืนแบบมีส่วนลดตั้งแต่ปี 2547 โดยศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้ตามการซื้อหนี้คืนในปี 2548 โดยเจ้าหนี้ได้ยื่นอุทธรณ์และขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ซึ่งหากบริษัทชนะคดี บริษัทก็จะมีกำไรจากการซื้อหนี้คืนประมาณ 2,362 ล้านบาท ประกอบด้วยกำไรจากการลดลงของภาระหนี้เงินต้น 831 ล้านบาท และกำไรจากการได้รับยกเว้นดอกเบี้ยค้างจ่ายและดอกเบี้ยผิดนัดค้างจ่าย 1,531 ล้านบาท
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัททีพีไอ โพลีนเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในเดือนกรกฎาคม 2543 ภายใต้สัญญาดังกล่าว บริษัทจะต้องชำระหนี้ภายในปี 2547 โดยสามารถขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินต้นได้ 3 ครั้งๆ ละ 1 ปี ที่ผ่านมาบริษัทได้ขอขยายระยะเวลาชำระคืนเงินต้นไปแล้ว 2 ครั้งซึ่งมีกำหนดชำระในเดือนธันวาคม 2549 นี้ ขณะนี้บริษัทอยู่ในระหว่างการจัดหาเงินกู้ใหม่เพื่อนำมาชำระหนี้ที่มีอยู่และกำลังพิจารณาแนวทางในการยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งหากบริษัทไม่สามารถจัดหาเงินกู้ใหม่ได้ก่อนกำหนดการชำระหนี้ บริษัทจะใช้สิทธิในการขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้เป็นครั้งสุดท้ายออกไปเป็นสิ้นเดือนธันวาคม 2550 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถสรุปผลการจัดหาเงินกู้ใหม่เพื่อทดแทนหนี้เงินกู้เก่าและออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ภายในครึ่งแรกของปี 2550 ทั้งนี้ คาดว่าการเปลี่ยนแหล่งเงินกู้ใหม่จะทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินมากขึ้นเนื่องจากน่าจะมีการกำหนดให้ตารางการชำระหนี้สอดคล้องกับกระแสเงินสดภายในของบริษัทในส่วนของผลการดำเนินงานนั้น ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าแรงกดดัน
จากความต้องการปูนซีเมนต์ ที่ลดลงและการแข่งขันที่สูงจะยังคงอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตาม คาดว่าความต้องการปูนซีเมนต์ในระยะใกล้จะเพิ่มขึ้นจากการที่ต้องใช้ปูนซีเมนต์ในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภคอันเนื่องมาจากภัยน้ำท่วมในเขตภาคเหนือและภาคกลางของประเทศ นโยบายการปรับลดราคาปูนซีเมนต์เพื่อที่จะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดได้เปลี่ยนมาเป็นการปรับราคาขายเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มผลกำไร อย่างไรก็ตาม ราคาขายที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้นก็ไม่เพียงพอที่จะชดเชยกับราคาต้นทุนพลังงานและเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับธุรกิจพลาสติกนั้น ผลการดำเนินงานปรับตัวลดลงจากการที่ส่วนต่างระหว่าง LDPE กับ Ethylene และ Ethyl Vinyl Acetate (EVA) กับ Ethylene ปรับตัวแคบลง ส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 ลดลงมาอยู่ที่ 16.09% เปรียบเทียบกับ 17.78% ในปี 2548 อย่างไรก็ตาม เงินทุนจากการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกซึ่งอยู่ที่ 2,262 ล้านบาทไม่เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากการปรับตัวลดลงของดอกเบี้ยจ่ายซึ่งเป็นผลจากภาระหนี้ที่ลดลงและกำไรที่เกิดขึ้นจริงจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 630 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าภาระดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทจะปรับตัวลดลงอีกจากการที่บริษัทได้ชำระคืนหนี้กว่า 11,500 ล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2549 นอกจากนี้ อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากจาก 46.04% ในปี 2548 มาอยู่ที่ 22.46% ณ เดือนกันยายน 2549
ทริสเรทติ้งยังกล่าวว่า โครงสร้างเงินทุนของบริษัททีพีไอ โพลีนคาดว่าไม่น่าจะปรับตัวดีขึ้นมากนักในอนาคต การสร้างกระแสเงินสดของบริษัทจะถูกจำกัดโดยแรงกดดันจากการหารายได้ ตลอดจนแผนการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ (ในโรงงานปูนซีเมนต์แห่งที่ 4 และโครงการประหยัดพลังงาน) การจ่ายเงินปันผล และการจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งจะเริ่มในปีงบประมาณ 2549 หลังจากที่บริษัทได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการขาดทุนยกมาหมดแล้ว