ตลาดหลักทรัพย์ฯ รุกเสริมสภาพคล่อง ด้วย Algorithmic Trading

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 21, 2009 13:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--ตลท. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สนับสนุนผู้ลงทุนสถาบันส่งคำสั่งซื้อขายแบบ Algorithmic Trading (การส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์) โดยปรับเกณฑ์รองรับ ลดอุปสรรคในการทำธุรกรรม รวมทั้งให้ความรู้แก่บริษัทหลักทรัพย์และผู้ลงทุนสถาบันในประเทศ คาดหลังปรับเกณฑ์และส่งเสริมอย่างจริงจัง จะช่วยเสริมสภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์ฯ มากขึ้น นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการ สายงานการตลาดและงานบริการหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปิดให้มีการส่งคำสั่งซื้อขายแบบ Algorithmic Trading และมีนโยบายสนับสนุน ลดอุปสรรค เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์และผู้ลงทุนสถาบันใช้ Algorithmic Trading มากขึ้น เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการซื้อขายของผู้ลงทุนทุกกลุ่ม อันถือเป็นแผนงานสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องการเพิ่มสภาพคล่องให้มากขึ้น โดยจากสถิติในปี 2551 มีมูลค่าการซื้อขายผ่านการใช้โปรแกรม Algorithmic Trading ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ร้อยละ 15 ตลาดหลักทรัพย์เกาหลี ร้อยละ 13.5 และตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ร้อยละ 9.3 สำหรับประเทศไทยยังอยู่ในวงจำกัด มีเพียงร้อยละ 0.7 ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด Algorithmic Trading เป็นการซื้อขายผ่านชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ซึ่งช่วยตัดสินใจซื้อขาย โดยการกำหนดค่าต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น เวลา ราคา และปริมาณการซื้อขาย เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่มีกลยุทธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ให้นักลงทุนส่งคำสั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงทำให้ช่วยเพิ่มความสะดวกในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนและต้นทุนการซื้อขาย จึงเป็นวิธีที่ใช้กันมากในกลุ่มผู้จัดการกองทุนในประเทศแถบอเมริกา ยุโรป และเอเชียบางประเทศ “ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อมั่นว่า Algorithmic Trading จะได้รับความสนใจจากบริษัทหลักทรัพย์และผู้ลงทุนสถาบันไทยมากยิ่งขึ้น โดยจะสนับสนุนการส่งคำสั่งแบบ Algorithmic Trading อย่างจริงจัง และการปรับปรุงเกณฑ์เพื่อรองรับกลยุทธ์ในการลงทุนให้หลากหลาย ลดความยุ่งยากซับซ้อนในการขอส่งคำสั่งด้วยวิธี Algorithmic Trading รวมทั้งสนับสนุนการใช้ Algorithmic Trading ในประเทศไทยผ่านช่องทาง Direct Market Access (DMA) (ซึ่งเป็นวิธีการส่งคำสั่งซื้อขายจากระบบของผู้ลงทุนผ่านระบบของสมาชิก โดยไม่มีการแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่) รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจแก่บริษัทหลักทรัพย์และผู้ลงทุนในประเทศ จะทำให้ Algorithmic trading เป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดสภาพคล่องกับตลาดหลักทรัพย์ฯ มากยิ่งขึ้น อีกทั้งกลยุทธ์ด้านการลงทุนต่างๆ จะสามารถตอบสนองการลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์และผู้ลงทุนสถาบันได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยโดยรวม” นางสาวโสภาวดีกล่าว ตลาดหลักทรัพย์ฯพยายามสนับสนุนธุรกรรมดังกล่าว โดยได้เปิดให้บริษัทหลักทรัพย์ที่สนใจการซื้อขายประเภทนี้ สามารถแจ้งมายังตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยได้ผ่อนปรนข้อจำกัดในเรื่องประเภทการส่งคำสั่ง เพื่อให้ผู้ลงทุนสถาบันเกิดความสะดวกและมีต้นทุนการซื้อขายต่ำลง และการจัดสัมมนา “Algorithmic Trading: The Rising Star” ครั้งนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจในการซื้อขายแบบ Algorithmic Trading โดยตลาดหลักทรัพย์ฯได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก Thomson Reuter และ FlexTrade ซึ่งมีประสบการณ์ในการให้บริการระบบซื้อขายแบบ Algorithmic Trading ในต่างประเทศ และเป็นโอกาสอันดีที่จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ลงทุนสถาบันและบริษัทหลักทรัพย์ พัฒนาการของการซื้อขายแบบ Algorithmic Trading เริ่มตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ อนุญาตเพียงการส่งคำสั่งแบบพื้นฐาน และเปิดกว้างรับคำสั่งหลากประเภทมากขึ้นเป็นลำดับ โดยปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ให้บริษัทสมาชิกสามารถส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ (Strategy) ประเภทต่างๆได้มากยิ่งขึ้น จากกลยุทธ์ที่ได้ให้เป็นการทั่วไปไว้แล้ว ได้แก่ VWAP(Volume Weighted Average Price), TWAP(Time Weighted Average Price), Volume Inline, Price Inline, TEX, Iceberg, Float, Close และ MOC ทั้งนี้ หากบริษัทหลักทรัพย์หรือผู้ลงทุนสถาบันที่สนใจการซื้อขายแบบ Algorithmic Trading สามารถยื่นเรื่องมายังตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือหากต้องการใช้ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ฝ่ายพัฒนาตลาด เบอร์โทรศัพท์ 02-229-2786-90 หรือ SETAccess@set.or.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. S-E-T Call Center 0-2229-2222 สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 / กนกวรรณ เข็มมาลัย โทร. 0-2229 — 2048 / วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ