กองทัพเรือจัดพิธีตรึงหมุดธงและพระราชทานธงชัยเฉลิมพลของกองทัพเรือ

ข่าวทั่วไป Wednesday November 8, 2006 08:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
วันนี้ (๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๙) เวลา ๑๕.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธีตรึงหมุดธงและพระราชทานธงชัยเฉลิมพลให้แก่หน่วยทหารในสังกัดกระทรวงกลาโหม จำนวน ๙๑ หน่วย ในจำนวนนี้มีส่วนของของกองทัพเรือ จำนวน ๒๒ ธง ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และ ณ บริเวณสนามหน้าศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร โดย พลเรือเอก สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วยคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองพระบาท
ธงชัยเฉลิมพล เป็นธงประจำหน่วยทหารที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ธงชัยเฉลิมพลถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดที่ทหารทุกคนจะต้องเคารพ สักการะ และพิทักษ์รักษาไว้ด้วยชีวิต การปฏิบัติเกี่ยวข้องกับธงชัยเฉลิมพลทุกขั้นตอน ต้องเป็นไปตามพิธีการระเบียบแบบแผนที่วางไว้อย่างเข้มงวดกวดขัน และโอกาสที่จะเชิญออกประจำจะต้องเป็นพิธีการที่มีความสำคัญเกี่ยวกับเกียรติยศและเชิดหน้าชูตาเท่านั้น เช่น พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนและไปราชการสงคราม เป็นต้น ธงชัยเฉลิมพลแต่เดิมจำแนกได้เป็นสองชนิด ดังนี้
ชนิดแรกคือ ธงชัยเฉลิมพลประจำกองทัพ อันได้แก่ ธงจุฑาธุซธิปไตย และธงมหาไพชยนต์ธวัช และธงชัยเฉลิมพลชนิดที่สองคือ ธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหาร ธงจุฑาธุซธิปไตย นับเป็นธงชัยเฉลิมพล ประจำกองทัพ ธงแรกของไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้สร้างขึ้นพระราชทานแก่กองทัพไทย
เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๘ ธงมหาไพชยนต์ธวัชนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นในพุทธศักราช ๒๔๕๕ เพื่อพระราชทานให้เป็น ธงชัยเฉลิมพล ประจำกองทัพบกอีกธงหนึ่งคู่กับธงจุฑาธุซธิปไตย สำหรับธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหารนั้นองค์พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้น พระราชทานเป็นคราว ๆ ละหลายธง และในคราวหนึ่ง ธงจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันจะผิดแผกกันแต่ส่วนที่เป็นนามหน่วยเท่านั้น
"ธงชัยเฉลิมพล" ได้เข้าพิธีสำคัญทางศาสนา ในพระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพลโดยองค์พระมหากษัตริย์ทรงประกอบพิธีนี้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามภายในพระบรมมหาราชวังท่ามกลางพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่พระมหากษัตริย์ทรงตรึงผ้าธง แต่ละผืนติดกับด้ามธง โดยทรงตอกฆ้อนเงินลงบนตะปูทองเหลืองตัวโต ๆ ธงหนึ่งประมาณ ๓๒ - ๓๕ ตัว อย่างแน่น และที่ส่วนบนของด้ามธงจะมีลักษณะเป็นปุ่มโลหะกลึงกลมสีทองภายใน กลวงปุ่มกลมนั้นทำเป็นฝาเกลียวปิด-เปิดได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงบรรจุเส้นพระเจ้า พร้อมด้วยพระพุทธรูปที่ได้เข้าพิธีพุทธาภิเษกแล้วชื่อพระยอดธง ลงในปุ่มกลมแล้วทรงปิดฝาเกลียว ผนึกแน่น เสร็จแล้ว ทรงเจิมแป้งกระแจะจันทร์ที่ยอดธงทุกด้าม พระสงฆ์สวด ชัยมงคลคาถาตั้งแต่เริ่มพิธี จนเสร็จพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีตรึงหมุดธง ธงชัยเฉลิมพล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่หน่วยทหารที่จัดตั้งขึ้นใหม่ และขอพระราชทานแทนคันเก่าที่ชำรุด ความหมายสำคัญของธงชัยเฉลิมพลปรากฏสามประการคือ ธงหมายถึงชาติ บนยอดธงบรรจุพระพุทธรูปหมายถึง พระพุทธศาสนาและเส้นพระเจ้าของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงกระทำพิธี พระราชทานธงชัยเฉลิมพลให้กับหน่วยทหารต่าง ๆ ทุกกรมกองทหาร ทุกคนระลึกอยู่เสมอว่าธงชัยเฉลิมพลจะปลิวสะบัดเป็นมิ่งขวัญอย่างสง่างามตลอดไป ตราบเท่าประเทศไทยของเราดำรงความเป็นเอกราช เป็นหน้าที่ที่ทหารจะต้องระวังรักษาธงนั้นไว้ด้วยความเคารพและความรักเป็นอย่างยิ่ง เพราะธงชัยเฉลิมพลย่อมเป็นเกียรติยศของทหารหน่วยนั้น เมื่อเวลาเข้าสู่สงครามทหารทั้งปวงจำเป็นจะต้องพิทักษ์รักษาธงชัยเฉลิมพลสำหรับหน่วยทหารของตัวไว้ยิ่งกว่าชีวิต ธงชัยเฉลิมพลจึงเป็นเครื่องชักนำความองอาจแห่งหมู่ทหารทั้งปวง ต่อข้าศึก เป็นเครื่องชักนำให้มีชัยชนะด้วยความกล้าหาญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ พระราชทานธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหารที่ใช้ในสงครามต่าง ๆ และหน่วยทหารที่ได้รับพระราชทานนั้นนำไปเป็นมิ่งขวัญแก่เหล่าทหารในสมรภูมินั้นๆ ด้วย
(ที่มา : www.rta.mi.th/22254u/Next1.html - 28k -)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ