กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--ซีดีจี
‘จีน’ แฮกระบบคอมพิวเตอร์ ‘เพนตากอน ‘ ‘เว็บไซต์กว่า 20 แห่งของเกาหลีใต้และสหรัฐถูกโสมแดงป่วน’ รวบหนุ่มมาเลย์แฮกบัตรเครดิตทั่วโลก 5 พันล.
พาดหัวข่าวต่างประเทศหลายเหตุการณ์ที่แสดงถึงการถูกจารกรรมความลับและข้อมูล ซึ่งล้วนแต่สร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของประเทศอย่างร้ายแรง เนื่องจากเป้าหมายที่มุ่งโจมตี คือ ความมั่นคงปลอดภัยระดับชาติ การฉวยประโยชน์จากความได้เปรียบทางเทคโนโลยี อาศัยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ บัตรเครดิตเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่มักจะถูกแฮกบ่อยครั้ง เพราะเกี่ยวข้องกับเม็ดเงินมหาศาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งอุดช่องโหว่ในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น แต่จะดีกว่าหรือไม่ หากสามารถป้องกันภัยร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อนที่จะถูกรุกราน (อีกครั้ง)
โครงการ ‘Network Security Contest’ จึงเกิดขึ้นเพื่อมุ่งปลูกฝังให้เยาวชนเรียนรู้ เท่าทันภัยคุกคาม และสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการปกป้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
“ เรานำนิสิต นักศึกษาที่สนใจเรื่อง Network Security จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ มาเรียนรู้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้ถูกต้องเหมาะสม ขณะเดียวกันเราปลูกฝังการทำงานร่วมกันเป็นทีมในการค้นหาจุดอ่อนของระบบเครือข่าย และร่วมกันค้นหาวิธีป้องกันการแฮกระบบ โดยฝึกฝนผ่านรูปแบบของข้อสอบ และการปฏิบัติในระบบจำลอง “ ไพบูลย์ ชีวินศิริวัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น จำกัด (TCS) ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งโครงการฯ เปิดเผย
โดยความร่วมมือของผู้ใหญ่ใจดี 2 ฝ่าย ทั้ง TCS และสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ควงแขนกระชับแน่นจัด Network Security Contest อย่างต่อเนื่องมาตลอด 3 ปี เชื่อมั่นว่า นิสิตนักศึกษาเหล่านี้คือ พลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ โครงการดังกล่าวจะช่วยจุดประกายให้สังคมไทยพัฒนาความรู้ความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัย ท่าม กลางความรุนแรงของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทวีคูณขึ้น แม้จะไม่มีสาขาวิชาด้านระบบเครือข่าย (Network) และระบบรักษาความปลอดภัย (Security) โดยตรง แต่ศักยภาพด้าน Network Security ที่แฝงอยู่ในตัวเยาวชนเหล่านี้ไม่ได้เป็นรองความสามารถด้านอื่นเลย เพียงแต่ขาดโอกาสในการฝึกฝน เก็บเกี่ยวประสบการณ์นอกเหนือ จากตำราเรียน
พุทธิกร วรวุฒิวัฒน์ , สุพรรณ ฟ้ายง และ ณัฐวุฒิ กุลนิรันดร สามหนุ่มเดอะวินเนอร์รุ่นล่าสุด จากทีม SecueByte จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยเคล็ดลับความสำเร็จจากการคว้าแชมป์ในการแข่งขันครั้งนี้อยู่ที่ การเตรียมตัวที่ดี โดยการขอคำปรึกษาจากอาจารย์ภายในมหาวิทยาลัย การสอบถามจากรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์เข้าร่วมการแข่งขันเมื่อปีที่แล้ว การค้นคว้าหาข้อมูลและเครื่องมือต่างๆ (Tools) มาใช้ประโยชน์ จากเว็บ ศึกษาข้อกฏหมายจากพรบ.คอมพิวเตอร์ ตลอดจนการทำแลปจำลองสถานการณ์จริง
“ทุกวันนี้ เรามีมือถือ มี Google เราอยากได้ข้อมูลอะไรเมื่อไหร่ เราก็โทร เราก็ Search หา แต่ว่าการแข่งขันในครั้งนี้ เราต้องอยู่ในสภาพออฟไลน์ตลอดเวลา ไม่สามารถหาข้อมูลได้ ทำให้เราได้รู้ว่าการเตรียมตัวที่ดีนั้นจริงๆ แล้วมันต้องเตรียมอะไรมาบ้าง เพราะว่าเมื่อเราเข้าห้องสอบแล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว”
ทีม SecueByte ยังสะท้อนความคิดเห็นในตอนท้ายว่า “ ภายในมหาวิทยาลัยมีการเรียนการสอนวิชา Secure Network เหมือนกัน แต่ว่าไม่มีแลป ซึ่งผมอยากให้มี เพื่อให้นิสิตทุกคนได้ศึกษา ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะทำให้เข้าใจได้ว่าชื่อย่อต่างๆในอินเตอร์เน็ตจริงๆ แล้วคืออะไร ”
ผศ.วิชาญ เลิศวิภาตระกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา(Uninet) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการเรียนรู้ในภาคปฏิบัติว่า การที่เด็กได้มีโอกาสศึกษาหลักสูตร Network ในภาคปฏิบัติ สามารถส่งเสริมภาคทฤษฎีและช่วยให้นิสิตนักศึกษาทุกคนรู้ในเรื่องการเรียนมากขึ้น ซึ่งโครงการ Network Security Contest เป็นเหมือนเอกลักษณ์ของหลักสูตร Network อย่างหนึ่งไปแล้วด้วยรูปแบบของเนื้อหาเทคโนโลยีที่ยังไม่เคยมีหน่วยงานไหนจัดงานในลักษณะนี้มาก่อน
ภัยคุกคามจากการแทรกซึมและทำลายทางคอมพิวเตอร์ โดยอาศัยช่องว่างของระบบรักษาความปลอดภัยยังคงเกิดขึ้นได้เสมอ TCS จึงตอกย้ำบทบาทการเป็นตัวกลางคอยกระตุ้นและจุดประกายให้หน่วยงานการ ศึกษาต่างๆ พัฒนาความสามารถของนิสิตนักศึกษาในด้านเน็ตเวิร์ค และซีเคียวริตี้ โครงการ ‘Network Security Contest 2009’ ปีที่ 4 กำลังจะเปิดฉากขึ้นครั้งนี้ เพื่อเป็นการกระจายโอกาสให้กับนิสิต นักศึกษา ทุกสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศอย่างทั่วถึง ได้จัดให้มีศูนย์สอบอยู่ 5 ศูนย์ ทั่วประเทศ โดยผู้สมัครสามารถเลือกศูนย์สอบได้ตามที่จัดไว้ได้แก่
ภาคเหนือ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่, ภาคตะวันออก ที่มหาวิทยาลัยบูรพา, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาคกลางที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สำหรับใครที่สนใจ เตรียมลับสมองมาประลองการสร้างกำแพงให้หนาแน่น พร้อมรวบรวมสมาชิกให้ครบทีมละ 3 คน ไม่จำกัดคณะและภาควิชา สมัครมาได้ที่แผนกการตลาด บริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น จำกัด หรือ Email: TCSMKT@g-able.com ตั้งแต่วันนี้ ถึง 10 ตุลาคม 2552 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-685-9436,9437