กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--สหมงคล ฟิล์ม
สมแล้วที่ประเทศแอฟริกาใต้ได้รับคำเรียกขานอย่างว่าเป็น ‘ความหวังใหม่ของวงการภาพยนตร์โลก’
มีนาคมที่ผ่านมา Tsotsi หนังดังจากแอฟริกาใต้คว้าตำแหน่งภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ครั้งล่าสุดไปครองได้สำเร็จ
ปีก่อน U-Carmen eKhayelitsha หนังเพลงประหลาดล้ำจากแอฟริกาใต้เช่นกัน คว้าตำแหน่งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังนานาชาติเบอร์ลิน
และหากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นสักเล็กน้อย ก็จะพบว่ามีหนังสัญชาติแอฟริกาใต้อีกเรื่องที่เดินทางไปสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ ณ เทศกาลหนังสำคัญๆ ในระดับนานาชาติหลายแห่ง
หนังเรื่องที่ว่านี้คือ The Wooden Camera The Wooden Camera เป็นผลงานของ นชาเวนี วา ลูรูลี ผู้กำกับชาวแอฟริกาใต้ที่เคยร่วมงานกับคนทำหนังชั้นนำของโลกอย่าง สไปก์ ลี มาก่อน
เรื่องราวของหนังเริ่มต้นขึ้นบริเวณริมทางรถไฟแห่งหนึ่งในเมืองเคปทาวน์ เด็กชายผิวดำ 2 คนกำลังเที่ยวเล่นกันตามประสาเด็ก แต่แล้วจู่ๆ ขณะเฝ้ามองรถไฟขบวนหนึ่งวิ่งผ่านไป ก็เกิดมีศพชายนิรนามคนหนึ่งถูกทิ้งลงมาจากรถไฟขบวนนั้น มาตกลงแหมะใกล้ๆ กับที่ทั้งคู่ยืนอยู่ เด็กชายทั้งสองปรี่เข้าไปสำรวจศพด้วยความหวาดหวั่นแกมอยากรู้อยากเห็น — อย่างไม่คาดคิด ทั้งคู่พบว่าข้าวของที่ติดตัวศพอยู่ มีกล้องวิดีโอตัวหนึ่ง และปืนอีกหนึ่งกระบอก
ทั้งสองตกลงใจแบ่งสมบัติกันโดยเร่งด่วน คนหนึ่งได้ปืนไป ส่วนอีกคนก็เอากล้องวิดีโอไว้ และในเวลาต่อมา สิ่งของที่แต่ละคนเลือกหยิบเอาจากศพลึกลับรายนั้น ก็ส่งผลให้เส้นทางชีวิตของเด็กชายทั้งสอง — ซึ่งแต่เดิมเป็นเพื่อนรักกัน — แตกต่างและถอยห่างจากกันโดยไม่รู้ตัว
The Wooden Camera ได้รับรางวัล Glass Bear จากเทศกาลหนังเบอร์ลิน, รางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยมและรางวัล อองรี อเลอกอง (รางวัลพิเศษ มอบให้แก่หนังซึ่งมีงานด้านภาพโดดเด่นโดยเฉพาะ) จากเทศกาลหนังปารีส อีกทั้งยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่เทศกาลหนังนานาชาติรอตเตอร์ดามอีกด้วย
หลายคนที่ได้ดู The Wooden Camera แล้วบอกตรงกันว่า อดไม่ได้ที่จะนึกถึงหนังดี-ดูสนุกอย่าง City of God ของ เฟอร์นานโด เมเรลเลส เพราะเค้าโครงเนื้อหาค่อนข้างจะใกล้เคียงกัน ทว่าบรรยากาศโดยรวมของ The Wooden Camera ออกจะ ‘อ่อนโยน’ และ ‘นุ่มนวล’ กว่า
ดังนั้นหากจะเรียก The Wooden Camera ว่า ‘City of God ฉบับละมุนละม่อม’ ก็น่าจะเหมาะสมที่สุดแล้ว
จุดเด่นของ The Wooden Camera นั้น นอกจากจะเป็นหนังดีที่สร้างความเพลิดเพลินแก่ผู้ชมได้อักโขแล้ว ยังมีการสอดแทรกถ้อยคำวิพากษ์สังคมไว้อย่างแนบเนียน คนเชื้อสายแอฟริกันผิวดำในหนังเรื่องนี้มีชีวิตความเป็นอยู่อัตคัดขัดสน และถูกคนผิวขาวดูถูกเหยียดหยาม ทั้งที่ที่นั่นมันเป็นผืนแผ่นดินของพวกเขาเองแท้ๆ
หนังมีฉากที่นำเสนอแง่มุมในส่วนนี้ได้อย่างกระทบใจหลายฉาก เช่น การที่เด็กผิวดำเล็กๆ คนหนึ่งต้องถูกตะเพิดออกจากบ้านของคนขาว ทั้งที่เขาไม่ได้ทำสิ่งใดไม่เหมาะไม่ควรเลยสักนิด
The Wooden Camera บอกกับผู้ชมว่า บางทีอาจเป็นเพราะความคิดและถ้อยคำเหยียดหยามจากคนขาว และการถูกปิดกั้นโอกาสต่างๆ ทางสังคมนี่เอง ที่ทำให้คนผิวดำจำนวนหนึ่ง ต้องลงเอยด้วยการทำสิ่งชั่วร้าย กลายเป็นบุคคลอันตรายต่อสังคม ทั้งที่มันไม่ใช่ความตั้งใจแรกของพวกเขาเลย
อย่างไรก็ตาม แม้จะแสดงให้เห็นปัญหาดังกล่าวเป็นระยะๆ โดยตลอดทั้งเรื่อง ทว่าท้ายที่สุดแล้ว สาระสำคัญของ The Wooden Camera ก็อยู่ที่การทำให้ผู้ชมตระหนักว่า ‘ชีวิตย่อมต้องมีทางออก และมนุษย์ย่อมต้องมีทางเลือก แม้ในยามที่ตกอยู่ในภาวะแล้งไร้ที่สุด’
พูดง่ายๆ ก็คือ มันเป็นหนังที่ให้ความหวังและกำลังใจในการดำเนินชีวิตแก่ผู้ชมนั่นเอง
ด้วยองค์ประกอบทั้งหมดดังที่กล่าวมานี้เอง ที่ทำให้ The Wooden Camera เป็นหนังที่ผู้ชมไม่ควรพลาดเป็นอันขาด
หนังมีกำหนดฉายในวันที่ 15 มิถุนายนนี้
ที่โรงภาพยนตร์ house แห่งเดียวเท่านั้น
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net