แนวทางปฏิบัติ (Code of Conduct) ตามมาตรการ BSCI

ข่าวทั่วไป Friday September 18, 2009 15:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--คต. นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่าปัจจุบันผู้นำเข้าและผู้ค้าปลีกในยุโรปมากกว่า 300 ราย ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์กร Business Social Compliance Initiative (BSCI) ได้มีนโยบายส่งเสริมให้บริษัทซัพพลายเออร์ของตน รวมทั้งบริษัทที่รับช่วงสัญญาของซัพพลายเออร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตในช่วงสุดท้าย ต้องปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติ (Code of Conduct) ในด้านสังคมและแรงงานที่ BSCI จัดทำขึ้น แนวทางปฏิบัติดังกล่าวมีรายละเอียดที่สำคัญ 10 ประเด็น สรุปได้ดังนี้ 1.ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของรัฐ มาตรฐานแรงงานขั้นต่ำ กฎบัตรของสหประชาชาติ และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ 2. ต้องเคารพสิทธิของพนักงานในการจัดตั้งและเข้าร่วมสหภาพการค้าและต่อรองร่วมกันเป็นกลุ่ม 3. ห้ามมีการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติอันเนื่องจากเพศ อายุ ศาสนา สัญชาติ ความพิการฯลฯ ในการจ้างงาน การจ่ายค่าตอบแทน การเข้ารับการฝึกอบรม การเลื่อนตำแหน่ง การไล่ออก หรือการเกษียณ 4. การจ่ายค่าจ้างตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงสำหรับเวลาทำงานปกติ ค่าล่วงเวลา และอัตราที่แตกต่างระหว่างค่าแรงกับค่าล่วงเวลาจะต้องเท่ากับหรือสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำและ/หรือมาตรฐานแรงงาน 5. ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานแรงงานของประเทศเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงาน ทั้งนี้ชั่วโมงการทำงานสูงสุดต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และการทำงานล่วงเวลาในหนึ่งสัปดาห์จะต้องไม่มากกว่า 12 ชั่วโมง 6. ต้องมีการกำหนดระเบียบและกระบวนการที่เกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงานอย่างชัดเจน และปฏิบัติตามระเบียบและกระบวนการดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดหาและการใช้อุปกรณ์ป้องกันภันส่วนบุคคล 7. ห้ามมีการใช้แรงงานเด็ก ตามคำจำกัดความขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศและข้อตกลงของสหประชาชาติ และ/หรือกฏหมายของประเทศนั้นๆ 8. ห้ามบังคับใช้แรงงานและลงโทษทางร่างกายและจิตใจ เช่น การใช้คำพูดทำร้ายจิดใจ 9. การกำจัดของเสีย การจัดการและกำจัดสารเคมีและวัสดุอันตรายต้องผ่านมาตรฐานทางกฏหมายหรือสูงกว่ามาตรฐาน 10. ต้องกำหนดและปฏิบัติตามนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งนโยบายต่อต้านการติดสินบนและการรับสินบน ทั้งนี้ผู้ประกอบการของไทยที่ได้รับการร้องขอจากบริษัทผู้นำเข้า/ผู้ค้าปลีกของยุโรปให้ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติดังกล่าว ซึ่ง BSCI ได้ให้แนวทางดำเนินการตามขั้นตอนเบื้องต้น ดังนี้ - ร้องขอแนวทางปฏิบัติ (BSCI Code of Conduct) จากบริษัทผู้นำเข้า/ผู้ค้าปลีกดังกล่าว - ลงนามในประกาศพันธกรรมในเรื่องการปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติของ BSCI และ ส่งเอกสารดังกล่าวให้บริษัทฯ ที่ร้องขอเพื่อบันทึกข้อมูลลงในระบบฐานข้อมูล (database) ของ BSCI - ประเมินตนเอง (Self-Assessment questionnaire) โดยตอบคำถามตามแบบประเมินในระบบฐานข้อมูลของ BSCI เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการตรวจสอบติดตามการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสังคมในกระบวนการผลิตสำหรับหน่วยงานผู้ตรวจสอบ (Audits) - ร่วมกับบริษัทผู้นำเข้า/ผู้ค้าปลีกฯ คัดเลือกหน่วยงานตรวจรับรองที่ผ่านการรับรองของ BSCI ตามรายชื่อในเว็บไซต์www.bsci-eu.org/index.php?id=2061 - รับการตรวจประเมินและแก้ไขข้อบกพร่องตามรายงานของหน่วยตรวจรับรอง (Audut report) เพื่อผ่านการตรวจประเมิน ดังนั้น ผู้ประกอบการส่งออกของไทยควรทำความเข้าใจเงื่อนไข/หลักเกณฑ์ต่างๆ ตามแนวทางปฏิบัติดังกล่าว เพื่อป้องกันการสูญเสียตลาดให้กับคู่แข่งขันทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากผู้นำเข้า/ผู้ค้าปลีกของยุโรปอาจระงับ/ยกเลิกสัญญาการสั่งซื้อที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะมีขึ้นในอนาคต โดยสามารถ ดูรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนด/แนวทางปฏิบัติด้านสังคมและแรงงานเพิ่มเติมได้ที่ http://www.bsci-eu.org

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ